ในหลายท่าอากาศยานซึ่งมีทางวิ่งคู่ขนานหรือรันเวย์คู่ขนาน (Parallel Runway) อย่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เรามักจะเข้าใจกันว่ารันเวย์ทั้งสองนั้นถูกใช้พร้อม ๆ กัน แต่ทราบหรือไม่ว่าจริง ๆ แล้ว ท่าอากาศยานหลายท่าอากาศยาน แม้จะมีรันเวย์คู่ขนาน แต่มักจะมีเพียงรันเวย์เดียวที่ถูกใช้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่อาจจะมีการสลับรันเวย์ไปมาได้
การใช้สองรันเวย์พร้อม ๆ กันนั้นเรียกว่า “Simultaneous Parallel Runway Operation” และถูกใช้งานไม่บ่อยครั้งเนื่องจากมีข้อจำกัดรวมถึงกฎที่ต้องปฏิบัติตามเป็นจำนวนมาก
ท่าอากาศยานสร้างรันเวย์คู่ขนานเพื่อเพิ่มปริมาณเที่ยวบินที่ตัวท่าอากาศยานสามารถรับได้ ข้อดีของการมีรันเวย์คู่ขนานคือการจัดการรันเวย์ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น อาจใช้รันเวย์หนึ่งเป็นรันเวย์สำหรับขึ้นบิน และอีกรันเวย์หนึ่งเป็นรันเวย์สำหรับลงจอด หรืออาจใช้ทั้งสองรันเวย์เพื่อการลงจอดอย่างเดียวหรือเพื่อขึ้นบินอย่างเดียวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ๆ ก็ได้ ตามที่แต่ละท่าอากาศยานเห็นสมควร
หากมีเพียงรันเวย์เดียว หมายความว่า เครื่องบินจะต้องสลับกันขึ้นสลับกันลงซึ่งทำให้ปริมาณเที่ยวบินที่รับได้ของท่าอากาศยานนั้นลดลง
อย่างไรก็ตาม อย่างที่ได้กล่าวไปว่ารันเวย์ทั้งสองนั้นมักไม่ถูกใช้พร้อมกัน “ใช้” ในความหมายนี้หมายถึงการเป็น “Active Runway” ซึ่งหมายถึงการมีเครื่องบินอยู่บนทางวิ่ง แต่จะเป็นการสลับกันเป็น Active Runway เสียมากกว่า ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะว่าการมีเครื่องบินสองลำบินขึ้นพร้อมกัน ลงจอดพร้อมกัน หรือเครื่องหนึ่งลงจอด เครื่องหนึ่งขึ้นบินนั้นเป็นความเสี่ยงต่อการรุกล้ำการเว้นระยะ (Separation) และอาจเกิดการชนกันในอากาศขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีบางท่าอากาศยานที่อนุญาตให้มีการใช้ทั้งสองรันเวย์เป็น Active Runway พร้อม ๆ กันได้ จึงทำให้เครื่องบินสองลำสามารถที่จะบินคู่ขนานกันเพื่อลงจอด ขึ้นบิน หรือสวนทางกันได้ เรียกว่า “Simultaneous Parallel Runway Operation”
แต่ก็จะมีกฎและข้อปฏิบัติอื่น ๆ ที่ทั้งทางผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศและลูกเรือของทั้งสองจะต้องปฏิบัติตาม เช่น การเว้นระยะอย่างเข้มงวด การมี Visual Contact กับเครื่องบินอีกลำตลอดเวลา หมายความว่าจะต้องมองเห็นเครื่องบินอีกลำด้วยตาเปล่าตลอดเวลา และการรักษาความเร็วและ Glideslope หรือการร่อนในกรณีลงจอดอย่างเข้มงวด หากข้อปฏิบัติใดต่อไปนี้ถูกละเมิด เครื่องบินลำใดลำหนึ่งจะต้องยกเลิกการขึ้นบินหรือ Go Around (ยกเลิกการลงจอด) ในกรณีลงจอดทันที
เรียบเรียงโดย โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech