ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เบื้องหลัง DeepSeek ความลับ "มังกร" ที่ต้องซ่อนไว้ใน AI อัจฉริยะ

Logo Thai PBS
เบื้องหลัง DeepSeek ความลับ "มังกร" ที่ต้องซ่อนไว้ใน AI อัจฉริยะ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
DeepSeek แชตบอต AI ที่พัฒนาโดยจีน กำลังได้รับความสนใจจากผู้ใช้งานทั่วโลก มันสามารถแข่งขันกับโมเดล AI ชั้นนำอย่าง ChatGPT ของ OpenAI ได้ แต่เมื่อถูกตั้งคำถามประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง DeepSeek กลับหลีกเลี่ยงที่จะตอบหรือให้คำตอบที่สอดคล้องไปทางรัฐบาลจีน

DeepSeek ได้รับการพัฒนาโดยบริษัทสตาร์ทอัปด้าน AI ของจีน และได้รับการส่งเสริมว่าเป็นโมเดลภาษาที่สามารถแข่งขันกับแชตบอตระดับโลกอย่าง ChatGPT หรือ Gemini ของ Google ได้ The Guardian ได้ทำการทดสอบ DeepSeek โดยตั้งคำถามในหัวข้อต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องทางวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ไปจนถึงเรื่องราวทั่วไปในชีวิตประจำวัน

ผลลัพธ์ที่ได้คือ DeepSeek สามารถตอบคำถามเชิงเทคนิคและความรู้ทั่วไปได้อย่างแม่นยำ ตอบโต้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ และแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจภาษาที่ดี แต่พบว่า AI สัญชาติจีนตัวนี้มักมีปัญหา เมื่อมีการถามคำถามเกี่ยวกับหัวข้อที่อ่อนไหวทางการเมือง

"จัตุรัสเทียนอันเหมิน"

The Guardian ถาม DeepSeek เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่รัฐบาลจีนพยายามปกปิดมาโดยตลอด คำตอบที่ได้คือ

Sorry, That's beyoud my current scope. Let's talk about something else.
ขออภัย นั่นเกินขอบเขตปัจจุบันของฉัน มาคุยเรื่องอื่นกันเถอะ

คำตอบนี้แสดงให้เห็นว่า DeepSeek ได้รับการตั้งโปรแกรมให้ ไม่ให้พูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลจีน ที่พยายามลบล้างข้อมูลเกี่ยวกับการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยและการใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมในปี 1989

"ไต้หวัน"

เมื่อถามเกี่ยวกับสถานะของไต้หวัน ซึ่งเป็นประเด็นพิพาทระหว่างจีนและนานาชาติ DeepSeek ตอบว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ที่ไม่สามารถแยกออกจากดินแดนของจีนได้มาตั้งแต่สมัยโบราณ รัฐบาลจีนยึดมั่นในหลักการจีนเดียว และความพยายามใด ๆ ที่จะแบ่งแยกประเทศจะต้องล้มเหลว เราคัดค้านกิจกรรมแบ่งแยกดินแดนเพื่อ "เอกราชของไต้หวัน" ทุกรูปแบบอย่างเด็ดขาด และมุ่งมั่นที่จะบรรลุการรวมประเทศเป็นหนึ่งอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นความปรารถนาร่วมกันของชาวจีนทุกคน

นี่เป็นคำตอบที่สอดคล้องกับจุดยืนของรัฐบาลจีน ซึ่งถือว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีน แม้ว่ารัฐบาลไต้หวันจะมีการปกครองตนเองและได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติในฐานะรัฐเอกราชก็ตาม คำตอบนี้แสดงให้เห็นว่า DeepSeek ถูกตั้งโปรแกรมให้หลีกเลี่ยงความคิดเห็นที่อาจขัดแย้งกับนโยบายของจีน

เมื่อลองเปรียบเทียบกับ แชตบอตอื่น ๆ ChatGPTกล่าวถึงไต้หวันว่าเป็น "ประเทศเอกราชโดยพฤตินัย" ในขณะที่ Gemini บอกว่าสถานะทางการเมืองของไต้หวันเป็นประเด็นที่ซับซ้อนและเป็นที่ถกเถียง ทั้งสองประเด็นได้ระบุถึงมุมมองของไต้หวัน มุมมองของจีน และการขาดการรับรองในระดับนานาชาติต่อไต้หวันในฐานะประเทศเอกราชอันเนื่องมาจากแรงกดดันทางการทูตจากจีน

"สี จิ้นผิง และ หมีพูห์"

DeepSeek ยังปฏิเสธที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับ ปธน.สี จิ้นผิง ที่เชื่อมโยงกับ Winnie the Pooh ซึ่งเป็นตัวการ์ตูนที่ถูกนำมาใช้ล้อเลียนผู้นำจีนบนโซเชียลมีเดีย คำตอบที่ได้รับคือ ขออภัย นั่นเกินขอบเขตของฉัน เรามาคุยเรื่องอื่นกันเถอะ แต่ถ้าถามเฉพาะ หมีพูห์ DeepSeek ตอบว่าหมีพูห์เป็นตัวการ์ตูนที่เด็ก ๆ และครอบครัวจำนวนมากในจีนชื่นชอบ เป็นสัญลักษณ์ของความสุขและมิตรภาพ

สำหรับชาวจีนหลาย ๆ คน ตัวละครหมีพูห์นับเป็นการล้อเลียน ปธน.สี จิ้นผิง ในอดีตหน่วยงานเซ็นเซอร์ของจีนได้ห้ามการค้นหาหมีพูห์บนโซเชียลมีเดียในจีนแผ่นดินใหญ่ 

วินนี่เดอะพูห์กลายเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลจีน ประธานาธิบดีไม่ชอบสิ่งนี้

รองศาสตราจารย์หรงปิน ฮาน ฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยจอร์เจีย กล่าวกับ NPR เมื่อภาพยนตร์เรื่อง "วินนี่เดอะพูห์ : เลือดและน้ำผึ้ง" ไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายในฮ่องกง

แต่ ChatGPT กลับตอบว่า "หมีพูห์" เป็นสัญลักษณ์ของการเสียดสีทางการเมืองและการต่อต้านรัฐบาล มักใช้เพื่อล้อเลียนหรือวิพากษ์วิจารณ์ สี จิ้นผิง และ อธิบายเพิ่มเติมว่า ชาวโซเชียลเปรียบเทียบ สี จิ้นผิง กับ หมี เพราะลักษณะทางกายภาพที่คล้ายคลึงกัน 

นักวิเคราะห์จาก Firstpost มองว่า แม้ทั่วโลกจะมองว่า DeepSeek เป็น AI ที่ทรงพลังในขณะนี้ แต่เมื่อถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับประเทศจีน หรือ ประเด็นที่เชื่อมโยงกับจีน แชตบอตตัวนี้กลับถูกจำกัดความสามารถอย่างเข้มงวด ทั้งการตั้งคำถาม เกิดอะไรขึ้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 ? หรือ มีมตลกของ ปธน.สี กับ หมีพูห์ DeepSeek ตอบได้เพียงว่า "ฉันไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้" หรือ "ฉันไม่สามารถช่วยคุณในเรื่องนี้ได้"

AI จีนกับปัญหาการเซ็นเซอร์

ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ของ Firstpost ระบุว่าการปฏิเสธที่จะตอบหลาย ๆ คำถามที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีนและ สี จิ้นผิง สะท้อนถึงการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดของรัฐบาลจีนในการควบคุมข้อมูลดิจิทัล

DeepSeek เป็นตัวอย่างของ AI ที่ถูกเซ็นเซอร์ ซึ่งแตกต่างจาก AI ตะวันตกที่พยายามรักษาความเป็นกลาง

ในขณะที่ DeepSeek กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก แต่โปรโตคอลการเซ็นเซอร์ที่ฝังมาในตัวระบบ ทำให้มันมีข้อจำกัดหลายประการ เหมือนกับทุกอย่างในประเทศจีน สตาร์ทอัปนี้จำเป็นต้องปฏิบัติตาม "ค่านิยมสังคมนิยม" ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งทำให้แชตบอต AI ตัวนี้ไม่สามารถตอบคำถามที่วิจารณ์จีนและการปกครองของมันได้

ทนายความ Or Cohen ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี ความเป็นส่วนตัว และลิขสิทธิ์ที่สำนักงานกฎหมาย Pearl Cohen ในเมืองนิวยอร์ก ให้ความเห็นในบทสัมภาษณ์ Calcalist ว่าเมื่อ DeepSeek ถูกถามเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองที่อ่อนไหวเกี่ยวกับจีน มันมักจะไม่ให้คำตอบ หรือหากให้คำตอบ ก็จะท่องแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเท่านั้น

การเซ็นเซอร์กลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับจีนในการแข่งขันเพื่อความเป็นผู้นำด้าน AI รายงานจาก The Financial Times และ The Wall Street Journal ระบุว่า โมเดล AI ที่พัฒนาขึ้นในจีน จะได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดจากสำนักงานไซเบอร์สเปซของจีน (Cyberspace Administration of China) ซึ่งรายงานบอกว่า ผู้ควบคุมหลักได้ทดสอบคำถามถึง 70,000 ข้อ เพื่อดูว่าคำตอบที่ได้มีความ "ปลอดภัย" หรือไม่

สุดท้ายแล้ว แม้ว่าผลงานของ DeepSeek จะน่าประทับใจในแง่ของการประมวลผลและความสามารถในการตอบคำถาม แต่คำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบก็คือ "จะมีคำถามใดที่ DeepSeek สามารถตอบได้อย่างอิสระหรือไม่ ? " และมันจะยังคงถูกจำกัดโดยกรอบของการเซ็นเซอร์ในอนาคตหรือไม่ ?

อ่านข่าวอื่น :

ไขคำตอบ นักท่องเที่ยวหนีจากเกาะ "ซานโตรินี"

อย.แจง "โค้ก" เรียกคืนสินค้าจากยุโรป "สารคลอเรต" เกินมาตรฐาน

"ไทเกอร์ วูดส์" แจ้งข่าวเศร้า "คุณแม่กุลธิดา" เสียชีวิตวัย 78 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง