ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จักภาวะ “Locked-in syndrome” รู้สึกตัวแต่ไม่สามารถขยับได้


Logo Thai PBS
แชร์

รู้จักภาวะ “Locked-in syndrome” รู้สึกตัวแต่ไม่สามารถขยับได้

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1961

รู้จักภาวะ “Locked-in syndrome” รู้สึกตัวแต่ไม่สามารถขยับได้
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ภาวะ “Locked-in syndrome (LIS)” คือ ภาวะเมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัวและมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน แต่ไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อที่อยู่ภายใต้การควบคุมของจิตใจได้รวมถึงการพูด ในภาวะนี้ผู้ป่วยมักจะยังสามารถกะพริบตาได้และควบคุมการเคลื่อนไหวของตาในแนวดิ่งได้ ทำให้การสื่อสารด้วยตานั้นเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม มีกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถขยับอะไรได้เลยเรียกว่า “Completely Locked-in Syndrome (CLIS)”

แผนภาพแสดงเส้นเลือดบริเวณสมองส่วนกลาง ซึ่งการเกิด Stroke ในบริเวณนี้อาจนำไปสู่ภาวะ LIS

ภาวะ LIS นั้นมีลักษณะคล้ายกับการโคม่า (Coma) แต่แตกต่างกันตรงที่ผู้ป่วยนั้นมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน และไม่สามารถตอบสนองได้ด้วยการเคลื่อนไหว ตอบสนองได้ผ่านเพียงการกะพริบตาหรือการควบคุมการมองขึ้นและมองลงเท่านั้น

ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจจะยังสามารถรับและรู้สึกถึงการจับหรือแตะร่างกายได้ (Proprioception) และในบางกรณี ผู้ป่วยอาจจะยังสามารถควบคุมกล้ามเนื้อบางชุดได้

แผนภาพแสดงสายประสาทในสมองส่วนพอนส์ซึ่งความเสียหายในสมองส่วนนี้อาจนำไปสู่ภาวะ LIS

ภาวะ LIS โดยหลักแล้วเกิดจากการเสียหายของก้านสมอง (Brainstem) ในขณะที่สมองส่วนบนอย่างเปลือกสมอง (Cerebral Cortex) ซึ่งทำหน้าที่ด้านความสามารถในการคิดและมีสตินั้นปกติ แตกต่างกับภาวะเจ้าชายนิทราหรือภาวะสภาพผักเรื้อรัง (Persistent Vegetative State) ที่สมองส่วนบนได้รับการเสียหายในขณะที่สมองส่วนล่างซึ่งทำหน้าที่ควบคุมร่างกายยังปกติดี

LIS ส่วนใหญ่เกิดจากความเสียหายต่อก้านสมองส่วนพอนส์ (Pons) ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งต่อคำสั่งในการควบคุมกล้ามเนื้อไปยังสมองส่วนอื่น ๆ เช่น สมองน้อย (Cerebellum) ความเสียหายดังกล่าวอาจเกิดจากเส้นเลือดในสมองแตก (Stroke) อันเป็นเหตุให้เนื้อเยื่อสมองตาย หรือเกิดจากการกระทบกระเทือนจากภายนอก นอกจากนี้ สารพิษบางชนิดยังอาจสร้างความเสียหายต่อสมองอันนำไปสู่ภาวะ LIS ได้

ภาพ MRI แสดงภาวะเลือดออกในสมองหลังจากเส้นเลือดในสมองแตก

ภาวะ LIS ไม่มีวิธีรักษาที่เป็นมาตรฐานและการรักษามักจะเป็นการรักษาตามอาการและการกายภาพบำบัด เช่น การกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า ซึ่งอาจทำให้การควบคุมกล้ามเนื้อบางส่วนกลับมาได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วย LIS ส่วนใหญ่ไม่สามารถกู้คืนการควบคุมกล้ามเนื้อได้ แต่สามารถมีชีวิตรอดได้เป็นระยะเวลานาน มีเพียงไม่กี่กรณีเท่านั้นที่ผู้ป่วย LIS ฟื้นฟูการควบคุมกล้ามเนื้อได้เกือบสมบูรณ์ผ่านการกายภาพบำบัด

โปรแกรม Dasher สำหรับการพิมพ์โดยไม่ใช้คีย์บอร์ดซึ่งมักใช้ร่วมกับระบบติดตามการเคลื่อนไหวของตาสำหรับผู้ป่วย LIS

ในผู้ป่วย LIS การสื่อสารมักจะทำได้ด้วยการใช้ระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวของตา เนื่องจากสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวแนวดิ่งของตานั้นอยู่ในสมองส่วนกลาง (Midbrain) ซึ่งแยกจากพอนส์ ทำให้การควบคุมตาในแนวดิ่งยังเป็นไปได้ เว้นแต่ความเสียหายต่อสมองลามมาถึงสมองส่วนกลางด้วย

โปรแกรมอย่าง Dasher สำหรับการพิมพ์โดยไม่มีคีย์บอร์ดร่วมกับเทคโนโลยีการตรวจจับตามักจะถูกใช้ในการสื่อสารโดยผู้ป่วย LIS หรือแม้กระทั่งเขียนหนังสือ

ปัจจุบัน ระบบ Brain-Computer Interface (BCI) อยู่ในระหว่างการวิจัยเพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถอ่านและเข้าใจสมองได้เพื่อใช้สมองในการควบคุมคอมพิวเตอร์โดยตรง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีระบบ BCI ใดที่ทำให้ผู้ป่วย LIS สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้อย่างสมบูรณ์

เรียบเรียงโดย โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์และชีววิทยาศาสตร์ City University of Hong Kong


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : journals.sagepub, ncbi.nlm.nih

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Locked-in syndromeLISรู้สึกตัวแต่ขยับไม่ได้Completely Locked-in SyndromeCLISสมองโรคหลอดเลือดสมองStrokeวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์น่ารู้Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด