ผู้นำประเทศที่เปิดตัวเป็น LGBT และการส่งเสริมความเท่าเทียม


รอบโลก

2 มิ.ย. 67

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

ผู้นำประเทศที่เปิดตัวเป็น LGBT และการส่งเสริมความเท่าเทียม

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1243

ผู้นำประเทศที่เปิดตัวเป็น LGBT และการส่งเสริมความเท่าเทียม
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

มิถุนายน เดือนแห่งสัญลักษณ์ความหลากหลายทางเพศ ปัจจุบันเรื่องราวเพศทางเลือก กลายเป็นเรื่องที่เปิดกว้างมากขึ้น ในทุกแวดวง ทุก ๆ คนสามารถเผย “ตัวตน” ที่เป็นตัวเองได้ทั้งสิ้น 

ไม่เว้นแม้แต่ “ผู้นำประเทศ” ที่หลาย ๆ คนประกาศตัวเรื่องความหลากหลายทางเพศ มากไปกว่านั้น ยังส่งเสริมความเท่าเทียม สร้างสังคมให้มีความหลากหลาย และยอมรับกันและกัน 

Thai PBS ชวนทำความรู้จัก “ผู้นำประเทศ” ที่ประกาศตัวเรื่องความหลากหลายทางเพศ และการส่งเสริมความเท่าเทียมของพวกเขานั้น เป็นอย่างไร ?

อานา เบอร์นาบิช (Ana Brnabić)

อานา เบอร์นาบิช ผู้นำเซอร์เบีย

นายกรัฐมนตรีแห่งเซอร์เบีย เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ปี 2017 จนถึงปัจจุบัน อานา ถือเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเซอร์เบีย รวมทั้งยังเป็นนายกฯ ที่เป็นเลสเบียนคนแรกของเซอร์เบียด้วยเช่นกัน 

ก่อนจะเข้าสู่แวดวงการเมือง อานา ทำงานด้านการลงทุน หลังจากนั้นจึงเริ่มต้นทำงานทางการเมือง และรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการบริหารราชการและการปกครองตนเองระดับท้องถิ่นในปี 2016 ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2017

แม้ว่าปัจจุบัน เซอร์เบียจะยังไม่ยอมรับการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน รวมทั้งกฎหมายอื่น ๆ แต่มีความพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมชาวเซอร์เบีย โดยหนึ่งในการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ๆ คือการที่ผู้นำอย่างอานา เข้าร่วมเดินขบวนไพร์ดพาเหรดของเซอร์เบียที่เรียกว่า “Belgrade Pride”

ลีโอ วารัดการ์ (Leo Varadkar)

ลีโอ วารัดการ์ ผู้นำไอร์แลนด์

ลีโอ วารัดการ์ เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไอร์แลนด์ถึง 2 สมัย โดยเข้ารับตำแหน่งในสมัยแรก ช่วงปี 2017-2020 และสมัยที่สอง ตั้งแต่ปี 2022 จนถึงปัจจุบัน นอกจากเป็นนายกฯ ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของไอร์แลนด์ (ขึ้นดำรงตำแหน่งตอนอายุ 38 ปี) วารัดการ์ยังได้ประกาศว่าตัวเองเป็นเกย์

วารัดการ์ เปิดเผยถึงสถานะทางเพศของตัวเองผ่านสถานีวิทยุท้องถิ่นของไอร์แลนด์ ก่อนหน้าที่จะมีวาระการลงประชามติเรื่อง “การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน” ในไอร์แลนด์ ทำให้ในเวลาต่อมา ไอร์แลนด์กลายเป็นประเทศที่ยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกันเป็นประเทศแรกของโลก

ช่วงเวลาที่ วารัดการ์ ดำรงตำแหน่งผู้นำไอร์แลนด์ นอกจากเขาจะมีส่วนในการส่งเสริมความเท่าเทียม และร่วมสนับสนุนการลงประชามติเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ทำให้คนเพศเดียวกันได้แต่งงานกันแล้ว ยังรณรงค์เรื่องการทำแท้งถูกกฎหมาย โดยครั้งหนึ่งเจ้าตัวเคยกล่าวเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้ไว้ว่า

"ผมภาคภูมิใจที่ทำให้ประเทศมีความเท่าเทียมและทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิเด็ก ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ความเท่าเทียมกันของผู้หญิง และความเป็นอิสระทางร่างกาย”

ซาเวียร์ เบตเทล (Xavier Bettel)

ซาเวียร์ เบตเทล ผู้นำลักเซมเบิร์ก

ซาเวียร์ เบตเทล เป็นนายกรัฐมนตรีแห่งลักเซมเบิร์ก ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 2 สมัย นับตั้งแต่ปี 2013-2023 ซาเวียร์ได้รับการขนานนนามว่า เป็นนายกรัฐมนตรีที่เปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์คนแรกของโลก รวมทั้งมีส่วนในการผลักดันกฎหมายสมรสในเพศเดียวกัน จนผ่านมติเห็นชอบ 56 ต่อ 4 เสียง 

กฎหมายสมรสเพศเดียวกันในลักเซมเบิร์ก มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2015 ต่อมา ซาเวียร์ ได้แต่งงานกับ โกธิเยร์ เดสเตเนย์ (Gauthier Destenay) สถาปนิกชาวเบลเยียม ทำให้เขากลายเป็นหัวหน้ารัฐบาลของประเทศในสหภาพยุโรปประเทศแรกที่แต่งงานกับคู่รักเพศเดียวกัน 

ครั้งหนึ่ง ซาเวียร์เคยกล่าวถึงเพศสภาพบนเวทีสหประชาชาติว่า “Being gay is not a choice but not accepting it is a choice. Homophobia is a choice and we have to fight against it!” 

“การเป็นเกย์ไม่ใช่ทางเลือก แต่การไม่ยอมรับคือทางเลือก โรคเกลียดกลัว LGBTQ+ ก็เป็นทางเลือก และเราทุกคนมีหน้าที่จะต่อสู้กับมัน”

เอ็ดการ์ ริงเกวิคส์ (Edgars Rinkevics)

เอ็ดการ์ ริงเกวิคส์ ผู้นำลัตเวีย

พฤษภาคม ปี 2022 ลัตเวียได้ประธานาธิบดีคนใหม่ เขามีชื่อว่า เอ็ดการ์ ริงเกวิคส์ โดยก่อนหน้านี้ เจ้าตัวดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2011 ก่อนที่ในปี 2014 เขาได้ประกาศตัวว่ามีรสนิยมแบบชายรักชาย (Gay)

เมื่อวันที่มีการลงมติให้ ริงเกวิคส์ เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของลัตเวีย เจ้าตัวได้แถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชนว่า เขาจะทำให้ลัตเวียเป็นประเทศที่มีความเสมอภาค พร้อมย้ำอีกครั้งในวันสาบานตน โดยแสดงจุดยืนสนับสนุนให้สหภาพแรงงานมีความเป็นกลางทางเพศมากขึ้น

“ลัตเวียเป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตย เสรี และเป็นประชาธิปไตย พลเมืองทุกคนในลัตเวีย ต้องรู้สึกถึงความเป็นสมาชิกของประเทศ รวมทั้งต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และมีความปลอดภัย” 

เปาโล รอนเดลลี (Paolo Rondelli)

(ซ้ายมือ) เปาโล รอนเดลลี อดีตผู้นำซานมารีโน

เปาโล รอนเดลลี เป็นอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งสาธารณรัฐซานมาริโน ดำรงตำแหน่งในช่วงเมษายน ปี 2022 –  ตุลาคม 2022 ก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นรองสภาทั่วไปของซานมารีโน และเคยเป็นทูตที่สหรัฐอเมริกาจนถึงปี 2016

ตลอดระยะเวลาการทำงาน เปาโล รอนเดลลี ถือเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ จนทำให้นักกิจกรรมด้านสังคมมากมายต่างชื่นชม กระทั่งเขาได้ขึ้นเป็นประมุขแห่งสาธารณรัฐซานมาริโน ในปี 2022 และถือเป็นช่วงเวลาสำคัญแห่งการรณรงค์เรื่องสิทธิความเท่าเทียมกลุ่มความหลากหลายทางเพศ

อย่างไรก็ตาม ซานมารีโนรับรองกฎหมายคู่รักเพศเดียวกันมาตั้งแต่ปี 2016 ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ หลังจากกลุ่มรักร่วมเพศไม่เป็นที่ยอมรับ และมักถูกลงโทษมาตลอดจนถึงปี 2004

ซาเวียร์ เอสโปต์ ซาโมรา (Xavier Espot Zamora)

ซาเวียร์ เอสโปต์ ซาโมรา ผู้นำอันดอร์รา

อีกหนึ่งผู้นำที่ประกาศตัวว่าเป็นเกย์ นั่นคือ ซาเวียร์ เอสโปต์ ซาโมรา นายกรัฐมนตรีแห่งอันดอร์รา เขาเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2019 ก่อนจะประกาศต่อสาธารณชนว่าเป็นเกย์ในปี 2023 

ครั้งหนึ่ง ซาโมรา เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่ได้ปิดบังตัวตน แต่ขณะเดียวกัน การออกมาเปิดเผยตัวตน ก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นปัญหาแต่อย่างใด พร้อมยังตอกย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพใดก็ตาม ทุกคนในประเทศนี้ สามารถเจริญก้าวหน้าได้ 

ซาโมราไม่เพียงแค่พูด แต่เขายังลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ระหว่างนั้น เขาผลักดันให้เกิดกฎหมายการแต่งงานในคู่รักเพศเดียวกัน ตลอดจนกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ และสิทธิของคนข้ามเพศในการเปลี่ยนเพศได้ตามกฎหมาย 

ด้วยความมุ่งมั่นของ ซาโมรา ส่งผลให้อันดอร์ราเป็นประเทศที่อยู่ในอันดับที่ 24 จาก 49 ประเทศในยุโรป ที่ให้ความสำคัญ และให้การยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศในยุโรป

แกเบรียล อัททาล (Gabriel Attal)

แกเบรียล อัททาล นายกฯ ฝรั่งเศส

ต้นปี 2024 เอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส แต่งตั้ง แกเบรียล อัททาล เป็นนายกรัฐมนตรี โดยก่อนหน้านี้ เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งฝรั่งเศสครั้งนี้ ทำให้ แกเบรียล อัททาล เป็นนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส ด้วยวัยเพียง 34 ปี

อัททาลเปิดตัวว่าเป็นชาวเพศทางเลือก ส่งผลให้เขาเป็นหนึ่งในนักการเมือง LGBTQIA+ ที่โดดเด่น และถูกจับจ้องมาตลอด ย้อนเวลากลับไป อัททาลสนใจการเมืองตั้งแต่อายุ 17 ปี จากการฝึกงานในกระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการตอนอายุ 29 ปี และรับตำแหน่งโฆษกรัฐบาลในช่วงวิกฤตโควิด

ต่อมา อัททาล ก้าวสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและเยาวชนระดับชาติ ด้วยผลงานที่โดดเด่น ส่งให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของฝรั่งเศสที่มีเพศวิถีเป็นเพศหลากหลาย (LGBTQ) 

ปัจจุบัน อัททาล มีคู่สมรสภายใต้การรับรองของกฎหมาย คือ สเตฟาเน เซจูเน ในส่วนหน้าที่การงาน เขายังได้รับการยอมรับว่าเป็นนักสื่อสารที่ดี ครองใจคนรุ่นใหม่ รวมถึงกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ

“ในฐานะนายกรัฐมนตรี ผมจะทุ่มเททุกวิถีทางเพื่อความสำเร็จ มันจะเป็นภารกิจที่มีความสำคัญสูงสุดของผมในฐานะหัวหน้ารัฐบาล”

โลกเปิดกว้าง ด้วยความเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นความรักแบบไหน ความชอบแบบใด ทุกคนล้วนมีสิทธิที่จะเลือกในความชอบของตนเอง เพียงเคารพกฎหมาย ไม่ทำร้าย และไม่สร้างปัญหาให้ผู้อื่น

แหล่งข้อมูล
-https://www.bbc.com/news/world-europe-68616372
-https://www.creativethailand.org/article-read?article_id=34050
-https://www.thepinknews.com/2022/04/05/paolo-rondelli-san-marino-gay-lgbt-head-of-state/
-https://www.thepinknews.com/2023/09/12/andorras-prime-minister-gay-xavier-espot-zamora/

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ผู้นำประเทศ LGBTอานา เบอร์นาบิชลีโอ วารัดการ์ซาเวียร์ เบตเทล เอ็ดการ์ ริงเกวิคส์ เปาโล รอนเดลลี ซาเวียร์ เอสโปต์ ซาโมรา แกเบรียล อัททาล LGBTQIAN+
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด