“ลิกโนแซต” (Lignosat) ดาวเทียมไม้ดวงแรกของโลกซึ่งสร้างโดยนักวิจัยชาวญี่ปุ่น ได้ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศแล้วในวันนี้ (5 พ.ย. 67) โดยถือเป็นการทดสอบการใช้ “ไม้” (Wood) ในการสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารระยะเริ่มต้น เปิดประตูใหม่สู่วัสดุใหม่ในการสร้าง “ดาวเทียม” ที่จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอวกาศมากยิ่งขึ้น
สำหรับ “ลิกโนแซต” (Lignosat) พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเกียวโต และ Sumitomo Forestry บริษัทซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการแปรรูปไม้และก่อสร้าง โดย “ดาวเทียมไม้” ดวงแรกของโลกจะถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศก่อนปล่อยสู่วงโคจรที่ระดับความสูงเหนือพื้นโลกประมาณ 400 กิโลเมตร (250 ไมล์)
ทั้งนี้ ดาวเทียม “ลิกโนแซต” (Lignosat) มีขนาดเท่าฝ่ามือ ได้ชื่อมาจากคำภาษาละตินที่แปลว่า “ไม้” มีหน้าที่ในการสาธิตศักยภาพของวัสดุหมุนเวียนในจักรวาลขณะที่มนุษย์สำรวจการใช้ชีวิตในอวกาศ
“ทากาโอะ โดอิ” (Takao Doi) นักวิจัยผู้สร้าง “ลิกโนแซต” (Lignosat) ซึ่งเคยเป็นอดีตนักบินอวกาศที่เคยบินบนกระสวยอวกาศของนาซา (NASA) กล่าวว่า ด้วยไม้ซึ่งเป็นวัสดุที่เราผลิตเองได้ เราจะสามารถสร้างบ้าน อาศัยและทำงานในอวกาศได้ตลอดไป ทีมวิจัยจึงตัดสินใจพัฒนาดาวเทียมไม้ที่ได้รับการรับรองจาก NASA เพื่อพิสูจน์ว่าไม้เป็นวัสดุระดับอวกาศ
ด้าน โคจิ มูราตะ (Koji Murata) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ป่าไม้จากมหาวิทยาลัยเกียวโต กล่าวว่า เครื่องบินในช่วงต้นทศวรรษปี 1900 ทำด้วยไม้ ดาวเทียมที่ทำด้วยไม้ก็ควรจะเป็นไปได้เช่นกัน โดยไม้มีความทนทานในอวกาศมากกว่าบนโลก เพราะไม่มีน้ำหรือออกซิเจนที่จะทำให้ไม้ผุหรือติดไฟได้ นอกจากนี้ดาวเทียมไม้ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อสิ้นอายุการใช้งานอีกด้วย
📌อ่าน “ดาวเทียมจากไม้” เพื่อลดขยะอวกาศและปกป้องชั้นโอโซน
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : reuters
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech