ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตรวจสอบพบ "มิจฉาชีพ" ปลอมเพจอ้างขอคืนเงินกับ "Thai PBS"


Verify

11 ธ.ค. 67

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

ตรวจสอบพบ "มิจฉาชีพ" ปลอมเพจอ้างขอคืนเงินกับ "Thai PBS"

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2017

ตรวจสอบพบ "มิจฉาชีพ" ปลอมเพจอ้างขอคืนเงินกับ "Thai PBS"
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

Thai PBS Verify พบโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก แอบอ้างชื่อ "Thai PBS" และแอบใช้ภาพโลโก้องค์กรโดยไม่ได้รับอนุญาต ปลอมเพจหวังแอบอ้างเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ ติดต่อสอบถามขอรับเงินคืนได้ทางช่องทางแชท ขณะที่เพจจริงมีเพียงชื่อเดียว และไม่มีการติดต่อขอคืนเงินผ่านช่องทาง หรือแอปพลิเคชันใด ๆ ทั้งสิ้น 

แหล่งที่มา : Facebook

กระบวนการตรวจสอบ

Thai PBS Verify พบโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กระบุชื่อเพจ  “Thai PBS Electronic Crime Prevention Center” โพสต์ภาพกราฟิก ระบุข้อความ "เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นทุกวันแฝงไปด้วยภัยอันตรายรอบตัว ใช้ชีวิตต้องมี "สติ" อย่าประมาท อย่าหลงเชื่อ อย่าหลงกล" แอบอ้างว่าเป็นเพจรับแจ้งขอเงินคืน ซึ่งนอกเหนือจากการแอบอ้างชื่อ ยังพบว่ามีการใช้ภาพปก และโลโก้ของสถานีโทรทัศน์ Thai PBS โดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย

เมื่อตรวจสอบภาพในเพจพบว่า ภายในเพจไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ มียอดผู้ติดตามจำนวน 2,000 คน และยอดกดถูกใจ 1,100 คน โดยเพจดังกล่าวแนะนำตัวว่าเป็นเพจ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร , หน่วยงานด้านการประชาสัมพันธ์ สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2022

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพหน้าเพจปลอม

นอกจากนี้พบว่า เพจดังกล่าวมีการลงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กจำนวน 8 ครั้ง โดยเริ่มลงโฆษณาตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค.2567 ที่ผ่านมา

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงการลงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กของเพจปลอม

ขณะที่ภาพโปรไฟล์ของเพจ รวมถึงภาพหน้าปกของเพจดังกล่าว พบว่ามีการนำภาพโลโก้ของสถานีโทรทัศน์ Thai PBS มาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพหน้าปกเฟซบุ๊กเพจปลอม
ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพโปรไฟล์เฟซบุ๊กเพจปลอม

ปัจจุบัน "Thai PBS" มีเพจเฟซบุ๊กหลักเพียงเพจเดียว ซึ่งใช้ชื่อว่า Thai PBS โดยสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ ได้จากเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า หรือ Meta Verified ยืนยัน

ภาพเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่าง Thai PBS ของจริง (ซ้าย) และภาพจากเพจปลอม (ขวา)

นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตได้ว่า ช่องความโปร่งใสของเพจจริงนั้นสร้างขึ้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 2009 ในขณะที่เพจปลอมพบว่าถูกสร้างขี้นเมื่อ 23 สิงหาคม ค.ศ. 2022 เพียงเท่านั้น
ภาพเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างเพจ Thai PBS ของจริง (ซ้าย) และภาพจากเพจปลอม (ขวา)

ขณะที่การโฆษณาของเพจพบว่า เพจจริงของ Thai PBS จะไม่มีการลงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กแต่อย่างใด ซึ่งต่างจากเพจปลอม ทีมีการซื้อโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กเพื่อหลอกลวงเหยื่อ
ภาพเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างเพจ Thai PBS ของจริง (ซ้าย) และภาพจากเพจปลอม (ขวา)

ผลกระทบของข้อมูลเท็จนี้เป็นอย่างไร ?

โฆษณาดังกล่าว มีการพยายามสร้างให้เหมือนกับเพจจริง หรือทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจผิด ว่าเป็นเพจสำหรับรับแจ้งความ หรือติดต่อขอรับเงินคืนของสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ซึ่งถือว่าสร้างความเข้าใจผิดให้กับสังคม และอาจทำให้ประชาชนหลงเชื่อให้ข้อมูลส่วนตัว หรือถูกหลอกให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินได้

ข้อแนะนำเมื่อได้ข้อมูลเท็จนี้ ?

ทั้งนี้หากสงสัยว่าเพจที่ท่านติดต่อเป็นเพจจริงหรือไม่ สามารถสังเกตได้ดังนี้

✅ สังเกตชื่อและเครื่องหมาย เพจแท้ชื่อ "Thai PBS" มีเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า หรือ Meta Verified ยืนยัน

เพจแท้ชื่อ "Thai PBS" มีเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า หรือ Meta Verified ยืนยัน
✅ สังเกตยอดผู้ติดตาม เพจแท้มีผู้ติดตามกว่า 8.6 ล้านคน (ระวังมิจฉาชีพพิมพ์ยอดผู้ติดตามของปลอมไว้ที่รายละเอียดของเพจ)
✅ สังเกต URL เพจของแท้ URL หลังเว็บไซต์เฟซบุ๊กต้องเป็น /ThaiPBS
✅ สังเกตความโปร่งใสของเพจ เพจแท้ถูกสร้างเมื่อ 26 พฤศจิกายน ค.ศ.2009

ความโปร่งใสของเพจ เพจแท้ถูกสร้างเมื่อ 26 พฤศจิกายน ค.ศ.2009

Thai PBS ไม่มีการรับแจ้งความผ่านเฟซบุ๊ก , ไม่มีการรับแจ้งความผ่านแชทไลน์ และไม่มีการรับแจ้งความผ่าน direct message (DM) ของแอปพลิเคชันใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นหากเจอเพจลักษณะนี้เมื่อไหร่ให้ท่องไว้ ว่ามันคือ "มิจฉาชีพ"

ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารได้ที่เพจทางการของ Thai PBS ทาง https://www.facebook.com/ThaiPBS เพียงเท่านั้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวปลอมเพจปลอมหลอกกดลิงก์หลอกคลิกหลอกลงทะเบียนหลอกลวงโฆษณาหลอกลวงขอเงินคืน
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด