แพทย์เตือนห้ามกลืนเม็ดกระท้อน เสี่ยงอุดตัน-บาดลำไส้ อันตรายถึงชีวิต
นพ.กรกฤษณ์ เลาหศักดิ์ประสิทธิ์ นายแพทย์ชำนาญการ แผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ เปิดเผยกับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่าเมื่อวันที่ 15 ก.ค.2558 ได้มีผู้ป่วยเป็นชายวัย 50 ปี เข้ารับการผ่าตัดฉุกเฉินเนื่องจากกลืนเม็ดกระท้อนจำนวนมาก ซึ่งตนได้ผ่าตัดนำเม็ดกระท้อนจำนวน 14 เม็ด ที่อุดตันลำไส้ออก ขณะนี้คนไข้ปลอดภัยแล้ว
นพ.กรกฤษณ์กล่าวว่า กรณีนี้ไม่ใช่กรณีแรก ช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีผู้สูงวัยในต่างจังหวัดที่มีพฤติกรรมกลืนกินเม็ดกระท้อน เข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2558 หลังจากผลผลิตกระท้อนเริ่มวางจำหน่ายเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน ทางโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ผ่าตัดคนไข้แล้ว 4 ราย ซึ่งชายวัย 50 ปีที่กลืนเม็ดกระท้อนมากถึง 14 เม็ดเป็นผู้ป่วยคนล่าสุด
สภาพเม็ดกระท้อนไม่เหลือปุยนุ่มลื่นที่อุดตันอยู่ในลำไส้
นพ.กรกฤษณ์กล่าวว่า พฤติกรรมการกลืนเม็ดกระท้อนเป็นพฤติกรรมที่เคยชินของคนสูงวัย เฉลี่ยอายุ 50-60 ปี ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์คิดว่าไม่อันตรายเพราะเม็ดกระท้อนมีปุยหนาลื่นเคลือบไว้ แต่เมื่อผ่านกระบวนการย่อยแล้วจะเหลือเพียงขั้วหัวท้ายที่คมแข็ง เมื่อลำไส้บีบตัวก็จะปักที่ผนังลำไส้ทำให้ลำไส้ทะลุ นอกจากนี้เปลือกเม็ดกระท้อนไม่สามารถย่อยได้ อีกทั้งผู้สูงวัยมักมีพยาธิสภาพในลำไส้ เช่น ติ่งเนื้อหรือกระเปาะลำไส้ ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เม็ดกระท้อนอุดตันลำไส้ได้ง่าย
"หากเม็ดกระท้อนปักลำไส้จนลำไส้ทะลุ เชื้อโรคในลำไส้และอุจจาระจะไหลออกมาปนเปื้อนก่อให้เกิดการติดเชื้อในช่องท้อง ซึ่งเพียงแค่ 1-2 วัน ก็สามารถทำให้คนไข้เสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ที่ทานเม็ดกระท้อนต้องสังเกตตัวเอง หากปวดท้องรุนแรงและมีไข้ควรรีบมาพบแพทย์ ส่วนกรณีอุดตันลำไส้เพียง 1-2 วัน คนไข้จะเกิดอาการท้องอืดท้องแน่น ไม่ขับถ่าย คลื่นไส้ อาเจียนและจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิตได้ในเวลาต่อมา ดังนั้น เมื่อมีอาการควรรีบมาพบแพทย์เช่นกัน" ศัลยแพทย์ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ระบุ
นพ.กรกฤษณ์ เลาหศักดิ์ประสิทธิ์ แผนกศัลยกรรม รพ.สวรรค์ประชารักษ์
นพ.กรกฤษณ์เตือนผู้บริโภคทุกช่วงอายุว่าไม่ควรกลืนเม็ดกระท้อน เพราะมีความเสี่ยงถึงชีวิต อีกทั้งวิธีการรักษาต้องผ่าตัดอย่างเดียว หลังจากผ่าตัดแล้วทั้งกรณีลำไส้ทะลุหรืออุดตัน ยังต้องยกลำไส้ใหญ่มาไว้ที่หน้าท้องเพื่อให้อุจจาระผ่านหน้าท้องระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้การอักเสบในช่องท้องดีขึ้น และตรวจสอบไม่ให้เม็ดกระท้อนตกค้าง ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อและต้องดูแลอย่างใกล้ชิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อปี 2557 ชายสูงวัยอายุ 51 ปี ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต้องเข้ารับการผ่าตัดลำไส้ด่วนที่โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากมีการปวดท้องรุนแรงเพราะกลืนเม็ดกระท้อนเข้าไป 25-30 เม็ด โดยอาการปวดท้องเกิดขึ้นหลังจากกลืนเม็ดกระท้อนแล้ว 7-10 วัน