ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผลงานคนไทย ! แพลตฟอร์ม “มิตรเอิร์ธ” แจ้งจุดเสี่ยง - เตือนภัยพิบัติ


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

28 พ.ย. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

ผลงานคนไทย ! แพลตฟอร์ม “มิตรเอิร์ธ” แจ้งจุดเสี่ยง - เตือนภัยพิบัติ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1963

ผลงานคนไทย ! แพลตฟอร์ม “มิตรเอิร์ธ” แจ้งจุดเสี่ยง - เตือนภัยพิบัติ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เข้ากับสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ในขณะนี้ พาไปรู้จักแพลตฟอร์มความรู้ออนไลน์ “มิตรเอิร์ธ” (MitrEarth) ผลงานคนไทย ให้ความรู้ด้านธรณีวิทยา แบบเข้าใจง่าย พร้อมนวัตกรรมแผนที่ชุดข้อมูลภูมิประเทศแต่ละจังหวัด ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนและอัปเดตสถานการณ์ภัยพิบัติ เพื่อให้คนในพื้นที่เฝ้าระวังและเตรียมรับมืออย่างทันท่วงที

น้ำที่ท่วมจำนวนมหาศาลจะไหลไปทางไหน แล้วจะท่วมบ้านของเราไหม ? หรือฝนจะตกเพิ่มหรือเปล่า ? แพลตฟอร์มออนไลน์ “มิตรเอิร์ธ” (MitrEarth) สามารถให้คำตอบได้ โดย ศาสตราจารย์ ดร.สันติ ภัยหลบลี้ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สร้างแพลตฟอร์มนี้ กล่าวว่า ภัยพิบัติเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ทั้งภัยพิบัติใหญ่ที่นาน ๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง หรือภัยพิบัติที่เล็กกว่าแต่เกิดขึ้นบ่อย ๆ แต่ทุกภัยพิบัติทำให้เสียหายเหมือนกัน เราควรเตรียมความพร้อมรับกับภัยทุกภัย การที่คนในสังคมมีความรู้ด้านธรณีวิทยาและภัยธรรมชาติจะมีส่วนช่วยในยามเกิดเหตุ การสื่อสารและเตือนภัยจะทำได้ดีขึ้น และลดความเสียหายและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

YALA Flood Plain ภาพจาก Mitrearth

มิตรเอิร์ธ : “ธรณีวิทยา” เรื่องต้องรู้คู่มือรับภัยพิบัติ

ภูมิอากาศแปรปรวนและภาวะโลกร้อนทำให้ผู้คนในสังคมหันมาสนใจและติดตามข่าวสารสภาพอากาศมากขึ้น - พายุลูกใหม่จะเข้ามาเมื่อไร ความรุนแรงระดับใด น้ำทะเลหนุนวันใด และอื่น ๆ แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าความรู้ด้านภูมิอากาศคือความรู้ด้าน “ธรณีวิทยา”

โดยส่วนหนึ่งที่ภัยพิบัติทุกวันนี้สร้างความเสียหายมากขึ้นเพราะจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและภาวะทางเศรษฐกิจที่ผลักให้ชุมชนเมืองขยายตัวและเขยิบเข้าไปใกล้พื้นที่อ่อนไหวมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น พื้นที่รอยเลื่อน หรือทางน้ำไหลผ่าน เราจึงควรมีความรู้ด้านธรณีวิทยา เช่น พื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับความสูง ทางไหลของน้ำ เพื่อจะได้รู้ว่าเรามีภัยพิบัติอะไรใกล้ตัวบ้าง เช่น หากเราอยู่แถวท่าน้ำนนทบุรีก็ควรรู้ว่าบ้านเราอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเท่าไร อยู่ใกล้ตลิ่งหรือไม่ อยู่โค้งไหน โค้งในหรือโค้งนอก เป็นต้น

เมื่อเอ่ยถึงภัยพิบัติทางธรณีวิทยา ผู้คนมักนึกถึงแผ่นดินไหวและแผ่นดินไหวใต้ทะเลที่ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ แต่อันที่จริง มีภัยพิบัติที่ใกล้ตัวกว่านั้น เกิดได้บ่อยและสร้างความเสียหายได้มาก

NARATHIWAT Flood Plain ภาพจาก Mitrearth

หากไม่นับคลื่นสึนามิ ดินโคลนไหลหลากเป็นภัยพิบัติที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตจำนวนมาก อย่างเหตุโศกนาฏกรรมดินโคลนไหลถล่มบ้านเรือนประชาชนในตำบลน้ำก้อ และตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ในปี 2544 มีผู้เสียชีวิตถึง 136 คน ภายในคืนเดียว

หากบ้านเราอยู่ใกล้ภูเขาและมีธารน้ำที่ไหลออกมาจากภูเขา แล้วไหลผ่านหมู่บ้านเรา แสดงว่าหมู่บ้านของเราเสี่ยงมาก ๆ ต่อดินโคลนไหลหลาก ดังนั้น เมื่อไรที่มีฝนตกบนภูเขาที่อยู่ใกล้เรา และหากลำธารที่ไหลออกจากภูเขาใกล้บ้านเราหรือที่เราอยู่เริ่มมีสีชากาแฟ ต้องอพยพออกจากพื้นที่โดยด่วน

ดังนั้น อาจารย์สันติ จึงมองว่า ภาครัฐควรมีสื่อหรือแหล่งข้อมูลให้คนได้รับรู้ เรียนรู้ และค้นคว้าเกี่ยวกับภัยพิบัติด้วยตัวเอง หากให้เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดก็ควรจะเพิ่ม “วิชาภัยพิบัติธรรมชาติ” หรือ “ภัยพิบัติท้องถิ่น” ในหลักสูตรการเรียนสำหรับนักเรียนชั้นประถมหรือมัธยม อย่างนี้ก็จะทำให้ทุกคนในสังคมได้ผ่านหูผ่านตาเรื่องเกี่ยวกับภัยธรรมชาติและการรับมือบ้าง

นี่เองเป็นแรงผลักดันให้อาจารย์สันติสร้างแพลตฟอร์ม มิตรเอิร์ธ - Mitrearth ที่เป็นเสมือนห้องเรียนออนไลน์วิชาวิทยาศาสตร์โลกและภัยพิบัติธรรมชาติให้กับประชาชนทั่วไป นับตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน

BANGKOK Flood Plain ภาพจาก Mitrearth

“แผนที่” ฉบับ “มิตรเอิร์ธ” กับการแจ้งเตือนภัยพิบัติ

ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จาก “แผนที่ GIS” นวัตกรรมชุดข้อมูลภูมิประเทศ ซึ่งเป็นแผนที่ชุดข้อมูลภูมิประเทศเป็นข้อมูลจริงทางธรณีวิทยา สามารถบอกพิกัดความสูง-ต่ำของพื้นที่ ให้คนในพื้นที่ได้รู้ว่าพื้นที่ที่เขาอยู่อาศัยเป็นพื้นที่สูงหรือต่ำ หรือเป็นพื้นที่อ่อนไหว ที่อาจจะเกิดภัยพิบัติ

โดยแผนที่นี้เกิดจากการนำเข้าข้อมูลภูมิประเทศเชิงพิกัดจากดาวเทียมที่มีเผยแพร่ทั่วโลก และใช้เครื่องมือ GIS (geographic information system) วิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ออกมาเป็นชุดข้อมูลภูมิประเทศของประเทศไทยครบทั้ง 77 จังหวัดอย่างละเอียด ซึ่งคนในแต่ละจังหวัดสามารถดาวน์โหลดข้อมูลของพื้นที่ตนเองมาเรียนรู้ ทำความเข้าใจได้อย่างรอบด้าน ทั้งด้านพื้นที่ แหล่งน้ำ

ภัยพิบัติเกิดขึ้นได้เสมอและแนวโน้มดูจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ถึงเวลาที่เราทุกคนควรมีความรู้ความเข้าใจด้านธรณีวิทยา รู้จักภูมิศาสตร์ท้องถิ่น แหล่งน้ำ ระดับความสูงต่ำของพื้นที่ ฯลฯ ความรู้เหล่านี้เป็นหนทางให้เรารับมือภัยพิบัติล่วงหน้า


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภัยพิบัติภัยพิบัติทางธรรมชาติ เตือนภัยพิบัติมิตรเอิร์ธMitrEarthแพลตฟอร์มความรู้ออนไลน์ธรณีวิทยาเทคโนโลยีTechnologyนวัตกรรมInnovationThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Innovation Tech WorldInnovation Tech Thai
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphob.thawisoonsong@gmail.com หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด