17 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันความดันโลหิตสูงโลก” (World Hypertension Day) ซึ่งกำหนดโดย สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกได้ตื่นตัวและตระหนัก พร้อมเห็นถึงความสำคัญของการป้องกัน “โรคความดันโลหิตสูง” ด้วยเหตุนี้ Thai PBS และ Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำบทความ น่ากลัวกว่าที่คิด ชวนห่างไกล “ความดันโลหิตสูง” มาให้ความรู้ เพื่อย้ำเตือนให้ทุกคนระลึกถึงอันตรายจาก “ความดันสูง” แล้วปฏิบัติตัวให้ห่างไกลจากโรคดังกล่าว
พาไปรู้จัก “ความดันโลหิตสูง”
“Hypertension” หรือ “ความดันโลหิตสูง” เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ถือเป็นโรคที่น่ากลัวต่อร่างกายและพบได้บ่อย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวเนื่องจากไม่มีสัญญาณของอาการบ่งบอกอย่างชัดเจน “โรคความดันโลหิตสูง” สามารถก่อให้เกิดความเสียหายและเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดงจนนำไปสู่การแข็งตัว การอุดตันของหลอดเลือด หากได้รับการรักษาที่ล่าช้าอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต โรคหัวใจ รวมถึงไตวายเรื้อรังได้
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า “ความดันปกติ” หรือเปล่า ?
จะรู้ได้จากค่าความดันของกระแสเลือดที่เกิดจากกระบวนการสูบฉีดเลือดของหัวใจเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยค่าความดันโลหิตสามารถวัดได้ 2 ค่า ได้แก่
- ค่าความดันช่วงบน (Systolic Blood Pressure (SBP)) คือ ค่าความดันโลหิตจากการบีบตัวของหัวใจ
- ค่าความดันช่วงล่าง (Diastolic Blood Pressure (DBP)) คือ ค่าความดันโลหิตจากการคลายตัวของหัวใจ
ซึ่งหากเกิดความผิดปกติของค่าความดันโลหิต เราจะเรียกภาวะนั้นว่า “ความดันโลหิตสูง” หรือ “ความดันโลหิตต่ำ”
เท่าไหร่..เสี่ยง “ความดันสูง”
ทั้งนี้เราสามารถเช็กว่าเป็นความดันโลหิตสูงได้หรือไม่ โดยการวัดความดันโลหิต หากมีค่าความดันซิสโตลี (ค่าความดันตัวบน) มากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท (mm/Hg) หรือ ค่าความดันไดแอสโตลี (ค่าความดันตัวล่าง) มากกว่าหรือเท่ากับ 90 (mm/Hg) โดยวัดในขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะพัก นั่นหมายถึงคุณกำลังมีอาการของโรคความดันโลหิตสูง
“ความดันโลหิตสูง” มี 3 ระดับ
ระดับที่ 1 ความดันโลหิตสูงระยะเริ่มแรก ค่าความดันโลหิต ระหว่าง 140-159/90-99 มม.ปรอท
ระดับที่ 2 ความดันโลหิตสูงระยะปานกลาง ค่าความดันโลหิต ระหว่าง 160-179/100-109 มม.ปรอท
ระดับที่ 3 ความดันโลหิตสูงระยะรุนแรง ค่าความดันโลหิต มากกว่า 180/110 มม.ปรอทขึ้นไป
สำหรับการวัดความดันโลหิตควรจะวัดขณะนั่งพัก วัดด้วยเทคนิคที่ถูกต้องและควรวัดซ้ำ 2-3 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นความดันโลหิตสูงจริง ๆ
ปัจจัยเสี่ยงความดันเลือดสูง
- อายุ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นความดันเลือดจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
- อารมณ์ หากผู้ป่วยมีความเครียดจะส่งผลให้ความดันเลือดสูงผิดปกติ
- ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูง
- การรับประทานเกลือมากเกินไป
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือภาวะไขมันในเลือดสูง
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- สูบบุหรี่
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
“ความดันโลหิตสูง” มีอาการอย่างไร ?
ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการ จะทราบว่ามีความดันเลือดสูงต่อเมื่อได้ทำการวัดความดันเลือดเท่านั้น อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการ เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน เหนื่อยง่ายได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความดันเลือดสูงและปล่อยไว้เป็นเวลานานก็อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่อวัยวะสำคัญต่าง ๆ ในร่างกาย ได้แก่ สมอง หัวใจ ไต ตา และหลอดเลือด ส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานไม่เป็นปกติ
นอกจากนี้ “ความดันโลหิตสูง” อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ 2 กรณีด้วยกันคือ
1. ภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงโดยตรง ได้แก่ภาวะหัวใจวายหรือหลอดเลือดในสมองแตก
2. ภาวะแทรกซ้อนจากหลอดเลือดแดงตีบหรือตัน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจจะทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ หลอดเลือดสมองตีบ เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือหลอดเลือดแดงในไตตีบมากถึงขั้นไตวายเรื้อรังได้
อันตรายอย่างไร ? เมื่อคุณเป็น “ความดันโลหิตสูง”
สำหรับโรค “ความดันโลหิตสูง” จะทำให้เกิดความเสียหายแก่อวัยวะสำคัญต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นสมอง หัวใจ ไต ตา และหลอดเลือดในร่างกาย เป็นสาเหตุที่สำคัญของโรคต่าง ๆ เช่น โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต โรคหัวใจ โรคไต ซึ่งนำมาสู่ภาวะทุพพลภาพและการเสียชีวิตได้
ควรทำอย่างไร ? เมื่อเป็น “โรคความดันโลหิตสูง”
นอกจากการกินยาแล้ว เราสามารถปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูงได้ รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องการลดความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติโดยไม่ต้องพึ่งยา ดังนี้
1. ลดน้ำหนัก
2. ออกกำลังกาย (ให้เหมาะสมตามช่วงอายุรายบุคคล)
3. กินอาหารที่มีประโยชน์
4. หลีกเลี่ยงกินอาหารรสชาติเค็ม เค็มจัด
5. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
6. งดสูบบุหรี่
7. นั่งสมาธิ ฝึกจิตใจ อารมณ์ (ผลวิจัยทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เมื่อนั่งสมาธิต่อเนื่อง ความดันโลหิตจะลดลง)
8. ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้อยู่เพราะมียาบางตัวทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ ปรึกษาแพทย์ถ้าต้องใช้ยาคุมกำเนิด
การรักษา “ความดันโลหิต” นั้นถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่อาจเกิดตามมา หากทราบว่าคุณเสี่ยงเป็น “โรคความดันโลหิตสูง” ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัย ตรวจภาวะหัวใจโต ตรวจภาวะไตเสื่อม และตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะ รวมถึงตรวจหาโรคร่วมที่มาพร้อมกับความดันโลหิตสูง เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น นอกจากนี้ควรปฏิบัติ 8 ข้อตามที่ได้แนะนำไป เพื่อที่คุณจะห่างไกล-ปลอดภัยจากอันตรายของ “ความดันโลหิตสูง”
แหล่งอ้างอิง : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ, โรงพยาบาลบางปะกอก 3, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech