มีการสันนิษฐานว่า “ดาวเวก้า” (Vega) มีฝุ่นละอองปกคลุมรอบมาตั้งแต่ปี 1775 แต่ข้อมูลล่าสุดจากกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลและเจมส์ เว็บบ์ได้พบหลักฐานใหม่ว่าฝุ่นละอองเหล่านี้กลับเป็นระเบียบอย่างน่าอัศจรรย์
เมื่อเร็ว ๆ นี้นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแอริโซนาใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลและเจมส์ เว็บบ์เพื่อสำรวจละอองฝุ่นรอบดาวเวก้า (Vega) ในกลุ่มดาวพิณซึ่งมีรูปร่างคล้ายแผ่นดิสก์เส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 100,000 ล้านกิโลเมตร พบว่าฝุ่นที่โคจรล้อมรอบดาวฤกษ์ดวงนี้มีความเรียบและเป็นระเบียบเรียบร้อยมากกว่าที่เราคาดคิดไว้ โดยที่ไม่พบถึงสัญญาณของดาวเคราะห์ขนาดใหญ่โคจรรอบซึ่งนับเป็นการค้นพบที่น่าตกใจ
เราเคยมีการตั้งสมมติฐานไว้ว่าดาวฤกษ์แทบจะทุกดวงในเอกภพมีดาวเคราะห์บริวารของตัวมันเอง ซึ่งดาวเคราะห์เหล่านี้เกิดจากเศษฝุ่นที่หลงเหลือจากการก่อตัวของดาวฤกษ์ แต่สำหรับดาวเวก้า ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเราประมาณ 2.3 เท่า และมีลักษณะทรงรี ป่องตรงกลาง นักดาราศาสตร์ต่างสังเกตดาวดวงนี้มาตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 18 และ Immanuel Kant ได้ตั้งสมมติฐานว่าดาวเวก้าน่าจะมีฝุ่นละอองโคจรล้อมรอบดาวไว้ตั้งแต่ปี 1775 ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าจริงเมื่อปี 1984 โดย IRAS (Infrared Astronomy Satellite) กล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีอินฟราเรดตัวแรกของโลก
สำหรับอายุของดิสก์ฝุ่น เรายังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าฝุ่นที่ล้อมรอบดาวเวก้าอยู่นั้นเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร แต่คาดว่าน่าจะมีอายุตั้งแต่ไม่กี่ล้านปีจนไปจนถึง 350 ล้านปี
เมื่อเทียบลักษณะของฝุ่นที่ล้อมรอบดาวเวก้าและเทียบกับระบบดาวฤกษ์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันอย่างดาวฟอมัลโฮต (Fomalhaut) ในกลุ่มดาวปลาใต้ ที่เป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้เคียง มีมวลและมีอายุใกล้เคียงกับเวก้า ก็พบว่าที่ระบบของฟอมัลโฮต ดิสก์ฝุ่นนั้นแบ่งออกเป็นสามชั้น นักวิจัยจึงคาดการณ์ว่าความแตกต่างของการรวมตัวดิสก์ฝุ่นน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดดาวเคราะห์ในระบบดาวนั้น แต่ผลจากการศึกษาดาวเวก้าในครั้งนี้กลับไม่พบสัญญาณของดาวเคราะห์ จึงเป็นอีกเรื่องที่น่าแปลกใจ
จากการศึกษาในตอนนี้พบแค่ดิสก์ฝุ่นสองชั้นรอบดาวเวก้า ช่องว่างระหว่างดิสก์ฝุ่นนั้นกว้างประมาณ 60 หน่วยดาราศาสตร์ ซึ่งกว้างกว่าระยะห่างจากดวงอาทิตย์ถึงดาวเนปจูน ซึ่งในตอนนี้เรายังคงไม่เข้าใจถึงปัจจัยที่ทำให้ฝุ่นในระบบดาวฟอมัลโฮตที่ใกล้กับดาวเวก้าสามารถรวมตัวกันและมีโอกาสที่จะเกิดดาวเคราะห์ แต่สำหรับดาวเวก้ากลับไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งที่มีสภาพแวดล้อมและการก่อกำเนิดในบริเวณเดียวกัน แลนั่งยิ่งที่ให้การศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการก่อตัวของระบบดาวเคราะห์น่าสนใจมากยิ่งขึ้น เพราะไม่ใช่ดาวฤกษ์ทุกดวงจะสามารถมีดาวเคราะห์ก่อตัวรอบมันได้
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech