มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ (Tel Aviv University) ประเทศอิสราเอล เปิดเผยว่าคณะนักวิจัยของอิสราเอลได้พัฒนาวิธีการทางปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตและเป็นใบ้ให้สามารถ “พูด” ได้เพียงแค่คิด
ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ และศูนย์การแพทย์ ซูราสกี เทลอาวีฟ ในวารสารนิวโรเซอร์เจอรี (Neurosurgery) ระบุว่าขั้วไฟฟ้าวัดลึก (depth electrode) ที่ถูกฝังอยู่ในสมองของผู้ป่วยจะส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเปล่งเสียงสองพยางค์ตามที่ผู้ป่วยจินตนาการถึง
คณะนักวิจัยชี้ว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการเชื่อมโยงชนิดของคำกับกิจกรรมของเซลล์ในสมอง ซึ่งอาจเป็นความหวังของผู้เป็นอัมพาตโดยสมบูรณ์จากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคหลอดเลือดสมองตีบ หรืออาการบาดเจ็บทางสมอง ในการแสดงความรู้สึกผ่านคำพูดประดิษฐ์
นอกจากนั้นความก้าวหน้านี้อาจเปิดทางสู่การสร้างคอมพิวเตอร์สำหรับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงระยะแรก ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ป่วยยังสามารถพูดได้ เพื่อการตีความหมายหลังจากผู้ป่วยสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อ
คณะนักวิจัยขอให้ผู้ป่วยที่เข้าร่วมการศึกษา ซึ่งเป็นโรคลมบ้าหมูที่มีขั้วไฟฟ้าฝังอยู่ในสมองก่อนผ่าตัด ออกเสียงพยางค์ “เอ” และ “อี” เพื่อบันทึกกิจกรรมของสมองขณะผู้ป่วยเปล่งเสียง ต่อจากนั้นใช้เทคนิคการเรียนรู้เชิงลึกและการเรียนรู้ของเครื่องมาฝึกฝนต้นแบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อระบุเซลล์สมองจำเพาะที่เกิดกิจกรรมทางไฟฟ้าอันบ่งชี้ความตั้งใจออกเสียงพยางค์ทั้งสอง
เมื่อคอมพิวเตอร์เรียนรู้การจำแนกรูปแบบของกิจกรรมทางไฟฟ้าในสมองของผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับพยางค์ทั้งสองข้างต้นแล้ว คณะนักวิจัยขอให้ผู้ป่วยจินตนาการการออกเสียงพยางค์ทั้งสองเท่านั้น โดยคอมพิวเตอร์จะแปลสัญญาณไฟฟ้าและเล่นเสียง “เอ” และ “อี” ที่บันทึกไว้ก่อนหน้าตามลำดับ
คณะนักวิจัยกล่าวว่าขั้นตอนต่อไปคือทำให้การพูดสมบูรณ์แบบ แม้สองพยางค์ที่แตกต่างกันสามารถช่วยให้ผู้เป็นอัมพาตโดยสมบูรณ์ส่งสัญญาณว่า “ใช่” และ “ไม่ใช่” ได้แล้ว โดยนี่ถือเป็นก้าวสำคัญสู่การพัฒนาส่วนต่อประสานสมอง-คอมพิวเตอร์ ที่สามารถผลิตเสียงพูดออกมาได้
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : aftau, jns, Xinhua
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech