บาดแผลทุกประเภทที่เกิดขึ้นกับเรานั้นให้ความรู้สึกเจ็บปวดอยู่แล้ว แต่ทำไม ? บาดแผลเล็กน้อยดูจิ๊บจ๊อยอย่าง “กระดาษบาด” ถึงเจ็บปวดมากอย่างน่าเหลือเชื่อ
“กระดาษบาด” กับความเข้าใจประสาทรับความรู้สึก
ร่างกายมนุษย์นั้นจะมีความสัมพันธ์ของขนาดของสมองส่วน cortex กับเขตความรู้สึกต่าง ๆ บนร่างกายของเรา โดยสมองส่วนสำคัญเกี่ยวกับระบบรับความรู้สึกทางกายของมนุษย์ หรือ cortex รับความรู้สึกทางกายปฐมภูมิ (primary somatosensory cortex) จะตั้งอยู่บริเวณรอยนูนหลังร่องกลาง (postcentral gyrus) ของสมอง ซึ่งเป็นเขตรับสัญญาณความรู้สึกหลักของระบบรับความรู้สึกทางกาย (somatosensory system)
ซึ่งส่วนของ somatosensory area นี้ จะมีขนาดใหญ่ตรงบริเวณริมฝีปากและมือ และด้วยความที่เซลล์ประสาทที่ประมวลข้อมูลมาจากเขตบริเวณนั้นมีจำนวนมากกว่าเขตอื่น ๆ นี่เอง จึงทำให้มือและริมฝีปากสามารถรับความรู้สึกที่ละเอียดได้มากกว่าอวัยวะส่วนอื่น ๆ ตามไปด้วย นอกจากนี้ เนื่องจากระบบรับความรู้สึกทางกาย (somatosensory system) ประกอบด้วยตัวรับความรู้สึก (sensory receptor) และศูนย์ประมวลผลต่าง ๆ มากมาย เพื่อสามารถรับตัวกระตุ้นได้หลายรูปแบบ รวมทั้งสัมผัส อุณหภูมิ และ Nociceptor ซึ่งเป็นตัวรับที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่สร้างความเสียหายซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด
สู่คำตอบ..ทำไม ? “กระดาษบาด” จึงรู้สึกเจ็บมากกว่าบาดแผลอื่น ๆ
ทั้งนี้ จากการศึกษาของ Dr.Hayley Goldbach ซึ่งเป็นแพทย์ผิวหนังจากมหาวิทยาลัย UCLA ประเทศสหรัฐอเมริกา อธิบายว่า บริเวณ “ปลายนิ้ว” นอกจากจะเป็นบริเวณที่รับความรู้สึกละเอียดได้มากกว่าบริเวณอื่นแล้ว ยังเป็นอีกบริเวณหนึ่งที่มีตัวรับความรู้สึกต่อความเจ็บปวดหรือ nocicertor อยู่มาก ซึ่งนั่นเป็นกลไกหนึ่งในการป้องกันตัวเองของร่างกาย
และถึงแม้ว่า “ขอบกระดาษ” ที่เรามองเห็นด้วยตาเปล่านั้น อาจจะเห็นว่ามีขอบที่เรียบเนียน เป็นเส้นตรงราวกลับใบมีด แต่ความจริงแล้วเมื่อขยายดูในบริเวณดังกล่าว ขอบกระดาษเหล่านั้นกลับมีลักษณะคล้ายใบเลื่อยมากกว่าใบมีด ซึ่งเมื่อมันได้เปิดผิวหนังของเราแล้ว จะทิ้งรอยหยักเหล่านั้นไว้ในบาดแผล ซึ่งนั่นจะทำให้เรารู้สึกเจ็บมากกว่าแผลที่เป็นขอบเรียบจากใบมีดโกนหรือใบมีดนั่นเอง
Dr.Hayley อธิบายให้เห็นภาพเพิ่มเติมว่า การที่บาดแผลจากการถูกกระดาษบาดรู้สึกเจ็บมากกว่าการถูกของมีคมอย่างอื่นบาดลึกกว่า นั่นเป็นเพราะเมื่อมีเลือดออกจากบาดแผลลึก ร่างกายมนุษย์จะมีกลไกในการห้ามเลือดจนแผลตกสะเก็ด และพัฒนาการรักษาตัวเองภายใต้ผิวหนังบริเวณนั้น
แต่แผลจากการถูก “กระดาษบาด” นั้นไม่ได้รับการรักษาแบบเดียวกันกับกลไกดังกล่าว เพราะบริเวณผิวหนังที่เปิดจากกระดาษเป็นแผลตื้น ๆ ที่ตัวรับความเจ็บปวดสามารถส่งสัญญาณไปยังสมองได้ และก็ยังคงสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ที่เราจับต้อง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด ดังนั้น ถ้าหากไม่อยากรู้สึกเจ็บ - แสบที่มือ ควรระมัดระวังในการจับต้องกระดาษแผ่นบาง ๆ ที่อันตรายกว่าหน้าตา - รูปลักษณ์
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : iflscience, BBC, สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech