ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คู่มือฉบับย่อ "ตรวจสอบข่าวปลอมเบื้องต้น" ด้วยตนเอง


Verify

9 ธ.ค. 67

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

คู่มือฉบับย่อ "ตรวจสอบข่าวปลอมเบื้องต้น" ด้วยตนเอง

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2010

คู่มือฉบับย่อ "ตรวจสอบข่าวปลอมเบื้องต้น" ด้วยตนเอง
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้าถึงทุกคนได้เพียงแค่ปลายนิ้ว แต่ในขณะเดียวกัน ข่าวปลอม หรือ ข่าวเท็จ ก็เป็นสิ่งที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วไม่แพ้กัน ซึ่งหากไม่มีการตรวจสอบอย่างรอบคอบ การเชื่อหรือแชร์ข้อมูลที่ผิดพลาดออกไป อาจส่งผลเสียต่อทั้งตัวบุคคลและสังคมโดยรวม

การตรวจสอบข่าวปลอมด้วยตัวเองในเบื้องต้นจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ในการเสริมสร้างสังคมที่มีความรับผิดชอบในการรับข้อมูล และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งการจะตรวจสอบข่าวปลอมเบื้องต้นด้วยตนเองทำได้ดังนี้

วิธีตรวจสอบข่าวปลอมมีวิธีง่าย ๆ ในการตรวจสอบข่าวที่ได้รับดังนี้

ตรวจสอบแหล่งที่มา : ข่าวที่มาจากแหล่งที่มีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือ มักจะมีความถูกต้องมากกว่าข่าวจากแหล่งที่ไม่รู้จัก

ค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง : ลองค้นหาข่าวเดียวกันจากหลาย ๆ แหล่งข่าว  เพื่อดูว่าข่าวนั้นมีการรายงานอย่างไร และตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่

ใช้เครื่องมือตรวจสอบข้อเท็จจริง : ปัจจุบันมีเครื่องมือออนไลน์หลายตัวที่ช่วยตรวจสอบข่าวปลอม เช่น การตรวจสอบรูปภาพด้วย Google Lens หรือตรวจสอบจากเว็บไซต์ที่ตรวจสอบข่าวปลอม (Fact-checking websites) เช่น Thai PBS Verify , factcheck.afp และ FactCheck.org

ภาพตัวอย่างเครื่องมือตรวจสอบรูปภาพด้วย Google Lens

ระวังการใช้ถ้อยคำที่ชักชวนอารมณ์ : ข่าวปลอมมักจะใช้คำที่สร้างความตื่นเต้นหรือหวาดกลัว เช่น "ด่วน" , "อันตราย", "อุบัติเหตุใหญ่", "ฉุกเฉิน" ซึ่งอาจทำให้ผู้คนสนใจเป็นพิเศษ เพื่อเรียกยอดไลก์ หรือยอดผู้ชมที่คลิกเข้าไปภายใน

ตรวจสอบภาพและวิดีโอ : ใช้เครื่องมือค้นหาภาพย้อนกลับเพื่อตรวจสอบที่มา ว่ามีการตัดต่อหรือแก้ไขภาพหรือไม่ เช่น Google , TinEye , Yandex และ Bing

ตัวอย่างข่าวปลอมและวิธีการตรวจสอบ

เมื่อเราพบเพจ หรือ โพสต์ที่สงสัยว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ง่าย ๆ ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 : ตรวจสอบภาพผ่านเครื่องมือค้นหา (ทดสอบด้วยเครื่องมือ Google)

เรายกตัวอย่างเมื่อเราพบเพจที่หน้าตาสวยงามและดูน่าเชื่อถือเพราะมียอดถูกใจถึง 4,600 คน รวมถึงมียอดผู้ติดตามถึง 4,900 คน ซึ่งเป็นเพจที่ระบุว่ารับคนทำงานเสริมที่บ้าน แต่หากเราอยากรู้ว่า ภาพที่ลงในเพจนั้นเป็นภาพที่มาจากเพจจริงหรือไม่ สามารถตรวจสอบง่าย ๆ ได้ดังนี้ 

ภาพตัวอย่างเพจที่สงสัยว่าเป็นเพจจริงหรือไม่

เลือกรูปที่จะทำการตรวจสอบ คลิกขวาที่รูปภาพ แล้วเลือกเครื่องมือตรวจสอบภาพด้วย Google Lens

กดเลือกภาพที่ต้องการตรวจสอบ และคลิกขวาเลือกเครื่องมือค้นหาด้วย Google Lens

ขั้นตอนที่ 2 : ตรวจสอบผลลัพธ์

ผลลัพธ์จะแสดงให้เห็นว่าภาพที่ต้องการตรวจสอบนั้น ซ้ำกับภาพของเว็บไซต์อื่น ๆ หรือไม่

เราพบว่า ผลการค้นหาไปตรงกับภาพจากเพจอื่น และเมื่อตรวจสอบไปยังภาพที่พบ ก็พบว่าเป็นเพจของโรงงานรับผลิตกาแฟ และอาหารเสริม ซึ่งได้ลงภาพดังกล่าวไว้ตั้งแต่เดือน ต.ค. ซึ่งถือว่าโพสต์ไว้ก่อนเพจที่ได้ทำการตรวจสอบ และเพจต้นทางของภาพ ก็ไม่เกี่ยวข้องกับงานฝีมือที่ได้มีการโฆษณาไว้แต่อย่างใด

ด้วยการตรวจสอบง่าย ๆ เพียงเท่านี้ เราก็จะทราบว่าภาพที่ถูกแชร์ หรือส่งต่อมานั้น เป็นภาพของจริง หรือเป็นภาพที่ถูกแอบอ้าง เพื่อที่จะไม่หลงเชื่อ แชร์ หรือ กดไลก์ ข้อมูลผิด ๆ เหล่านี้ต่อไป

สำหรับการตรวจสอบข่าวปลอมนั้น ถือว่าทุกคนมีบทบาทในการป้องกันการแพร่กระจายของข่าวปลอมได้ง่าย ๆ เพียงแค่เริ่มต้นด้วยการไม่แชร์ข่าวที่ไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่ ก็สามารถช่วยหยุดยั้งการแพร่กระจายของข้อมูลที่ผิดพลาดได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวปลอมตรวจสอบภาพเครื่องมือตรวจสอบภาพข่าวจริงหลอกลวงหลอกลวงออนไลน์หลอกลวงด้วย AI
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด