ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

7 วันอันตรายสงกรานต์ 5 วัน ตายสะสม 171 กทม.มากสุด 15 คน

สังคม
16 เม.ย. 68
11:31
581
Logo Thai PBS
7 วันอันตรายสงกรานต์ 5 วัน ตายสะสม 171 กทม.มากสุด 15 คน
7 วันอันตรายสงกรานต์ 5 ตายสะสม 171 คน อุบัติเหตุ 1,216 ครั้ง บาดเจ็บรวม 1,208 คน พบกทม.ตายมากสุด 15 คน ปภ.ปรับแผนรองรับการเดินทางเส้นทางกลับ กทม.ถนนสายหลักรถเริ่มแน่น

วันนี้ (16 เม.ย.2568) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2568 แถลงข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2568 ประจำวันที่ 15 เม.ย.นี้ 2568 ซึ่งเป็นวันที่ 5 การรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” พบว่าสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เม.ย.2568 เกิดอุบัติเหตุ 214 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 209 คน ผู้เสียชีวิต 27 คน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 36.92 ดื่มแล้วขับ 31.31 และทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 20.09 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.32 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 87.38 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 36.45 ถนนในอบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 33.18 ถนนกรมทางหลวงชนบท ร้อยละ 14.95

ขณะที่ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 18.01-21.00 น. ร้อยละ 22.90 เวลา 15.01–18.00 น. ร้อยละ 20.56 และเวลา 00.01–03.00 น. ร้อยละ 13.55 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 20.34 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,764 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,039 คน

โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ (10 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ 13 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก 3 คน

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ 11-15 เม.ย.นี้ เกิดอุบัติเหตุรวม 1,216 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,208 คน ผู้เสียชีวิต รวม 171 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 21 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พัทลุง 44 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ ลำปาง 47 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กทม.15 คน

รับมือประชาชนเดินทางกลับทำงาน 

นายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ในฐานะประธานการประชุมอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี กล่าวว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และสถิติการได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ภาพรวมลดลงกว่าปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุดยังคงเป็นการขับรถเร็วและดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะ จึงจำเป็นต้องกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น

อ่านข่าว รบ.เข้มงวด ดูแล ปชช.เดินทางกลับหลังสงกรานต์

โดยเฉพาะขับขี่ยานพาหนะโดยใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและการดื่มแล้วขับอย่างเข้มข้นทั้งในช่วงเทศกาลและตลอดทั้งปี เพื่อป้องกันและลดพฤติกรรมเสี่ยงหลักในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนลงให้ได้มากที่สุด

วันนี้เป็นวันหยุดชดเชยช่วงเทศกาลสงกรานต์วันสุดท้าย จะมีประชาชนเดินทางกลับเข้าสู่กทม.และจังหวัดใหญ่ตามภูมิภาคต่าง ๆ จำนวนมาก ทำให้ถนนหลายสายมีปริมาณรถเป็นค่อนข้างมาก จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้

ศปถ.จึงได้ประสานจังหวัดปรับแผนการดำเนินงานสร้างความปลอดภัยทางถนนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยบูรณาการตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง อาสาสมัคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ บริหารจัดการจราจรและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนตลอดเส้นทาง

โดยเฉพาะจังหวัดที่มีเส้นทางเข้าสู่กทม.และภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงถนนที่มีการจราจรหนาแน่น ให้เร่งระบายรถ เปิดช่องทางพิเศษ ปิดจุดกลับรถ ปรับสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับช่วงเวลาในการเดินทางของประชาชน อีกทั้งให้เจ้าหน้าที่ประจำจุด ตรวจเข้มงวดการเรียกตรวจยานพาหนะในเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุ

โดยเฉพาะเส้นทางตรงระยะทางไกล ซึ่งผู้ขับขี่มักจะใช้ความเร็วสูงในการขับขี่ อีกทั้งประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการง่วงแล้วขับ ตลอดจนอำนวยความสะดวก ดูแลความปลอดภัยของประชาชน ตรวจสอบประชาชนและนักท่องเที่ยวในสถานีขนส่งต่าง ๆ ให้เกิดความเรียบร้อย

พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความ พร้อมของพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะและรถขนส่งสินค้าให้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด รวมถึงตรวจสอบสภาพรถให้มีความพร้อมในการเดินทาง เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร

หันใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น

นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางมาใช้การขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยประชาชนเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้น 7%

ขณะที่มีการเดินทางโดยระบบรางและทางอากาศเพิ่มขึ้นกว่า 30% และได้เพิ่มจำนวนเที่ยวการเดินทางทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นทางถนน ทางราง และทางอากาศ ควบคู่ไปกับการดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนตลอดการเดินทาง โดยการตั้งจุดเช็ก Point ทั่วประเทศ

โดยดำเนินการตรวจสอบยานพาหนะ ทั้งรถโดยสารสาธารณะ รถไฟ เรือ และตรวจสอบผู้ขับขี่และพนักงานให้บริการ ต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่กินยาที่มีฤทธิ์กดประสาท เป็นสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุจากการหลับใน 

รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมของผู้ขับขี่รถโดยสารอย่างเข้มงวด รวมถึงการติดตามการเดินรถด้วยระบบ GPS Tracking และกล้องเลเซอร์ หากพบผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรจะดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย 

อ่านข่าว

7 วันอันตรายสงกรานต์ 4 วันตาย 138 บาดเจ็บ 1,002 คน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง