ช่วงนี้เข้าสู่ช่วง High season แห่งการท่องเที่ยว ผู้คนวางแพลนไปพักผ่อนหย่อนจิตตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการเดินทางไม่ว่าทางใดทางหนึ่งอาจจะรถ เรือ หรือเครื่องบิน เป็นต้น โดยสิ่งที่ตามมาระหว่างเดินทางก็คือ การเมารถ - เมาเรือ หรือเมาเครื่องบิน ได้ ดังนั้นเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว Thai PBS Sci & Tech จึงขอพาไปทำความเข้าใจการ “เมาจากการเคลื่อนไหว” (Motion Sickness) เพื่อการรับมืออย่างถูกจุด
เข้าใจอาการ “เมารถ - เมาเรือ”
“เมารถ - เมาเรือ” เป็นอาการ “เมาจากการเคลื่อนไหว” (Motion Sickness) ซึ่งอาการนี้สามารถเกิดกับการโดยสารยานพาหนะได้ทุกประเภท โดยสาเหตุเกิดจากสมองรับสัญญาณที่ขัดแย้งกันระหว่างสิ่งที่ตามองเห็นกับสิ่งที่ร่างกายรับรู้ เช่น เวลานั่งรถยนต์ร่างกายรับรู้ว่านั่งอยู่กับที่แต่ตากลับมองเห็นว่ามีการเคลื่อนตัว ส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ เวียนหัว อาเจียน แต่เมื่อใดที่ยานพาหนะหยุดเคลื่อนไหว อาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายเป็นปกติ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ยังไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่า ทำไมบางคนเป็น แล้วบางคนไม่เป็น
บุคคลที่อาจมีอาการ “เมารถ - เมาเรือ” ได้มากกว่าผู้อื่น
- เด็กอายุระหว่าง 2-12 ปี
- ผู้หญิงตั้งครรภ์ ใช้ยาคุมกำเนิด และกำลังมีประจำเดือน
- ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวที่มีประวัติเมาจากการเคลื่อนไหว
- ผู้ที่มีประวัติเป็นไมเกรน หรือเป็นโรคพาร์กินสัน
- ผู้มีญาติสายตรงมีอาการเมารถ เมาเรือ จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป (กรรมพันธุ์)
วิธีแก้อาการ “เมารถ - เมาเรือ”
สำหรับคนที่เคยเมารถ หรือเมาเรือ ต้องกังวลใจก่อนการเดินทางทุกครั้ง แต่จริง ๆ แล้ว เราสามารถลดความเสี่ยงการเกิดการเมารถ เมาเรือได้ด้วยเทคนิคดังนี้
- พักผ่อนให้เพียงพอก่อนการเดินทาง หากพักผ่อนไม่เพียงพอจะทำให้เกิดอาการได้ง่าย และรุนแรงขึ้น
- การเดินทางโดยรถให้เลือกที่นั่งด้านหน้า
- การเดินทางโดยเครื่องบินให้เลือกที่นั่งบริเวณปีก หรือเลือกที่นั่งริมหน้าต่างเพื่อสามารถมองออกไปข้างนอกได้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ จำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกาเฟอีน
ใช้เทคนิคเบี่ยงเบนความสนใจ โฟกัสอยู่กับลมหายใจเข้า-ออก หรือฟังเพลง
- ใช้การบำบัดด้วยกลิ่นหอม เช่น การดมยาดม หรือใช้น้ำมันหอมระเหย สามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการเมารถ เมาเรือได้ หรือใช้การอมยาอมก็ช่วยได้เช่นกัน
ป้องกัน “เมารถ - เมาเรือ” ด้วยการใช้ยา
สำหรับคนที่มักมีอาการอาการเมารถ เมาเรืออยู่แล้ว หนึ่งวิธีที่ใช้ป้องกันไม่ให้เกิดอาการนั่นก็คือ “การรับประทานยาป้องกันอาการเมาจากการเคลื่อนไหว” หรือ “ยาแก้เมารถ” ยาที่ใช้ในกลุ่มนี้แบ่งตามการออกฤทธิ์ มี 2 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มยาแก้แพ้ หรือกลุ่มยาต้านฮิสตามีน (antihistamine)
จะออกฤทธิ์โดยจับกับตัวรับฮิสตามีนและต้านการออกฤทธิ์ของสารสื่อประสาทแอซิติลโคลีน (acetylcholine) ยาในกลุ่มนี้จะมีผลข้างเคียงทำให้เกิดการง่วงซึม ยาที่ใช้ในกลุ่มนี้ได้แก่
- Dimenhydrinate เป็นยาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ขนาดรับประทาน 50-100 มิลลิกรัม (1-2 เม็ด) โดยแนะนำรับประทานก่อนออกเดินทางประมาณ 30 นาทีเพื่อให้ยาดูดซึมและออกฤทธิ์ สามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ถ้ายังมีอาการ
- Cyclizine ขนาดรับประทาน 50 มิลลิกรัม รับประทานก่อนออกเดินทาง 1 ชั่วโมง และสามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง
- Meclizine ขนาดรับประทาน 25-50 มิลลิกรัม รับประทานก่อนออกเดินทาง 1 ชั่วโมง และสามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 24 ชั่วโมง
2. กลุ่มยาต้านการออกฤทธิ์ของสารสื่อประสาทแอซิติลโคลีน
โดยมีกลไกเข้าจับกับตัวรับแอซิติลโคลีน ยาในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียงทำให้เกิดการง่วงซึม และผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจจะพบ เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ยาที่ใช้ในกลุ่มนี้ได้แก่
- Scopolamine เป็นรูปแบบแผ่นแปะผิวหนังที่บริเวณหลังใบหู ปริมาณการใช้อยู่ที่ 1 มิลลิกรัม โดยให้แปะ 4-6 ชั่วโมง ก่อนออกเดินทางยาจะค่อย ๆ ออกฤทธิ์ มีผลนาน 3วัน
- Diphenidol มีรูปแบบยาเม็ด ขนาด 25 มิลลิกรัม รับประทาน 1-2 เม็ด ก่อนเดินทาง 30 นาทีและสามารถซ้ำทุก 4-6 ชั่วโมง แต่อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอนในระดับมาก
การรับประทานยาป้องกันอาการเมาจากการเคลื่อนไหว (Motion Sickness) เป็นวิธีการที่ง่ายและได้ประสิทธิภาพดี แต่อย่างไรก็ตามแนะนำให้ปรึกษาเภสัชกรก่อนรับประทานยา โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก คนที่มีโรคประจำตัว สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มา : ผูศ. ดร.ฉัตรชากร เอื้อติวงศ์ ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ และ รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech