รายรับ-รายจ่ายตำรวจไม่พอ-หรือใช้เงินเกินตัว ระบุช่องทางกู้เงินมากเกินไปทำให้ผ่อนไม่ไหว
วันนี้ (8 ส.ค.2558) จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร ภาค 4 ถูกให้ออกจากราชการจำนวน 5 นาย หลังจากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่าเพราะเหตุใดเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีหนี้สินจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ได้สอบถามนายตำรวจระดับสารวัตรในพื้นที่ภาคกลางนายหนึ่ง ถึงการใช้จ่ายเงินและรายได้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทราบว่า รายได้ที่ตำรวจได้รับเพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นระดับสัญญาบัตรหรือระดับประทวน แต่หากพิจารณาในระดับชั้นประทวนที่มีรายได้น้อยกว่า ก็ยังอยู่ในระดับที่เพียงพอและไม่ขัดสน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ตำรวจชั้นประทวนที่มีการปรับขึ้นเงินเดือนมากขึ้นกว่าในอดีตค่อนข้างมาก
สารวัตรคนดังกล่าวระบุถึงการบริหารค่าใช้จ่ายของข้าราชการตำรวจระดับประทวนว่า ตำรวจระดับประทวน ระดับพลตำรวจขณะนี้จะมีเงินเดือนที่สูงกว่าในอดีต ขณะนี้เงินเดือนประมาณ 8,000 บาท ค่าครองชีพ 1,700 บาท เงินประจำตำแหน่ง ประมาณ 3,000 บาท รวมแล้วเดือนละประมาณ 12,000 บาท เมื่อรวมกับรายได้อื่นๆ ที่ได้รับเช่น ส่วนแบ่งจากค่าปรับจราจรอีกร้อยละ 60 ของค่าปรับ หรือค่าส่วนแบ่งจากรางวัลนำจับยาเสพติด ค่าเบี้ยเลี้ยงเฉลี่ยประมาณ 700 - 800 บาทต่อเดือน และการหารายได้พิเศษ อาทิ การรักษาความปลอดภัยร้านค้าทอง ธนาคาร ในช่วงหลังจากการเข้าเวรปกติและการรักษาความปลอดภัยด้วยการนำขบวน ซึ่งจะมีรายได้ครั้งละ 500 – 1,000 บาท สรุปรายได้เฉลี่ยของตำรวจชั้นประทวนจะอยู่ที่ประมาณ 15,000 - 22,000 บาทต่อเดือน และหากตำรวจประกอบอาชีพเสริมอื่นๆ เช่น ค้าขายก็อาจจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก
ส่วนรายจ่าย เบื้องต้นจะเป็นการหักกองทุนบำเหน็จข้าราชการ (กบข.) และฌาปนกิจสงเคราะห์ รวมแล้วประมาณ 500 บาทต่อเดือน รายจ่ายในแต่ละเดือนก็จะมีค่าอาหารประมาณ 7,000 - 8,000 และค่าโทรศัพท์ประมาณ 1,000 บาท หากผ่อนรถก็จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 7,000 - 8,000 บาท หรือในช่วงแรกอาจจำเป็นต้องซื้อปืนพกซึ่งราคาประมาณ 40,000 บาท ก็มีสวัสดิการในการซื้อหรือวิทยุสื่อสารก็มีราคาอยู่ที่ประมาณ 1,000 – 3,000 บาท
ซึ่งจะมีเงินเหลือจำนวนหนึ่งที่สามารถเก็บออมได้ เนื่องจากมีสวัสดิการอื่นๆ รองรับทั้งที่พัก (บ้านพัก-แฟลตตำรวจ) ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร พื้นฐานของตำรวจจึงถือว่าค่อนข้างดี หากไม่มีการใช้จ่ายเงินเกินตัว ดื่มสุรา หรือเล่นการพนัน เนื่องจากหากมีวินัยก็จะสามารถดูแลการเงินของตนเองได้
“ตำรวจมีสวัสดิการและพื้นฐานที่ค่อนข้างดีหากเทียบกับอาชีพอื่นๆ แม้ว่าอาจจะแตกต่างบ้างหากเทียบกับหน่วยราชการอื่นๆ แต่เมื่อเทียบกับบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ราชการ ถือว่ามีต้นทุนสูงกว่าตำรวจมาก ทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็ยากกว่าข้าราชการ” สารวัตรคนเดิมกล่าว
นอกจากนี้ ตำรวจยังมีการปรับขึ้นเงินเดือนทุกปีในชั้นประทวนอยู่ที่ประมาณ 500 – 600 รวมถึงการปรับเพิ่มเงินเดือนตามอัตราเงินเฟ้อ อีกประมาณร้อยละ 4
“ปัญหาเรื่องของการใช้จ่ายส่วนหนึ่งมาจากการใช้เงินเกินตัว หรือการกู้เงินที่เกินทั้งกู้เงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ กู้จากธนาคารออมสิน และมีการตกแต่งบัญชีเพื่อกู้ซ้อน ทำให้เป็นปัญหาด้านการเงินตามมา เพราะค่ารถในการปฏิบัติภารกิจมีรถของราชการ”
แหล่งข่าวอีกคนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นประทวน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ของตำรวจจะแยกย่อยเป็นหลายหน่วยงาน โดยมีทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจแห่งชาติ จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจกองปราบปราม จำกัด และในต่างจังหวัดจะมีสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจประจำจังหวัด แต่ตำรวจแต่ละนายจะสามารถสมัครสมาชิกได้เพียง 1 แห่งเท่านั้น ไม่สามารถสมัครซ้ำซ้อนได้ ซึ่งตำรวจแต่ละนายจะสามารถสมัครสมาชิกได้ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งพลตำรวจ หรือระดับสัญญาบัตร ด้วยการซื้อหุ้น แต่จะสามารถกู้เงินได้เมื่อสมัครครบ 4 เดือนขึ้นไป สามารถกู้เงินได้ 10 เท่าของเงินเดือน และต้องมีตำรวจมาเซ็นค้ำประกัน 2 คน ซึ่งตำรวจแต่ละนายจะสามารถค้ำประกันเงินกู้คนอื่นได้ไม่เกิน 2 คน แต่ถ้าเป็นสมาชิกมาเป็นระยะเวลา 10 ปีขึ้นไปจะสามารถกู้เงินได้สูงสุด 80 เท่าของเงินเดือน
ส่วนวัตถุประสงค์การกู้เงินจะเป็นการระบุไว้ แต่ไม่ละเอียดมากนัก เช่น จะนำเงินไปซื้อบ้าน ซ่อมแซมบ้าน หรือวัตถุประสงค์อื่นใด และสมาชิกจะได้รับเงินกู้เป็นเงินสดเท่าจำนวนที่ขอกู้ไป สามารถนำไปใช้จ่ายได้โดยอิสระ ซึ่งสหกรณ์จะกำหนดมาว่าจะต้องชำระหนี้สินเป็นจำนวนเท่าไหร่ต่อเดือน เป็นระยะเวลากี่ปี ปกติกำหนดชำระหนี้สินสูงสุดไม่เกิน 8 ปี
ทั้งนี้ สมาชิกสามารถกู้เงินได้อีกครั้ง หลังจากชำระหนี้สินไปแล้ว 2 ปี เช่น พลตำรวจจะมีเงินเดือนประมาณ 8,000 บาท เมื่อสมัครสมาชิกมาแล้ว 4 เดือน สามารถกู้ได้ 10 เท่าของเงินเดือน จะได้ยอดเงินกู้ 80,000 บาท แต่เมื่อชำระหนี้สินครบ 2 ปี เท่ากับ 16,000 บาท ผ่านไป 2 ปี เมื่อเงินเดือนของพลตำรวจคนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 บาท และเป็นสมาชิกสหกรณ์มาแล้ว 2 ปี จะสามารถกู้ได้ 50 เท่าของเงินเดือน จะได้ยอดเงินกู้ 450,000 บาท แต่เมื่อนำไปหักจากยอดหนี้สินเดิมที่ยังไม่ได้ชำระที่ 64,000 บาท จะสามารถกู้เงินใหม่เป็น 386,000 บาท
แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวด้วยว่า การโยกย้ายไปรับตำแหน่งอื่นไม่จำเป็นต้องย้ายสหกรณ์ที่เป็นสมาชิก เนื่องจากจะมีการหักผ่านทางหน่วยงานในสังกัดใหม่อยู่แล้ว
ด้านพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงเรื่องปัญหาหนี้สินข้าราชการตำรวจในพื้นที่ภาค 4 ที่พบตำรวจ 5 นาย ถูกดำเนินคดีห้องล้มละลายและต้องออกจากราชการว่า ได้ รายงานจากผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 แล้วข้อมูลเบื้องต้นเป็นหนี้ธนาคารออมสินและเป็นการกู้ยืมใช้ส่วนตัว นอกจากที่คดีสิ้นสุด5 นาย ยังมีข้าราชการตำรวจที่เป็นหนี้อีกกว่าหมื่นราย ในจำนวนนี้อยู่ในข่ายถูกดำเนินคดี 2,000 นาย และเข้าข่ายถูกฟ้องล้มละลาย 600 นาย
ขณะที่การสำรวจทั่วประเทศพบว่า ในแต่ละกองบัญชาการตำรวจภูธรพบว่ามี ตำรวจกู้ยืมเงินภาคละ 20,000 คน และมีตำรวจที่เป็นหนี้สินที่อยู่ในข่ายถูกฟ้องล้มละลายอีกกว่า 2,000 ราย ซึ่งตามระเบียบข้าราชการเมื่อถูกฟ้องล้มละลายจะต้องออกจากราชการ สำหรับ 5 นาย ที่ภาค 4 คือคดีสิ้นสุดแล้วและยังมีอีก 600 นายที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการถูกฟ้องล้มละลาย
“การกู้ยืมเงินของตำรวจแต่ละนายพบว่า กู้ยืมเงินเป็นหลักล้านและปัญหาเหล่านี้เกิดมาในแต่อดีต ซึ่งเกิดจากการทำสัญญาร่วมลงนามกู้ยืมกับธนาคารออมสิน ให้ตำรวจกู้ยืมและค้ำประกัน ระหว่างข้าราชการตำรวจด้วยกันเอง ทั้งที่ปกติกู้เงินจากสหกรณ์ตำรวจอยู่แล้ว ทำให้เกิดการกู้ยืมเงิน ซ้ำซ้อนจนไม่สามารถหาเงินมาผ่อนชำระหนี้ได้”
ผบ.ตร.กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เจ้าหน้าที่สวัสดิการเข้าเจรจาไกล่เกลี่ยกับสถาบันการเงินแล้ว แต่ธนาคารไม่สามารถรถลดหย่อนหนี้สินหรือลดหย่อนใดใดให้ได้ เนื่องจากต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสถาบันการเงิน
กดถูกใจหน้าเพจ ThaiPBSNews
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl