รอบ ๆ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เขตเมืองหลวงแห่งชาติ (National Capital Region: NCR) ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นหนึ่งในน่านฟ้าที่มีการป้องกันภัยทางอากาศดีที่สุดในโลก โดยส่วนหนึ่งใช้ระบบป้องกันภัยซึ่งถูกติดตั้งหลังคาอาคาร - ตึก เพื่อคอยจับตาดูท้องฟ้าและป้องกันภัยคุกคามทางอากาศ ปัจจุบันระบบป้องกันภัยนี้กำลังได้รับการอัปเกรดด้วยระบบกล้อง AI ใหม่ที่สามารถระบุผู้บุกรุกที่ไม่ได้รับอนุญาตได้อย่างรวดเร็วและแจ้งเตือนด้วยลำแสงเลเซอร์
ทั้งนี้ เขตเมืองหลวงแห่งชาติ (NCR) ได้รับการปกป้องโดยระบบป้องกันภัยที่พัฒนา - มีความเข้มข้นมากขึ้นในปัจจุบัน โดยมี Air National Guard units ที่หมุนเวียนมาทำหน้าที่สกัดกั้น เปลี่ยนเส้นทาง หรือหากจำเป็น ก็ทำลายเครื่องบินที่บินเข้ามาในพื้นที่
ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวต้องใช้ความรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเครื่องบินลำดังกล่าวเป็นเครื่องบินเจ็ตที่บินด้วยความเร็วเกือบเหนือเสียง แม้ระบบเรดาร์นั้นจะดีมากในการตรวจจับและติดตามผู้บุกรุก แต่การระบุตัวตนของผู้บุกรุกอาจยังไม่ดีเท่าที่ควร และจะยิ่งแย่เข้าไปใหญ่หากผู้บุกรุกไม่สามารถหรือปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ
ด้วยเหตุนี้ ระบบซึ่งประกอบด้วยกล้องและเลเซอร์หลายตัวที่เรียกว่าระบบ “ERSA” (Enhanced Regional Situational Awareness) โดยเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการป้องกันแบบบูรณาการ เพื่อเชื่อมต่อการป้องกันไปยังเครื่องบินขับไล่ ขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ หรืออาวุธต่อต้านโดรน ด้วยการใช้กล้องที่มองเห็นท้องฟ้าชัดเจนและอินฟราเรดที่สามารถระบุผู้บุกรุก ขณะที่เลเซอร์ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อดวงตาจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับระยะทางและระดับความสูงเพื่อช่วยในการวิเคราะห์
ภายใต้สัญญาการป้องกันประเทศของสหรัฐฯ ERSA จะได้รับการอัปเกรดด้วยกล้องความละเอียดสูงที่ผลิตโดย Teleidoscope เพื่อแทนที่กล้องรุ่นเก่ากว่าสองทศวรรษ ซึ่งกล้องเหล่านี้มีความคมชัดสูงแม้ระยะที่ส่องมองท้องฟ้าจะขยายเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการตรวจจับและปรับสีด้วยอินฟราเรดเพื่อให้เป้าหมายโดดเด่นแตกต่างแม้ผู้บุกรุกจะอยู่ใกล้แหล่งความร้อน รวมถึงการใช้ Machine Learning ช่วยระบุเป้าหมายโดยอัตโนมัติได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
หลังจากที่ AI ระบุตัวตนผู้บุกรุกเบื้องต้นแล้ว ผู้ปฏิบัติการสามารถยืนยันหรือยับยั้งข้อมูลดังกล่าวและตัดสินใจตอบสนองอย่างเหมาะสม โดยอาจรวมถึงการเตือนผู้บุกรุกด้วยวิทยุ ใช้เลเซอร์เป็นคำเตือนด้วยภาพ เรียกเครื่องบินขับไล่ให้คุ้มกันเครื่องบินออกจากพื้นที่จำกัด หรือยิงเครื่องบินให้ตก ซึ่งตามข้อมูลของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Defense) การเตือนด้วยเลเซอร์ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เนื่องจากมีประสิทธิภาพและประหยัดกว่าการใช้เครื่องบินขับไล่ขึ้นบินตามประกบผู้บุกรุก
จ่าสิบเอก Kendrick Wilburn แห่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นทหารหน่วย Air National Guard units ของนิวยอร์ก กล่าวว่า เครื่องบินที่ไม่ปฏิบัติตามกฎจะทราบดีว่าเมื่อเห็นเลเซอร์สีแดง-เขียว เครื่องบินจะต้องหันหัวไปทางอื่นที่อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางของเขตจำกัดการบิน (SFRA) โดยเร็วที่สุด และติดต่อองค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ FAA (Federal Aviation Administration) ทันทีเพื่อพยายามหาสาเหตุว่าทำไมจึงถูกยิงเลเซอร์ใส่ ซึ่งมีหลายครั้งที่ตนเองใช้เลเซอร์นี้ และ (ผู้ฝ่าฝืน) ก็ตอบสนองต่อเลเซอร์นี้ หากไม่มีทางเลือกนี้ อาจจำเป็นต้องมีการส่งเครื่องบินทหารออกบินเพื่อประกบผู้บุกรุก ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่มีต้นทุนสูงกว่ามาก
ขณะนี้มีการติดตั้งกล้องใหม่ 2 ตัว และคาดว่าจะเปิดตัวอีก 7 ตัวในปีหน้า (2025)
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : U.S. Department of Defense
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech