ผิวหนังของเรามีคุณสมบัติกันน้ำได้ แต่ทำไม ? “นิ้วเหี่ยว” หลังจากแช่น้ำนาน ไปฟังคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ ที่มาพร้อมกับข้อดีของ นิ้วมือเหี่ยว - นิ้วเท้าเหี่ยว เมื่อเราเปียกน้ำ
หากเราเทน้ำลงบนมือแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ? คำตอบก็คือน้ำจะไหลออกไม่ซึมทะลุผ่านผิวหนัง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องและดี เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้น การอาบน้ำแต่ละครั้งอาจส่งผลร้ายแรงได้ แต่สิ่งที่ทำให้ นิ้วมือเหี่ยว – นิ้วเท้าเหี่ยว หลังแช่น้ำนาน ๆ นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมุติฐานว่าผิวซึมซับน้ำเอาไว้ (คล้ายกับกระบวนการออสโมซิส) จนมีอาการบวมในบริเวณนั้น แต่ผลของการขยายขนาดของผิวแทนที่จะเป็นอาการบวม กลับกลายเป็นรอยเหี่ยวย่นมากกว่า เนื่องจากเซลล์ผิวด้านล่างของชั้นหนังกำพร้าอันเป็นเซลล์ผิวอ่อนเยาว์อยู่นั้นจะไม่ซึมซับเอาน้ำเข้าไป
ต่อมาในปี 1935 แพทย์ได้สังเกตเห็นเป็นครั้งแรกว่าผู้ป่วยที่ “เส้นประสาทมีเดียน” (median nerve : เส้นประสาทเริ่มต้นบริเวณรักแร้ วิ่งลงมาตามแขนและปลายแขน รับความรู้สึกบริเวณฝ่ามือด้านนิ้วโป้ง ชี้ กลาง นาง) ถูกตัดขาดทำให้ไม่มีนิ้วเหี่ยวย่นเมื่อเปียกน้ำ พร้อมทั้งขึ้นอยู่กับว่าเส้นประสาทได้รับความเสียหายที่ใด ซึ่งเราอาจมีนิ้วเพียงไม่กี่นิ้วที่ไม่เหี่ยวย่น หรืออาจเกิดขึ้นกับมือทั้งมือก็ได้
ทำให้สมมุติฐานผิวซึมซับน้ำเอาไว้อาจยังไม่ใช่คำตอบ พร้อมกับมุ่งเน้นไปที่ “เส้นประสาทมีเดียน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic nervous system) ว่าเส้นประสาทนี้น่าจะเป็นส่วนที่ควบคุมนิ้วมือเหี่ยว - นิ้วเท้าเหี่ยว เมื่อเราเปียกน้ำ โดยเป็นกลไกของร่างกายที่ปรับตัวให้มนุษย์สามารถหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ เมื่อนิ้วมือเปียกได้ถนัดขึ้นนั่นเอง
โดยเหตุผลก็คือ เส้นประสาทมีเดียนซึ่งเกี่ยวข้องกับหน้าที่ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น เหงื่อออก ขณะที่ระบบประสาทซิมพาเทติกมีหน้าที่ในการทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายตื่นตัว เช่น เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ และความดันโลหิต ในทางกลับกัน ระบบนี้จะหน้าที่ตรงกันข้าม โดยควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของเรา เพื่อช่วยในการปรับตัวหยิบของได้ง่ายขึ้นเมื่อมือเปียก โดยพื้นผิวฝ่ามือ - ฝ่าเท้าที่ย่นทำหน้าที่เสมือน “ดอกยาง” ช่วยให้เรายึดเกาะได้ดีขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เปียกชื้น
ส่วนสาเหตุที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมุติฐานว่า ทำไมธรรมชาติจึงไม่ทำให้นิ้วมือ - เท้าเหี่ยวตั้งแต่แรก อาจเป็นเพราะว่า หากนิ้วมือ - เท้าเหี่ยวตลอดเวลา จะทำให้ความสามารถในการสัมผัสของเราลดลง นอกจากนี้ยังอาจเกิดบาดแผลจากการหยิบจับได้ง่ายกว่าอีกด้วย
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : iflscience
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech