ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อัปเดต "ไข้หวัดใหญ่" สธ.มั่นใจไทยรับมือได้ เตือนเช็กสุขภาพก่อนบิน

สังคม
5 ก.พ. 68
16:22
97
Logo Thai PBS
อัปเดต "ไข้หวัดใหญ่" สธ.มั่นใจไทยรับมือได้ เตือนเช็กสุขภาพก่อนบิน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในไทยยังไม่น่ากังวลใจ แต่เตือนคนไทยไปญี่ปุ่นหากมีไข้ให้งดการเดินทาง พร้อมแนะให้ฉีดวัคซีนและซื้อประกันสุขภาพที่ครอบคลุมเพื่อสะดวกต่อการเข้ารักษา

วันนี้ (5 ก.พ.2568) นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุถึง สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ระบาด ในประเทศญี่ปุ่น หลัง ต้าเอส-สวีซีหยวน ดาราดังชาวไต้หวัน เสียชีวิต เนื่องจากไข้หวัดใหญ่ระหว่างไปท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น ว่า การเสียชีวิตของดาราสาวคนดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A และยังไม่มีรายงานจากนานาชาติถึงการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ดังกล่าว ซึ่งทั่วโลกต่างก็มีระบบเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยสำหรับคนไทยที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A อยู่ขณะนี้ให้สังเกตอาการของตนเอง ว่า หากมีไข้สูง ไอจาม เหนื่อยหอบ ซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณ การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ก็ควรงดการเดินทาง เพราะเชื้อดังกล่าว หากลงไปที่ปอดก็จะทำให้ปอดบวมและเสี่ยงเสียชีวิตได้ 

แต่หากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปยังประเทศดังกล่าวก็ควรรักษาสุขภาพ และควรซื้อประกันทางการแพทย์ที่ครอบคลุมการรักษา เนื่องจากการเข้ารับบริการสุขภาพในต่างประเทศถือเป็นเรื่องยาก

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก่อนเดินทาง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง สำหรับประเทศไทยในระบบสาธารณสุข ยังมียาเพียงพอต่อการรักษา

ข้อมูลกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยโรคติดต่อที่คนไทยป่วยมากที่สุด ในช่วงวันที่ 19-25 ม.ค.2568 พบว่า โรคไข้หวัดใหญ่ มีจำนวนผู้ป่วยสูงประมาณ 7,000 คน ส่วนใหญ่ป่วยจากสายพันธุ์ A ขณะที่ สถิติปี 2567 ติดเชื้อรวมประมาณ 660,000 คน เสียชีวิต 51 คน

อัปเดต โรคติดต่อที่คนไทยป่วยมากที่สุด

ขณะที่ โรคติดต่อที่คนไทยป่วยมากที่สุด ในช่วงวันที่ 26 ม.ค. - 1 ก.พ.2568 (สัปดาห์ที่ 5) พบว่า โรคไข้หวัดใหญ่ มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด 17,913 คน เสียชีวิต 2 คน รองลงมาคือ โรคปอดอักเสบหรือโรคปอดบวม 11,411 คน เสียชีวิต 9 คน โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 9,766 คน อาหารเป็นพิษ 3,897 คน โรคอีสุกอีใส 1,239 คน ตามมาด้วยโรคอื่น ๆ ได้แก่ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โรคมือเท้าปาก โรคไข้เลือดออก โรคซิฟิลิส และโรคหนองใน

โดยพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงในกลุ่มโรคติดต่อทางเดินหายใจ (โรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดอักเสบ) รองลงมาเป็นกลุ่มโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ (โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันและอาหารเป็นพิษ)

จึงขอแนะนำให้ประชาชนดูแลตนเอง ดังนี้ 

คำแนะนำสำหรับการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดอักเสบ

1. ป้องกันการแพร่เชื้อ สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล

2. รักษาระยะห่าง หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยและพื้นที่แออัด

3. เสริมภูมิคุ้มกัน กลุ่มเสี่ยงควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

คำแนะนำสำหรับการป้องกันโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันและอาหารเป็นพิษ

1. กินร้อน รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงอาหารดิบหรืออาหารที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค

2. ช้อนกลาง ใช้ช้อนกลางเมื่อตักอาหารร่วมกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรค

3. ล้างมือ ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ ก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ

อ่านข่าว : "ทรัมป์" ท้าทาย กม.โลก สหรัฐฯ เล็งฮุบกาซาท่ามกลางเสียงคัดค้าน

ประสานตำรวจสากลช่วยหญิงไทยถูกหลอก "รีดไข่สืบพันธุ์" ที่จอร์เจีย

ช่วยติดตามอายัดบัญชีได้ทัน คอลเซนเตอร์ลวงยายโอน 2 ล้าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง