ในพื้นที่ห่างไกลและภูมิประเทศที่ยากลำบากซึ่ง “ไฟป่า” มักเกิดขึ้น การสื่อสารระหว่างนักดับเพลิงและศูนย์บัญชาการมักมีปัญหาเนื่องจากไม่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือ NASA จึงช่วยเหลือเหล่านักดับเพลิงผ่านการให้บริการบอลลูนเพื่อกระจายสัญญาณวิทยุ อินเทอร์เน็ต และติดตามสถานการณ์ไฟป่า
โครงการนี้มีชื่อว่า Strategic Tactical Radio and Tactical Overwatch (STRATO) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง NASA หน่วยงานป่าไม้สหรัฐฯ (U.S. Department of Agriculture Forest Service) บริษัท Aerostar และบริษัท Motorola บรรดาองค์กรพันธมิตรได้พัฒนาเทคโนโลยีบอลลูนอากาศระดับสูงเพื่อให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือจากท้องฟ้า อุปกรณ์หลักได้แก่บอลลูนอากาศระดับสูงรุ่น Thunderhead จากบริษัท Aerostar ซึ่งเป็นบอลลูนฮีเลียมที่สามารถลอยได้สูงถึง 15,000 เมตร (50,000 ฟุต) สามารถลอยอยู่ในตำแหน่งเดิมได้นานหลายเดือนและสามารถเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งที่ต้องการได้
อย่างที่เราทราบกันดีว่าไฟป่ามักเกิดในพื้นที่ที่ห่างไกลและยากต่อการเดินทางเข้าไปถึง การดับเพลิงในสถานที่เหล่านั้นย่อมยากต่อการสื่อสารกับศูนย์บัญชาการเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต การที่สามารถเพิ่มจุดกระจายสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตจากบนท้องฟ้าได้นั้นช่วยทำให้นักดับเพลิงสามารถติดต่อกับศูนย์บัญชาการได้โดยตรง ช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิตของนักผจญเพลิงและประสิทธิภาพโดยรวมของการดับไฟป่าได้
การทดสอบครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์ไฟป่าใน West Mountain Complex รัฐไอดาโฮ บนบอลลูนได้ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณ LTE หรือ 4G กล้องถ่ายภาพ กล้องถ่ายภาพความร้อน ส่วนในการติดต่อสื่อสารกับศูนย์บัญชาการ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลจากศูนย์บัญชาการและเสาสัญญาณวิทยุ บนบอลลูนจึงมีการติดตั้งจานรับสัญญาณดาวเทียม Starlink ของ SpaceX และระบบบรอดแบนด์ไร้สาย Silvus
จากการทดสอบตัวบอลลูนสามารถส่งสัญญาณครอบคลุมพื้นที่รัศมีประมาณ 32 กิโลเมตรหรือ 20 ไมล์ และตัวบอลลูนยังมีระบบมอเตอร์หันเสาสัญญาณไปยังทิศทางของหน่วยดับบนพื้นผิวเพื่อที่จะให้สัญญาณสามารถเชื่อมต่อได้โดยต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อระบุตำแหน่งของนักดับเพลิงบนภาคพื้นให้แก่ศูนย์บัญชาการผ่านทางบอลลูน ซึ่งช่วยทำให้สามารถติดตามการทำงานของนักดับเพลิงแบบเรียลไทม์และเพิ่มความปลอดภัยให้แก่นักดับเพลิงในภารกิจอีกด้วย
ซึ่งผลจากการทดสอบนี้ทีมงานผู้ดูแลโครงการจะนำไปทดสอบเพื่อวางแผนสำหรับฤดูกาลไฟป่าในปีหน้า ทั้งการวางตำแหน่งของกลุ่มบอลลูนเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่เหตุการณ์ไฟป่าให้ได้มากที่สุด และปรับแต่งอุปกรณ์ต่าง ๆ บนบอลลูนไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์วิทยาศาสตร์หรืออุปกรณ์สื่อสารเพื่อสนับสนุนโครงการอื่น ๆ ของ NASA เป้าหมายสูงสุดของโครงการนี้คือการเพิ่มความปลอดภัยให้กับชีวิตนักผจญเพลิงทุกคนและเพิ่มประสิทธิภาพการดับไฟป่าให้ได้มากที่สุด
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech