โศกนาฏกรรมสนามบิน Tenerife เกิดขึ้นเมื่อเครื่องบินขนาดใหญ่สองลำพร้อมผู้โดยสารรวมกว่า 600 คนชนกันกลางรันเวย์ด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 583 รายในปี 1977 นับเป็นโศกนาฏกรรมที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การบิน และเป็นโศกนาฏกรรมที่ปฏิวัติความปลอดภัยทางด้านการบินซึ่งมีผลทำให้การเดินทางทางอากาศมีความปลอดภัยมากที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน
เครื่องบินที่อยู่ในเหตุการณ์สองลำนั้นคือ เครื่องบิน Boeing 747 ของสายการบิน KLM และสายการบิน Pan Am ซึ่งในวันที่ 27 มีนาคม 1977 มีการ Divert หรือถูกสั่งให้ไปลงจอดชั่วคราวที่สนามบิน Los Rodeos สนามบินขนาดเล็กในหมู่เกาะคานารี (Canary) ของประเทศสเปน อีกชื่อเรียกคือสนามบิน Tenerife จากเดิมที่เครื่องบินทั้งสองต้องบินไปลงจอดที่สนามบิน Gran Canaria แต่ในวันนั้นสนามบิน Gran Canaria ปิดทำการฉุกเฉินเนื่องจากมีการก่อการร้ายวางระเบิดขึ้น และมีความเสี่ยงว่าอาจจะมีระเบิดลูกที่สอง ทำให้เครื่องบินที่มีปลายทางอยู่ที่สนามบิน Gran Canaria ต้องไปลงจอดที่อื่นชั่วคราว และต้องจอดรอที่อื่นชั่วคราวจนกว่าสนามบิน Gran Canaria จะเปิดอีกครั้ง
ในเหตุโศกนาฏกรรมนี้ เครื่องบิน Boeing 747 ทั้งสองลำต้องจอดรอที่สนามบิน Tenerife ซึ่งมีเพียงรันเวย์เดียว ทางขับเดียว และมีพื้นที่จอดเครื่องบินเล็กมาก เนื่องจากสนามบินไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่อย่าง Boeing 747 ถึงขั้นที่เครื่องบินหลายลำต้องจอดบนทางขับแทน จึงไม่สามารถใช้ทางขับเพื่อวิ่งไปที่รันเวย์ได้ตามปกติแต่จะเป็นการขับบนทางวิ่งจากนั้นจึงหันหัวกลับเพื่อขึ้นบิน หรือที่เรียกว่า “Backtaxi”
กระทั่งเมื่อสนามบิน Gran Canaria กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง จึงทำให้เครื่องบินเริ่มสามารถขึ้นบินเพื่อไปยังปลายทางที่ Gran Canaria ได้ เครื่องบิน Boeing 747 ของ Pan Am ในขณะนั้นพร้อมขึ้นบินแล้ว แต่ไม่สามารถ Taxi ไปที่ทางวิ่งได้เนื่องจากติดเครื่องบิน Boeing 747 ของ KLM ที่กำลังจอดเพื่อเติมเชื้อเพลิงอยู่ ด้วยขนาดของเครื่องบินทั้งสอง ระยะห่างของเครื่องบินทั้งสองจะอยู่ที่เพียงประมาณ 3.7 เมตร เท่านั้น ซึ่งไม่พอที่จะอ้อมได้ ส่วนทางวิ่งอีกทิศทางหนึ่งก็มีเครื่องบินลำอื่นจอดรออยู่ จึงต้องรอให้เครื่องบิน KLM เติมเชื้อเพลิงเสร็จเท่านั้น การเติมเชื้อเพลิงใช้เวลาประมาณ 35 นาที เมื่อพร้อมแล้วจึงเรียกผู้โดยสารกลับมาขึ้นเครื่องบิน แต่การเรียกผู้โดยสารก็ติดปัญหาตรงที่ตามผู้โดยสารบางคนไม่เจอ การขึ้นบินจึงล่าช้าไปอีก การล่าช้านี้ประกอบกับสภาพอากาศบริเวณสนามบิน Tenerife ที่แย่ลงเรื่อย ทำให้พิสัยการมองเห็นนั้นต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อเครื่องบินทั้งสองพร้อมขึ้นบินแล้ว หอควบคุมได้สั่งให้เครื่องบิน KLM ขับแบบ Backtrack ไปจอดที่อีกฝั่งของรันเวย์แล้วหันหัวกลับเพื่อเตรียมขึ้นบิน ดังนั้น KLM จะได้ขึ้นบินก่อน Pan Am ส่วนเครื่องของ Pan Am นั้นถูกสั่งให้ขับแบบ Backtrack ตามเครื่องบิน KLM ไป แต่ให้ออกจากทางวิ่งที่ทางออกไปทางขับที่ 3 หรือ C-3 เพื่อให้ KLM นั้นขึ้นบิน แต่ด้วยทัศนวิสัยที่แย่ เครื่องของ Pan Am เลยไปออกทางออกที่ C-4 แทน
KLM ได้ Backtrack ถึงจุดขึ้นบินและกลับหัวเพื่อพร้อมขึ้นบินแล้ว ส่วน Pan Am นั้นกำลัง Backtrack ตามมาและกำลังจะเตรียมออกทางออกที่ C-4 แต่เนื่องจากการสื่อสารที่ผิดพลาดระหว่างหอควบคุมกับ KLM นั้น KLM ได้ทำการวิ่งขึ้นบินโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่ทราบว่าเครื่องของ Pan Am ยังอยู่บนทางวิ่ง จนเป็นเหตุให้เครื่องบินทั้งสองลำชนกันด้วยความรุนแรง โดยเครื่องของ KLM ชนเข้ากับ Pan Am ในขณะที่กำลังลอยตัวขึ้นจากรันเวย์ จากนั้นจึงตกกระแทกพื้นแล้วไถลไปตามรันเวย์และเกิดเพลิงไหม้อย่างรุนแรง (จากเชื้อเพลิงเต็มถังที่เติมมาก่อนหน้านี้)
ผู้โดยสารรวมลูกเรือบินเครื่อง KLM ทั้งหมด 248 คน เสียชีวิตทั้งหมด ในขณะที่ผู้โดยสารและลูกเรือ 61 คน จาก 396 คน ในเครื่อง Pan Am รอดชีวิต
การสอบสวนพบว่ามีปัจจัยที่นำไปสู่อุบัติเหตุดังนี้:
- สนามบินไม่พร้อมสำหรับการรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่สองลำ
- สภาพอากาศที่ย่ำแย่
- การสื่อสารด้วยศัพท์ที่ไม่เป็นมาตรฐานระหว่างหอควบคุมและลูกเรือ เช่น การใช้คำว่า “Takeoff” หรือ “ขึ้นบิน” โดยไม่จำเป็น เป็นเหตุให้ลูกเรือเข้าใจผิดว่าอนุญาตให้ขึ้นบิน
- การไม่ทวนคำสั่งทางวิทยุโดยผู้รับ ทำให้ผู้ส่งไม่ทราบว่าผู้รับได้รับสารที่ถูกต้องหรือไม่
- การที่ลูกเรือของเครื่องบิน KLM แม้รู้ว่ากำลังขึ้นบินโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ไม่ได้ทักท้วงกัปตันของเครื่องบินที่เป็นผู้ตัดสินใจเครื่องบิน เนื่องจากกัปตันนั้นเป็นหัวหน้านักบินและมีตำแหน่งใหญ่ในสายการบิน
- การไม่มีระบบเรดาร์ในการติดตามเครื่องบินบนภาคพื้น ทำให้หอควบคุมไม่ทราบตำแหน่งที่ชัดเจนของเครื่องบินในสนามบิน
บทเรียนจากเหตุการณ์อันน่าสลดนี้ได้ก่อให้เกิดการปฏิวัติวงการการบินขึ้นเมื่อหน่วยงานดูแลด้านการบินออกกฎเข้มงวด เช่น บังคับการสื่อสารแบบเป็นมาตรฐาน เช่น ต้องใช้ศัพท์เฉพาะเท่านั้น ต้องทวนคำสั่งหรือทวนสารตลอดเวลา และการไม่ใช้คำศัพท์สำคัญโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจของลูกเรือให้ลูกเรือคนอื่น ๆ นอกจากกัปตันนั้นมีอภิสิทธิ์และเสียงในการคัดค้านกัปตันได้
เรียบเรียงโดย โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech