“ปวดหัว” ในผู้หญิง เป็นอาการที่พบได้บ่อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงจะพบความชุกของโรคปวดหัว “ไมเกรน” (Migraine Headaches) มากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า โดยความแตกต่างนี้จะยิ่งเห็นได้ชัดเจนในช่วงวัยเจริญพันธุ์ (เป็นประจำเดือน : ปจด.) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ต้องการหาสาเหตุแน่ชัดว่าเป็นเพราะอะไรที่ทำให้เป็นเช่นนั้น ล่าสุด 2 นักวิจัยด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย (University of Virginia) ค้นพบว่าอาจเป็นเพราะฮอร์โมน “โปรเจสเตอโรน” (Progesterone) ที่อาจเป็นสาเหตุผู้หญิงปวดหัว “ไมเกรน” (Migraine) มากขึ้นในช่วงมีประจำเดือน
ทำไม ? ผู้หญิงปวดหัว “ไมเกรน” ช่วงมีประจำเดือนมากขึ้น
ในช่วงก่อนมีประจำเดือนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ ก่อนมีประจำเดือน 1 - 3 วัน ระดับเอสโตรเจนจะลดลงอย่างรวดเร็ว (estrogen withdrawal) ในผู้ที่สมองมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ (จากพันธุกรรม) หรือผู้ที่เป็นโรคปวดหัว “ไมเกรน” (Migraine) อยู่แล้วจะเกิดการกระตุ้นทำให้ปวดหัวไมเกรนได้
โดยอาการ “ไมเกรน” (Migraine) มักเกิดขึ้นในช่วงรอบเดือนซึ่งเป็นช่วงที่ฮอร์โมนสืบพันธุ์ เช่น โปรเจสเตอโรน (Progesterone) และเอสโตรเจน (Estrogen) ขึ้น ๆ ลง ๆ ระดับของฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้จะต่ำในช่วงก่อนมีประจำเดือน
ผู้ป่วยบางรายมีอาการปวดหัวเฉพาะในช่วงมีประจำเดือน ซึ่งเรียกว่า “ไมเกรน” (Migraine) ในช่วงมีประจำเดือนไมเกรนประเภทนี้มักจะรุนแรงและรักษาได้ยากกว่าอาการที่เกิดขึ้นก่อนหรือหลังมีประจำเดือน
อาการปวดไมเกรนซ้ำ ๆ จะเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการปวด “ไมเกรนเรื้อรัง” อาการปวดไมเกรนที่ไม่ได้รับการควบคุมอาจเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการปวดหัวจากการใช้ยาเกินขนาดได้เช่นกัน
อาการปวดหัว “ไมเกรน” ช่วงมีประจำเดือน
โดยอาการปวดหัวมักจะเกิดก่อนที่จะมีประจำเดือน 2 วัน จนถึงขณะที่มีประจำเดือนวันที่ 3 อาการปวดศีรษะมักจะเกิดรุนแรงมากกว่าและเป็นนานกว่า “ไมเกรน” (Migraine) ปกติ โดยพบอาการอื่นร่วมกับอาการปวดหัว เช่น
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- มีความไวต่อ แสง – เสียง – กลิ่น เพิ่มมากขึ้น
ในผู้ป่วยบางรายตอบสนองไม่ดีต่อยารักษาไมเกรน (Migraine) แบบเฉียบพลัน หรือมีการปวดหัวกลับเป็นซ้ำใหม่ได้มากกว่าปกติ
“โปรเจสเตอโรน” ทำให้ปวดหัว “ไมเกรน” ช่วงมีประจำเดือนมากขึ้น เนื่องจากไวต่อความเจ็บปวด
Jaideep Kapur ศาสตราจารย์ และ Suchitra Joshi รองศาสตราจารย์ ด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย (University of Virginia) ได้ทำการศึกษาว่าฮอร์โมน “โปรเจสเตอโรน” ควบคุมการทำงานของเซลล์ประสาทในด้านสุขภาพและโรคต่าง ๆ ได้อย่างไร โดยการวิจัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเน้นไปที่การทำความเข้าใจว่าฮอร์โมนนี้และตัวรับของมันส่งผลต่อสมองอย่างไร ซึ่งในการวิจัยในหนูที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่าฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอาจทำให้ผู้ที่มีประจำเดือนมีแนวโน้มที่จะเป็น “ไมเกรน” (Migraine) มากขึ้น
โดยได้ทำการวิจัยในขั้นแรก พิจารณาว่าความไวต่อความเจ็บปวดของหนูตัวเมียเปลี่ยนไปหรือไม่ในระหว่างรอบการสืบพันธุ์ หนูตัวเมียจะประสบกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงการเป็นสัดซึ่งกินเวลา 4-5 วัน ด้วยการใช้ลวดเส้นเล็กที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นกับอุ้งเท้าหลังของหนูเพื่อวัดความไวต่อการสัมผัส ซึ่งหนูแสดงอาการไม่สบายเท้าต้องการดึงลวดออก
จากการศึกษาทำให้พบว่าความไวต่อความเจ็บปวดจะสูงขึ้นในหนูในช่วงปลายรอบเดือนเมื่อระดับฮอร์โมนสืบพันธุ์ต่ำ เมื่อเทียบกับหนูในช่วงกลางรอบเดือนเมื่อระดับฮอร์โมนสืบพันธุ์สูง
จากนั้นจึงศึกษาต่อด้วยการทดสอบว่า “โปรเจสเตอโรน” (Progesterone) เพิ่มความไวต่อความเจ็บปวดหรือไม่ โดยตัดรังไข่ของหนูออกเพื่อกำจัดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกิดจากภายใน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของ “เอสโตรเจน” (Estrogen) เกิดขึ้นก่อนการหลั่งโปรเจสเตอโรนในระหว่างรอบการสืบพันธุ์ของตัวเมีย ทีมวิจัยจึงให้เอสโตรเจนตามด้วยโปรเจสเตอโรนหรือน้ำเกลือ ก่อนพบว่าหนูที่ได้รับโปรเจสเตอโรนมีความไวต่อการสัมผัสเพิ่มขึ้น แต่หนูที่ได้รับน้ำเกลือกลับไม่เป็นเช่นนั้น
“โปรเจสเตอโรน” (Progesterone) ออกฤทธิ์โดยกระตุ้น “ตัวรับโปรเจสเตอโรน” ซึ่งอยู่ในสมอง โดยจะปรับเปลี่ยนการแสดงออกของยีนต่าง ๆ อย่างช้า ๆ นอกจากนี้ “โปรเจสเตอโรน” ยังสามารถเปลี่ยนการทำงานของเซลล์ประสาทได้อย่างรวดเร็วเมื่อสลายตัวเป็นโมเลกุลที่เรียกว่า “อัลโลเพร็กนาโนโลน” (Allopregnanolone : สเตียรอยด์ชนิด neurosteroid ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สร้างขึ้นในร่างกายจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน)
ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่ “ตัวรับโปรเจสเตอโรน” ในสมอง อาจมีบทบาทในการออกฤทธิ์ของโปรเจสเตอโรนซึ่งกระตุ้นให้เกิดความเจ็บปวด
สู่เป้าหมายการรักษา “ไมเกรน” ให้หายขาด
จากการศึกษาทำให้ทราบว่า “ตัวรับโปรเจสเตอโรน” ในสมองเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็น “ไมเกรน” (Migraine) เพิ่มขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงของระดับโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ตามรอบเดือนจะกระตุ้นตัวรับ ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้
ซึ่งนั้นหมายความว่า “ตัวรับโปรเจสเตอโรน” อาจเป็นเป้าหมายต่อไปในการผลิตยาสำหรับการป้องกันหรือรักษา “ไมเกรน” (Migraine) ได้ ขณะที่ทีมวิจัยยังศึกษาต่อไปอีกว่า “ตัวรับโปรเจสเตอโรน” (Progesterone) เพิ่มความไวต่อความเจ็บปวดได้อย่างไร เพื่อความหวังค้นพบวิธีการใหม่ ๆ ในการรักษาอาการ “ปวดหัวไมเกรน” ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : theconversation, ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech