ด้วยกระแสมาแรงอันแสนน่ารักน่าเอ็นดูของ “หมูเด้ง” ลูก “ฮิปโปฯ แคระ” ตัวเมียอายุ 2 เดือน ของสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี Thai PBS และ Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำเรื่องน่ารู้ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า “ฮิปโปโปเตมัส” (Hippopotamus) มีเหงื่อสีแดง มาให้ได้เป็นความรู้กัน
โดย “ฮิปโปโปเตมัส” (Hippopotamus) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “ฮิปโปฯ” (Hippopotamus amphibius) เป็นสัตว์กินพืชขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในน้ำ มีผิวหนังหนา ซึ่งเต็มไปด้วยขนเส้นเล็ก กระจายอยู่ห่าง ๆ ปกคลุมทั่วทั้งตัว ขนเหล่านี้ไม่ได้ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายจากแสงแดดเช่นเดียวกับขนของสัตว์อื่น ๆ แต่ทำหน้าที่เป็นอวัยวะรับสัมผัสที่ไวต่อความแห้ง และแสงแดด และหากสังเกตให้ดี จะพบว่าเหงื่อของฮิปโปฯ เป็นของเหลวสีแดง คล้ายสีของเลือด
สีแดงที่เห็นไม่ได้มาจากเลือด แต่เป็นกลไกอย่างหนึ่งที่ช่วยปกป้องผิวของฮิปโปฯ ไม่ให้แห้งและถูกเผาจากแสงแดด ทั้งยังช่วยควบคุมอุณหภูมิร่างกายของตัวฮิปโปฯ “เหงื่อสีแดง” นี้ผลิตจากต่อมใต้ผิวหนัง มีลักษณะเหนียวหนืด ไม่ระเหยเหมือนเหงื่อของสัตว์อื่น ๆ แต่จะเคลือบอยู่บนผิวของฮิปโปฯ ทำหน้าที่คล้ายครีมกันแดด ปกป้องอันตรายจากแสงแดด และดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet Radiation หรือ UV) โดยเริ่มแรกเหงื่อของฮิปโปฯ ไม่มีสี แต่ภายในเวลาไม่กี่นาทีหลังจากหลั่งเหงื่อออกมา เหงื่อจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีแดง จากนั้นโมเลกุลของเม็ดสีหลายโมเลกุลจะมารวมเข้าด้วยกัน (Pigment polymerizes) ทำให้เหงื่อเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลในที่สุด
เมื่อปี พ.ศ. 2547 นักวิทยาศาสตร์พบว่า แท้ที่จริงแล้วเหงื่อสีแดงของฮิปโปฯ ไม่ใช่เหงื่อ แต่เป็นสารประกอบอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนที่ไม่มีวงเบนซีน (Non-benzenoid aromatic) 2 ชนิด โดยชนิดแรกเป็นสารสีแดง เรียกว่า กรดฮิปโปซูโดริก (Hipposudoric acid) และชนิดที่สอง เป็นสารสีส้ม เรียกว่า กรดนอร์ฮิปโปซูโดริก (Norhipposudoric acid) เคลือบอยู่บนผิวหนัง ที่ไม่เพียงทำหน้าที่ป้องกันแสงแดด แต่ยังทำหน้าที่เป็นยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรค รวมถึงบาดแผลของฮิปโปฯ ไม่ให้เกิดการติดเชื้อจนเกิดอันตรายถึงชีวิต เพราะฮิปโปฯ เป็นสัตว์ที่มักต่อสู้อยู่ตลอดเวลา บางครั้งเกิดการบาดเจ็บ และเกิดบาดแผลขนาดใหญ่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อทั้งทางอากาศ และน้ำ
📌อ่าน : ต้านไม่ไหวซุปตาร์ “หมูเด้ง” ฮิปโปแคระเขาเขียว
📌อ่าน : TIME ยก "หมูเด้ง" ไอคอน A-list ฮิปโปแคระสุดปัง
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : bornfree, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech