กำแพงภาษีที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บจากการนำเข้าสินค้าจากหลายสิบประเทศทั่วโลกในอัตราที่สูงกว่า 10% จะเริ่มมีผลบังคับใช้ ท่ามกลางความกังวลถึงผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่โลกเท่านั้น แต่สหรัฐฯ เองก็เจ็บหนักจากมาตรการนี้ด้วย
แม้กำแพงภาษีสินค้านำเข้าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็น่าจะย้อนกลับมาทำร้ายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

ปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์จากหลายสถาบันการเงินต่างออกมาแสดงความกังวลถึงโอกาสในการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่าง JP Morgan ประเมินตัวเลขความเสี่ยงเอาไว้สูงถึง 60% ขณะที่ Goldman Sachs ชี้ถึงปัจจัยที่จะมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ทั้งความไม่แน่นอนของนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลทรัมป์ เงื่อนไขทางการเงิน และความไม่พอใจของผู้บริโภคที่อาจจะเลือกไม่ซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เป็นการตอบโต้
ลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ใช้โอกาสระหว่างการประชุมสภาเมื่อวานนี้ แสดงความผิดหวังอย่างมากต่อการตัดสินใจของสหรัฐฯ ที่บังคับใช้อัตราภาษีนำเข้า 10% กับทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงสิงคโปร์ด้วย ทั้งๆ ที่ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและยาวนาน และนี่ไม่ใช่สิ่งที่จะทำกับเพื่อนได้
นอกจากนี้ ผู้นำสิงคโปร์ยังย้ำด้วยว่า การดำเนินการของสหรัฐฯ ขัดต่อระบบการค้าโลก ซึ่งสหรัฐฯ เป็นผู้ก่อร่างสร้างระบบนี้ขึ้นมาเองกับมือ รวมทั้งยังสร้างรอยร้าวให้กับความสัมพันธ์ของสองประเทศด้วย แต่สิงคโปร์จะไม่ดำเนินมาตรการตอบโต้ทางภาษี และชี้ว่า สงครามการค้าโลกแบบเต็มรูปแบบมีโอกาสเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะนี้
นับตั้งแต่นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการกำแพงภาษีและขู่ว่าจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศในหลายระลอก ซึ่งถ้าสรุปเฉพาะข้อมูลที่มีการประกาศใช้แล้ว จะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ นั่นคือ การตั้งกำแพงภาษีแบบรายประเทศ ตามประเภทสินค้า และภาษีตอบโต้

แบบรายประเทศจะเน้นไปที่ประเทศที่เกี่ยวข้องกับปัญหาผู้อพยพและการลักลอบขนยาเฟนทานิลเข้าสหรัฐฯ ซึ่งแคนาดาและเม็กซิโกโดนภาษีในกลุ่มนี้ตั้งแต่ 10% ถึง 25% ในสินค้าบางประเภท ขณะที่จีนโดนกับสินค้าทุกชนิด 10% ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% แต่จีนยังโดนบวกเพิ่มจากภาษีตอบโต้อีก 2 ขยัก นั่นคือ 34% และ 50% หลังจากจีนไม่ยอมอ่อนข้อให้สหรัฐฯ รวมเป็น 104%
อ่านข่าว : ไทม์ไลน์ 2 มหาอำนาจ "สหรัฐอเมริกา-จีน" งัดข้อตั้งกำแพงภาษี
ส่วนการเก็บภาษีนำเข้าตามประเภทสินค้า ตอนนี้หลักๆ ที่บังคับใช้แล้ว คือ เหล็กและอะลูมิเนียม ที่โดนภาษีนำเข้า 25% ตั้งแต่เมื่อเดือนที่แล้ว ขณะที่สหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากทุกประเทศ 25% เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา และวันนี้ตามเวลาในสหรัฐฯ จะเริ่มเก็บภาษีตอบโต้ทั่วโลกในอัตราที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ หลังจากเริ่มเก็บอัตราภาษีพื้นฐาน 10% ไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
กำแพงภาษีทั้งหมดที่ระบุไปก่อนหน้านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการที่ทรัมป์ประกาศว่าจะบังคับใช้เท่านั้น โดยมาตรการทางภาษีดังกล่าวส่งผลให้อัตราภาษีนำเข้าสินค้าเฉลี่ยของสหรัฐฯ ถีบตัวเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมที่ 2.5% เมื่อปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 16.5% ในปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นอัตราภาษีเฉลี่ยที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1937
แต่ผู้นำสหรัฐฯ ยืนยันว่าจะไม่ยอมถอยในเกมนี้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ชาวอเมริกันเชื่อมั่นและอดทน เพราะความยิ่งใหญ่จะตามมาจากมาตรการเหล่านี้ รวมทั้งยังบัญญัติศัพท์ใหม่ด้วย เป็นคำว่า Panican มาจากคำว่า panic หรือตื่นตกใจ เพื่อใช้เรียกกลุ่มคนที่ทรัมป์บอกว่าทั้งอ่อนแอและโง่เขลา โดยหลายคนตีความว่าทรัมป์ต้องการโจมตีไปที่ชาวรีพับลิกัน ซึ่งออกมาแสดงความกังวลถึงผลกระทบจากมาตรการกำแพงภาษีของเขา

Tax Foundation ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่เก็บข้อมูลนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ จะได้รับจากสงครามการค้าในรอบนี้ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ผลกระทบจากการเก็บภาษีก่อนวันที่ 2 เม.ย. หรือวันแห่งการปลดแอกของอเมริกา กับกลุ่มผลกระทบจากภาษีนำเข้าที่ทรัมป์ประกาศในวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากทุกประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ 10% ไปจนถึง 50% ซึ่งยังไม่นับการประกาศขึ้นภาษีตอบโต้จีนครั้งล่าสุด 50%
ในกลุ่มแรก Tax Foundation ประเมินว่า การเก็บภาษีนำเข้าในกลุ่มนี้จะเพิ่มรายรับให้กับสหรัฐฯ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 10 ปีนับจากนี้ แต่ GDP ของประเทศจะลดลงประมาณ 0.3% ขณะที่การเก็บภาษีนำเข้าตามประกาศในวันปลดแอก จะสร้างรายได้เพิ่มอีก 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใน 10 ปี และมี GDP ลดลง 0.4% ดังนั้น สรุปรวมแล้ว ถ้าโลกไม่ตอบโต้สหรัฐฯ เลย รัฐบาลทรัมป์จะมีรายรับเพิ่มทั้งหมด 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ GDP หดตัว 0.7%
อ่านข่าว : ถึงกำหนด 9 เม.ย. "ทรัมป์" รีดภาษีนานาชาติ ไม่อ่อนข้อ "จีน" ขึ้น 104%
ปัจจุบัน มีเพียงจีน แคนาดาและสหภาพยุโรปเท่านั้น ที่ออกมาประกาศมาตรการตอบโต้ทางภาษีกับสหรัฐฯ ซึ่งถ้ามีการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อภาพรวม GDP ของสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะที่มีการประเมินว่า มาตรการทางภาษีของทรัมป์จะทำให้สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ลดลงมากกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2025 นี้ หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของการนำเข้าทั้งหมด
หลังจากนี้ ต้องรอดูว่าการเจรจาของสหรัฐฯ กับหลายประเทศทั่วโลกจะออกมาในทิศทางไหน จะคุยและตกลงกันได้หรือไม่ และจะมีประเทศไหนประกาศมาตรการตอบโต้เพิ่มเติมอีกหรือเปล่า เพราะดูๆ ไปแล้ว ทรัมป์เหมือนจะยังไม่หยุดแค่เพียงเท่านี้
ทั้งนี้ผ่านมายังไม่ถึง 3 เดือน นับตั้งแต่รับตำแหน่ง แต่ทรัมป์เปิดศึกการค้าไปแล้วทั่วโลก งานนี้ใครจะอยู่ใครจะไป หรือต่างก็เจ็บตัวกันหมดน่าจะได้เห็นกันแน่ๆ
อ่านข่าว :
"สหรัฐฯ-จีน" เปิดสงครามการค้า ยก 2 ?
ถอดถอน "ทรัมป์" บันทึกหน้าใหม่หรือบทเรียนที่อเมริกาไม่เรียนรู้ ?