ทีมนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเมลเบิร์น ในประเทศออสเตรเลีย คิดค้นเทคโนโลยีที่สามารถแปรรูปขยะโฟมโพลีสไตรีน ให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้าสถิตโดยใช้หลักการเสียดสี
งานวิจัยนี้เผยแพร่ในวารสาร Materials Science Engineering (EurekAlert) ไม่เพียงแสดงให้เห็นศักยภาพในการนำโฟมเหลือใช้กลับมาทำประโยชน์ แต่ยังเป็นแนวทางใหม่ในการใช้วัสดุเหลือทิ้งเพื่อผลิตพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โฟมโพลีสไตรีน (Polystyrene) เป็นขยะจากบรรจุภัณฑ์และภาชนะบรรจุอาหารจำนวนมาก มักถูกทิ้งและกลายเป็นขยะพลาสติกที่ใช้เวลาย่อยสลายนาน นักวิจัยจาก Royal Melbourne Institute of Technology - RMIT จึงได้นำโฟมเหล่านี้มาผลิตพลังงานไฟฟ้าผ่านการเสียดสี ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตบนผิวของโฟม ซึ่งไม่เพียงช่วยลดการสะสมของขยะพลาสติกแต่ยังเปลี่ยนให้เป็นแหล่งพลังงานที่สามารถใช้งานได้จริง
กระบวนการทำงานของเทคโนโลยีนี้ คือการนำโฟมโพลีสไตรีนมาผ่านการเสียดสีเพื่อให้เกิดประจุไฟฟ้าสถิต จากนั้นนำพลังงานที่ได้มาจัดเก็บในอุปกรณ์เก็บพลังงานเช่นแบตเตอรี่เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้ กระบวนการนี้ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากแหล่งภายนอกและสามารถแปรรูปขยะโฟมให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้ในรูปแบบที่ง่ายและไม่ซับซ้อน
นวัตกรรมนี้ยังมีประโยชน์ต่อการใช้งานในอุตสาหกรรมพลังงาน เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าสถิตที่ได้จากโฟมสามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก เซนเซอร์ รวมถึงระบบไฟฟ้าในอุปกรณ์อัจฉริยะ เทคโนโลยีนี้สามารถช่วยลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานฟอสซิลและส่งเสริมการใช้พลังงานที่ยั่งยืนได้
เทคโนโลยีที่เปลี่ยนขยะโฟมเป็นพลังงานไฟฟ้าสถิต นับเป็นก้าวสำคัญในการจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยาก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมการผลิตพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืน ด้วยการเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ให้กลายเป็นพลังงานสะอาด เทคโนโลยีนี้สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และอาจเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาแนวทางจัดการขยะเพื่ออนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
เรียบเรียงโดย ขนิษฐา จันทร์ทร
ที่มาข้อมูล: rmit, interestingengineering, newatlas
ที่มาภาพ: rmit
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech