นักวิจัยได้พัฒนาอุปกรณ์กรองน้ำเค็มที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตน้ำดื่มจากยางรถยนต์เก่า นวัตกรรมนี้ช่วยเปลี่ยนแปลงของเสียให้เป็นประโยชน์ในด้านการสร้างแหล่งน้ำสะอาด
โดยอุปกรณ์กรองน้ำเค็มนี้มีศักยภาพที่จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มในพื้นที่ห่างไกลและช่วยลดขยะยางรถยนต์ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการกระตุ้นน้ำเค็มให้เกิดการระเหยแล้วกลั่นเป็นน้ำจืดตามขั้นตอน และสามารถนำมาทำเป็นน้ำสำหรับดื่มได้
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยดาลเฮาซี (Dalhousie University) ได้พัฒนาอุปกรณ์กรองน้ำเค็มจากยางรถเก่าที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเปลี่ยนน้ำทะเลให้กลายเป็นน้ำดื่ม กระบวนการทำงานของอุปกรณ์นี้เริ่มต้นด้วยการให้แสงแดดกระตุ้นการระเหยของน้ำเค็ม ไอน้ำที่เกิดขึ้นจะถูกสะสมและกลั่นเป็นน้ำจืดผ่านกระบวนการควบแน่น ทำให้สามารถผลิตน้ำดื่มได้ทุกวัน
อุปกรณ์นี้ไม่เพียงช่วยลดขยะยางรถยนต์ แต่ยังสร้างแหล่งน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานได้ดี เหมาะสำหรับใช้ในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนน้ำดื่มหรือแหล่งพลังงาน นอกจากนี้ อุปกรณ์ยังสามารถผลิตน้ำได้ประมาณ 3.67 ลิตรต่อวัน หรือราว 15 แก้ว ซึ่งเพียงพอต่อการบริโภคพื้นฐานของคนหนึ่งคน
ด้วยการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ อุปกรณ์นี้สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิง จึงลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มความยั่งยืนในด้านการใช้ทรัพยากร กระบวนการนี้ไม่สร้างของเสียหรือสารปนเปื้อน ทำให้เหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่ที่จำเป็นโดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษ
การพัฒนาอุปกรณ์นี้ยังมุ่งเน้นการใช้วัสดุเหลือทิ้งให้เกิดประโยชน์ นักวิจัยตั้งเป้าว่าจะขยายการใช้งานเทคโนโลยีนี้เพื่อลดปริมาณยางรถยนต์ที่ถูกทิ้ง และสร้างแนวทางใหม่ในการจัดการขยะยางอย่างยั่งยืน
อุปกรณ์กรองน้ำเค็มจากยางรถเก่าที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตน้ำดื่มถือเป็นนวัตกรรมที่มีคุณค่าทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต เพราะช่วยให้ชุมชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดได้ และยังลดขยะยางรถยนต์โดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการใช้พลังงานสะอาดและการจัดการขยะอย่างยั่งยืน
เรียบเรียงโดย ขนิษฐา จันทร์ทร
ที่มาข้อมูล: dal, interestingengineering, newatlas
ที่มาภาพ: dal
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech