ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชู “4 จตุรเทพ” ว่อนโซเชียล มั่นใจสกัด “กาสิโน” อยู่หมัด

การเมือง
24 เม.ย. 68
14:58
2,257
Logo Thai PBS
ชู “4 จตุรเทพ” ว่อนโซเชียล มั่นใจสกัด “กาสิโน” อยู่หมัด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การประชุม กมธ.วิสามัญ ศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร วุฒิสภานัดแรก วันที่ 23 เม.ย. เสมือนเป็นจุดเริ่มต้น ของ สว.และวุฒิสภา ที่เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับกาสิโน อันเป็นส่วนหนึ่งในเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ต้องการผลักดันให้เป็นจริง

เท่ากับจะได้แสดงบทบาทเพื่อสะท้อนปัญหาในอีกด้านหนึ่งของกาสิโน ที่รัฐบาลเคยพูดถึง ทั้งที่การศึกษาเรื่องนี้ เคยทำมาก่อนหน้านี้แล้ว

กมธ.กิจการวุฒิสภา และสว.ส่วนหนึ่ง รวมตัวแถลงจุดยืนนี้ ตั้งแต่ 8 เมษายน 2568 ก่อนหน้าร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงฯ จะเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนฯ 9 เมษายน 1 วัน ทั้งระบุว่า หาก สส.คนใดโหวตรับร่าง สว.จะยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตรวจสอบปมจริยธรรม เท่ากับยื่นสอยจากเก้าอี้ สส.

ไม่เพียงตั้ง กมธ. มีกรอบเวลา 180 วัน เพื่อระดมความเห็นจากนักวิชาการ และผู้รู้ เพื่อรวบรวมผลกระทบทุกด้าน ความคุ้มค่าเศรษฐกิจ รวมถึงความเหมาะสมจำเป็น เพื่อรายงานสรุปผลเสนอต่อวุฒิสภา และยืนยันต่อสภาผู้แทนฯ เท่านั้น วุฒิสภา ยังให้เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ และให้มีการทำประชามติ ก่อนเสนอร่างกฎหมายเข้าสภา คือให้ถามประชาชนว่า จะเอาหรือไม่เอากาสิโน ไม่ใช่รวบรัดมัดมือชก

ที่น่าสนใจไม่ต่างกัน คือ สว.หลายกลุ่ม ทั้งที่เชื่อมโยงถึงพรรคค่ายสีน้ำเงิน สว.พันธุ์ใหม่ และ สว.กลุ่มอิสระ จากเดิมที่มีคว่ามเห็นแตกต่างกันแทบทุกเรื่อง กลับมีความเห็นสอดคล้องกันคือคัดค้านกาสิโน

กรรมาธิการวิสามัญชุดนี้มี 35 คน เป็นสัดส่วนคนนอกถึง 12 คนด้วย ทั้งนักวิชาการ อดีตบิ๊กข้าราชการ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย นายตำรวจใหญ่ อดีตข้าราชการการเมือง ในจำนวนนี้ มีชื่อ นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีต สว. ศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักเศรษฐศาสตร์ อดีต สว. และนายคำนูณ สิทธิสมาน อดีต สว.

เป็นที่มาของ 4 จตุรเทพ ที่ชาวเน็ตตั้งสมญาให้ และมีการแชร์กันมากในโลกโซเชียลขณะนี้

เพราะเชื่อว่า 4 จตุรเทพ ที่แต่ละคนมีโปรไฟล์ไม่ธรรมดา มีบทบาทเป็นที่ยอมรับของผู้คน และมีจุดยืนตรงกันไม่เอาบ่อนกาสิโน จะเป็นผู้มีบทบาทชัดเจนในการศึกษารวบรวมเรื่องนี้ กระทั่งกาสิโน ซึ่งเป็นความต้องการของใครบางคนที่มีอำนาจตัวจริงในรัฐบาล จะกลายเป็นเพียงแค่ความฝัน

แม้ว่าที่ผ่านมา จะมีกลุ่มวิชาชีพและกลุ่มพลังต่าง ๆ ทยอยเปิดจุดยืนไม่เอากาสิโน แต่รัฐบาลยังปากกล้าขาสั่น ปฏิเสธไม่ใช่เป็นการถอย พร้อมจะเดินหน้าต่อ แค่รอเวลาเสียงต้านอ่อนแรง

ความจริง การขยับของ 4 จตุรเทพ ส่งผลสะท้านสะเทือนต่อฝ่ายที่ต้องการผลักดันจนสะดุด และต้องหันซ้ายหันขวา คอยระแวดระวังไม่น้อย อย่างกรณี อ.แก้วสรร เคยเขียนบทความเรื่อง “โคตรบ่อน” ในโครงการสถานบันเทิงครบวงจรของรัฐบาล เนื้อหาบางตอน ว่า

ถาม โครงการสถานบันเทิงครบวงจรของนายทักษิณ เป็นหมุดหลักที่จะช่วยเศรษฐกิจไทยให้ลืมตาอ้าปากได้เป็นแสนล้าน แล้วพวกอาจารย์พากันไปค้านทำไม รัฐไม่ได้ จะให้เปิดบ่อนสั่ว ๆ แบบแถวชายแดน พม่า ลาว เขมร นะครับ

ตอบ “กาสิโน” ในโครงการนี้ ตัวจริงคือบ่อนพนันที่ทำให้ถูกกฎหมาย มีการลงทุนจริงจังเป็นพันเป็นหมื่นล้าน มีสิ่งแวดล้อมในทางอุบายเสริมแต่งช่วยส่งแรงดึงดูดลูกค้า ทั้งผีพนันและบรรดาแมงเม่าให้บินเข้าไปเล่นกับไฟอย่างสนุกเพลิดเพลิน ทำอย่างนี้ จะเรียกอย่างไรก็เป็นบ่อนอยู่ดี แต่ต่างกับบ่อนกระจอกๆ ตรงที่เป็น “โคตรบ่อน”

ขณะที่นายเจิมศักดิ์ก็เคลื่อนไหวคัดค้านกาสิโนอย่างต่อเนื่อง ทั้งวิพากษ์แนวคิดเปิดกาสิโนในไทยว่า ไร้คุณค่าทางเศรษฐกิจอย่างที่กล่าวอ้าง เป็นการนำแนวคิดเดิมในยุครัฐบาลนายทักษิณกลับมาอีกครั้ง ตั้งข้อสังเกตว่า การผลักดันเรื่องแบบนี้มักเกิดขึ้น เมื่อฝ่ายกุมอำนาจรัฐตกอยู่ในภาวะ “จนตรอก” ทั้งทางการเงินและทางปัญญา

ถือเป็นการซ้ำเติมปัญหาสังคม ขณะที่นักการเมืองเห็นแก่เงิน ละเลยมองข้ามผลกระทบต่อครอบครัว

ขณะที่ ศ.พิเศษ จรัญ เป็นที่ทราบดีว่า “ตรงแบบไม้บรรทัด” ถือศีลกินเจเคร่งครัด ส่วนนายคำนูน บทบาทและจุดยืนทั้งในและนอกสภา ต่างรู้กันดี

4 จตุรเทพ จึงกลายเป็นที่คาดหวัง เป็นหัวขบวนให้กับการขับเคลื่อน เพื่อสกัดกั้นการรอจังหวะเดินหน้าต่อของรัฐบาล ที่ขับเคลื่อนโดยพรรคเพื่อไทย ที่ตระหนักว่า นโยบายเศรษฐกิจเรื่องอื่น ๆ ไม่บรรลุเป้าอย่างที่คุยโวไว้ จึงเหลือเพียงกาสิโนถูกกฎหมายเท่านั้น ที่จะก่อให้เกิดมรรคผลได้เพื่ออ้างเป็นผลงานขับเคลื่อนในทางการเมืองต่อไปได้

คนจึงแชร์ภาพ 4 จตุรเทพ ในโลกโซเชียลอย่างแพร่หลายและด้วยความหวัง อย่างที่เห็นอยู่ในขณะนี้

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

อ่านข่าว : มูลนิธิสัตว์ มองข้อบัญญัติคุมเลี้ยงสัตว์ ตัดโอกาส "หมา-แมวจร" ได้บ้านใหม่

ตั้งข้อสังเกตปมนอมินี หลังพบข้อมูลปี 67 จีนผุด 300 บริษัทในไทย

เทรนด์เลี้ยงสัตว์ยังโต จาก เลี้ยงแบบสมาชิกในครอบครัว - สู่ช่วยสร้างรายได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง