วันนี้ (9 เม.ย.2568) ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ประกอบกับปัญหาการระบายอุปทาน ที่ผลิตเกินความต้องการในจีน (Oversupply) เป็นปัจจัยกดดันให้เกิดการทะลัก (Flooding) ของสินค้าจีนมายังภูมิภาคต่างๆ รวมถึงไทยและอาเซียน
ผู้บริหาร ส.อ.ท.มองว่า การไหลทะลักเข้าของสินค้าจีน สร้างผลกระทบทำให้ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยลดลง โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภค รวมถึงยังกดดันความสามารถในการแข่งขันด้านราคา

ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เนื่องจากในภาพรวมราคาสินค้านำเข้าจากจีน มีราคาต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย ประมาณ 20-40 % ซึ่งเกิดจากความได้เปรียบด้านต้นทุนและเทคโนโลยีการผลิตของจีน
สินค้าราคาถูกจำนวนมากที่เข้ามาทุ่มตลาดทำให้ผู้บริหาร ส.อ.ท. มีความกังวลว่า ผู้ประกอบการ SMEs ไทยจะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน จนอาจทำให้บางอุตสาหกรรมต้องลดกำลังการผลิตหรือปิดกิจการได้
เอกชนเสนอให้ภาครัฐ เพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มบทลงโทษผู้ที่กระทำความผิด ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย มีปรับขั้นตอนการพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด
และมาตรการตอบโต้การอุดหนุนฯ ให้มีประสิทธิภาพและทันกับสถานการณ์ รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามแจ้งเตือนปริมาณสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงผิดปกติ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ เร่งสร้างจุดแข็งให้กับสินค้าไทย อาทิ การเลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาบริการหลังการขาย
ยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน ตลอดจนมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการผลิต เพื่อลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เพื่อให้สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีนได้
ทั้งนี้จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท.จำนวน 540 คน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 47 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 44 จำนวน 6 คำถาม
สินค้าที่ผลิตในประเทศได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าจากจีนที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดหรือไม่ ซึ่ง 70.9 % บอกว่า ได้รับผลกระทบ จุดแข็งของสินค้าจีนที่สามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดประเทศไทยได้ อันดับ 1 มองว่า ราคาสินค้าที่ต่ำกว่าจากความได้เปรียบด้านต้นทุน และเทคโนโลยีการผลิต 90.7 %
อันดับ 2 : มีความหลากหลายของสินค้า การผลิตแบบ OEM/ODM ที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์ผู้บริโภค 38.5 % อันดับ 3 : สินค้ามีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง 25.0 % และอันดับ 4 : สินค้ามีการปรับปรุงคุณภาพให้ดีมากขึ้นและมีมาตรฐาน 12.6 %
ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อปัญหาสินค้านำเข้าจากจีนและผลกระทบจากสงครามการค้าในเรื่องใด 72.2 % มองว่าสินค้าราคาถูกจำนวนมากที่เข้ามาทุ่มตลาดส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs รองลงมา 52.4 % เป็นการลักลอบนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งผ่านด่านศุลกากรและแพลตฟอร์มออนไลน์ 52.4 %
ส่วนสินค้านำเข้าจากจีน มีส่วนต่างราคาเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับสินค้าไทย 45 % ระบุว่า ราคาต่ำกว่า 20-40 % และ 21.1 % ตอบว่า ราคาต่ำกว่า 10-20 %
นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีมาตรการปกป้องผู้ประกอบการไทยจากสินค้านำเข้าจากจีนอย่างไร 62 % ตอบว่า ควรเพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มบทลงโทษผู้ที่กระทำความผิด และปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย
44.6 % มองว่า ควรปรับขั้นตอนการพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนฯ ให้มีประสิทธิภาพ และทันกับสถานการณ์ รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามแจ้งเตือนปริมาณสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงผิดปกติ
และ ภาคอุตสาหกรรมมีกลยุทธ์แนวทางการปรับตัว เพื่อแข่งขันกับสินค้าจีนอย่างไร 54.6 % มองว่าควรสร้างจุดแข็งให้กับสินค้าโดยการเลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
และยกระดับบริการหลังการขาย และ52.4 % ควรนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการผลิตเพื่อลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
อ่านข่าว:
เปิดขั้นตอน “ทรัมป์” เก็บภาษีไทย 9 เม.ย.ขึ้น 36% เว้นสินค้าที่ลงเรือแล้ว
"สงครามการค้า" ทรัมป์ ขยี้ตลาดเงิน-ทองคำ-หุ้น สะเทือนลงทุนโลก
ทางออกการค้าไทย รับมือภาษีทรัมป์ “พาณิชย์”เร่งปิด FTA ไทย-EU