8 เมษายน 2567 จะเกิดปรากฏการณ์ "สุริยุปราคาเต็มดวง" ที่ทวีปอเมริกาเหนือ ครั้งสุดท้ายก่อนต้องรอไปอีก 20 ปี Thai PBS Sci & Tech พาไปดูว่าสิ่งที่ต้องรู้ก่อนดู มีอะไรบ้าง และชมสดได้ที่ไหน
สุริยุปราคาเต็มดวง ครั้งสุดท้าย ก่อนต้องรอไปอีก 20 ปี
ความพิเศษของการเกิด "ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง" ในวันที่ 8 เมษายน 2567 ครั้งนี้ จะเป็นครั้งหนึ่ง หรืออาจจะเป็นครั้งที่สองในชีวิตของใครบางคน เพราะดวงจันทร์จะโคจรเข้าใกล้โลกมากพอที่จะบดบังดวงอาทิตย์จนหมด หลังจากนี้ จะไม่มีสุริยุปราคาเต็มดวงให้เห็นอีกจากฟากฟ้าในสหรัฐอเมริกา อีก 2 ทศวรรษ หรือ 20 ปี จนกว่าจะถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2587
ในครั้งนี้ ดวงจันทร์จะเข้าใกล้โลกมากกว่าครั้งก่อน ทำให้เกิดพื้นที่ที่ปรากฏกว้างขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นมากขึ้น เส้นทางดังกล่าวจะมีความกว้างระหว่าง 108-122 ไมล์ ทำให้ผู้คนราว 31.6 ล้านคนได้เห็นภาพที่จากที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ เมื่อเทียบกับเมื่อปี 2560 มีผู้คนประมาณ 12 ล้านคนที่ได้เห็นปรากฏการณ์นี้
ไทม์ไลน์การเกิด "สุริยุปราคาเต็มดวง"
สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้ เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 30/71 ชุดซารอสที่ 139 เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 22.42 น. ของวันที่ 8 เมษายน 2567 ตามเวลาประเทศไทย เงามืดของดวงจันทร์จะเริ่มสัมผัสพื้นโลกบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่เวลาประมาณ 23.39 น. ของวันที่ 8 เมษายน ตามเวลาประเทศไทย
ก่อนจะมาถึงเมืองมาซาตลัน ประเทศเม็กซิโก จากนั้นจะเดินทางต่อไปทั่วประเทศก่อนที่จะข้ามเข้าสู่สหรัฐอเมริกา และตัดเส้นทางทแยงมุมข้าม 15 รัฐ ตั้งแต่รัฐเท็กซัสไปจนถึงรัฐเมน และผ่านไปยังประเทศแคนาดา และสิ้นสุดคราสเต็มดวงบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกของนิวฟันด์แลนด์ ในเวลาประมาณ 02.55 น. ของวันที่ 9 เมษายน ตามเวลาประเทศไทย
โดยจุดที่เกิดคราสเต็มดวงนานที่สุดอยู่บริเวณเมืองตอร์เรออน ประเทศเม็กซิโก ระยะเวลานานถึง 4 นาที 28 วินาที และอยู่ระหว่าง 3.5 ถึง 4 นาทีในสถานที่อื่นๆ โดยเงาของดวงจันทร์จะพ้นจากโลกโดยสมบูรณ์เวลาประมาณ 03.52 น. ของวันที่ 9 เมษายน ตามเวลาประเทศไทย
ช่องทางรับชมแบบสด ๆ ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง
NASA มีเครื่องมือแผนที่ เรียกว่า “Eclipse Explorer” ที่เป็นประโยชน์ และมีข้อมูล เพิ่มเติม บนเว็บไซต์เกี่ยวกับเวลาที่คราสทั้งหมด โดยจะสามารถมองเห็นได้จากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง
ผู้คนในบางภูมิภาคที่อยู่นอกเส้นทางจะยังคงสามารถเห็นคราสบางส่วนได้ ซึ่ง Eclipse Explorer ก็ได้อธิบายเช่นกันว่า สภาพอากาศก็มีบทบาทสำคัญ บางพื้นที่โชคไม่ดี อาจจะมีเมฆมาบดบังทิวทัศน์อันสวยงามได้ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในเส้นทางที่คราสเคลื่อนผ่านก็ตาม
สามารถติดตามการเคลื่อนตัวของสุริยุปราคาได้ที่ https://eclipse-explorer.smce.nasa.gov/ หรือชมสดผ่าน NASA ได้ที่ https://youtu.be/AwlGxVcVNNw
ข้อควรระวังเมื่อดูสุริยุปราคาเต็มดวง
"สุริยุปราคาเต็มดวง" เป็นสุริยุปราคาประเภทเดียวที่ผู้ชมสามารถถอดแว่นดูสุริยะออกได้ชั่วขณะ ซึ่งเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์จนหมด แต่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า "ควร" ใส่แว่นดูสุริยะราคาตลอดระยะเวลาของการเกิดคราส
ผู้เชี่ยวชาญของนาซา ระบุว่า แม้ว่า 99% ของพื้นผิวดวงอาทิตย์ (โฟโตสเฟียร์) จะถูกบดบังในช่วงบางส่วนของสุริยุปราคา แต่ดวงอาทิตย์เสี้ยวที่เหลือก็ยังคงมีความเข้มข้นพอที่จะทำให้เกิดแผลไหม้ที่จอประสาทตาได้ ดังนั้นจอประสาทตาอาจเสียหายก่อนที่จะรู้ตัว และเมื่อถึงตอนนั้น ก็สายเกินไปที่จะรักษาแล้ว
คำเตือนที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ "แว่นกันแดด" ไม่ได้ช่วยอะไร และยังทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นด้วยเพราะทำให้รูม่านตาใหญ่ขึ้น และรังสีดวงอาทิตย์สร้างความเสียหายได้มากขึ้น
ดังนั้น การดูสุริยุปราคา จะต้องมีแว่นตาสุริยุปราคาที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับสุริยุปราคาบางส่วน หรืออีกทางเลือกหนึ่ง สามารถสร้างกล้องรูเข็มชั่วคราวที่บ้านได้
จับตาปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ
สิ่งที่นักดาราศาสตร์สนใจศึกษา ได้แก่ “โคโรนา” ซึ่งเป็นส่วนนอกสุดของชั้นบรรยากาศดวงอาทิตย์ มองเห็นได้เฉพาะตอนเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเท่านั้น และ “ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์” (Baily's beads) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ดวงจันทร์เคลื่อนมาบังดวงอาทิตย์เกือบหมด หรือระหว่างที่กำลังบังกันสนิท เพื่อเทียบเคียงลักษณะภูมิประเทศบนดวงจันทร์จาก และปรากฏการณ์ทางแสง ต่าง ๆ ในช่วงก่อนและหลังเกิดปรากฏการณ์ เป็นต้น
ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งต่อไป จะเกิดขึ้นในวันที่ 12 สิงหาคม 2569 ผ่านประเทศสเปน มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ประเทศไอซ์แลนด์ ประเทศกรีนแลนด์ บริเวณขั้วโลกเหนือ และบางส่วนของประเทศรัสเซีย
สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่สามารถสังเกตได้ในประเทศไทย จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 สิงหาคม 2570 เห็นเป็น “ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน” สังเกตได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ในช่วงเย็นก่อนดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ตั้งแต่เวลาประมาณ 17.54 - 18.45 น. ตามเวลาประเทศไทย ดวงอาทิตย์ถูกบังมากที่สุดบริเวณภาคใต้ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ประมาณร้อยละ 28
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์สุริยุปราคาในวันที่ 8 เมษายน 2567 ไม่ได้ส่งผลต่อการเกิดลมสุริยะ หรือพายุสุริยะแต่อย่างได้ และยังไม่มีข้อมูลการแจ้งเตือนถึงพายุสุริยะจาก NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) ในวันดังกล่าว
ที่มาข้อมูล : NASA , The Verge และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech