เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2568 ภาพความเคลื่อนไหวของกราฟดัชนีตลาดหลักทรัพย์ดาวโจนส์ของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงการซื้อขายในแดนลบเกือบตลอดทั้งวัน หลังเปิดการซื้อขายในเช้าวันจันทร์ที่ 7 เม.ย. ตามเวลาท้องถิ่นที่สหรัฐฯ เป็นวันที่ 3 ที่หุ้นดิ่งฮวบและนักลงทุนยังคงเทขายอย่างต่อเนื่อง
ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 17 จากสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อช่วงเดือนธันวาคม และสุดท้ายปิดตลาดลบร้อยละ 0.91
ส่วนดัชนี S&P 500 ร่วงลงร้อยละ 20 ในช่วงการซื้อขายระหว่างวัน เมื่อเทียบกับดัชนีปิดตลาดสูงสุดที่ทำสถิติไว้เมื่อเดือน ก.พ. ซึ่งสะท้อนว่าตลาดกำลังเข้าสู่ภาวะซบเซา โดยปิดตลาดลบร้อยละ 0.23 ส่วน Nasdaq ปิดตลาดบวกร้อยละ 0.1
แต่จะมีช่วงหนึ่งของการซื้อขายที่ตลาดพลิกกลับมาอยู่ในแดนบวกในช่วงสั้น ๆ เพราะมีข่าวลือว่า ปธน.สหรัฐฯ กำลังพิจารณาระงับมาตรการภาษีนาน 90 วัน แต่ว่าพอทำเนียบขาวออกมาแก้ข่าวในเวลาไม่นาน หุ้นก็ร่วงกลับมาเหมือนเดิม

ภาษีสหรัฐฯ กระเทือนตลาดหุ้นเอเชีย-ยุโรปเจ็บหนัก
ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ยุโรปก็สะเทือนไปถ้วนหน้าไม่แพ้กัน โดยทำสถิติต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ดัชนีหุ้นเยอรมนี เปิดตลาดลบร้อยละ 10 และมีจุดหนึ่งที่ลงไปลบถึงร้อยละ 20 ก่อนจะค่อย ๆ ฟื้นตัว ขณะที่ดัชนีฟุตซี 100 ของอังกฤษเปิดตลาดลดลงร้อยเกือบร้อยละ 6
ส่วนสถานการณ์ตลาดหลักทรัพย์ทั่วเอเชีย วานนี้ปิดตลาดแดนลบทั้งสิ้น ดัชนี Nikkei 225 ของญี่ปุ่นปรับตัวลดลงต่ำสุดร้อยละ 9 ในช่วงเปิดตลาด ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค.2566 ก่อนจะปิดตลาดที่ลบร้อยละ 7.8 ดัชนีคอสปิเกาหลีใต้ ร่วงลงร้อยละ 5.57 ต่ำสุดตั้งแต่ 1 พ.ย.2566 และเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบวัน ตั้งแต่ 5 ส.ค.2567
ดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกง ปิดตลาดดิ่งลงร้อยละ 13.22 ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบวัน นับตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินเอเชียหรือวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 เช่นเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน ปรับตัวลดลง ร้อยละ 9.7 นับตั้งแต่ช่วงเปิดตลาด ซึ่งร่วงลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ จนต้องประกาศใช้มาตรการระงับการซื้อขายชั่วคราวเพื่อป้องกันความผันผวน

แต่ไม่ว่าตลาดโลกจะผันผวนขนาดไหน ในทางกลับกัน โดนัลด์ ทรัมป์ ปธน.สหรัฐฯ ยืนกรานไม่มีแผนจะระงับมาตรการภาษี เพื่อเปิดทางให้ได้เจรจากับประเทศต่าง ๆ
อ่านข่าว : เศรษฐกิจ "เอเชีย" วิกฤตเกิดคาด ภาษีทรัมป์ฉุด "หุ้นร่วง" ทั่วโลก
ทรัมป์ขู่ขึ้นภาษีจีนอีก 50% เอาคืนมาตรการตอบโต้
นอกจากนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ยังขู่จีนเพิ่ม โดยโพสต์ข้อความผ่านทรูธ โซเชียล จะขึ้นภาษีจีนอีกร้อยละ 50 ถ้าจีนไม่ถอนแผนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้มาตรการภาษีที่ทรัมป์ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า ถ้าจีนไม่ยกเลิกการประกาศขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐฯ ที่ร้อยละ 34 ภายในวันที่ 8 เม.ย.ตามเวลาท้องถิ่นที่สหรัฐฯ เขาจะขึ้นภาษีสินค้าจีนอีกร้อยละ 50 ในวันที่ 9 เม.ย.
ถ้าการตอบโต้กันไปมาระลอกนี้เกิดขึ้นจริง สินค้านำเข้าจากจีนในสหรัฐฯ อาจโดนภาษีถึงร้อยละ 104 คือร้อยละ 20 เดิมที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีจีนตอบโต้การปล่อยให้เฟนทานิลทะลักเข้าประมาณ บวกกับร้อยละ 34 ที่เป็นภาษีต่างตอบแทนซึ่งจะบังคับใช้วันที่ 9 เม.ย. และบวกอีกร้อยละ 50 ที่สหรัฐฯ จะโต้กลับมาตรการภาษีตอบโต้จากจีน ตามการชี้แจงของทำเนียบขาว รวมแล้ว 20+34+50 เป็นร้อยละ 104
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังประกาศว่าการเจรจาใด ๆ กับจีนจะถูกยกเลิกด้วย และเปิดทางให้ชาติอื่น ๆ ที่ร้องขอได้เจรจากับสหรัฐฯ ทันที

ส่วนท่าทีจีนต่อเรื่องนี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า การข่มขู่ ไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้องในการรับมือกับจีน และจีนจะปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของชาติ
อียูเผยภาษีสหรัฐฯ กระทบสินค้า 380,000 ล้านยูโร
ขณะที่ผลกระทบของมาตรการภาษีในสหภาพยุโรป กรรมาธิการการค้า ระบุว่า กระทบสินค้าส่งออกมูลค่า 380,000 ล้านยูโร
โดยคณะกรรมาธิการยุโรปกำลังร่างมาตรการตอบโต้และกำลังส่งไปรับจากพิจารณาจากประเทศสมาชิก โดยกำหนดลงมติในวันที่ 9 เม.ย. ก่อนจะรับรองรายการสินค้าที่จะขึ้นภาษีตอบโต้วันที่ 15 เม.ย. ซึ่งจะทำให้มีผลบังคับใช้ทันทีสำหรับมาตรการชุดแรก ก่อนที่จะมีมาตรการชุดที่ 2 อีกระลอก 15 พ.ค.
ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานอ้างข้อมูลเอกสารภายใน ระบุว่า อียูเสนอขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ บางรายการ ร้อยละ 25 เพื่อตอบโต้การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ โดยจะครอบคลุมสินค้าหลายรายการ ตั้งแต่เพชร ไข่ ไหมขัดฟัน ไส้กรอก จนถึงผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก แต่ไม่รวมสุรา Bourbon, ไวน์ และ ผลิตภัณฑ์นม

ขณะที่ล่าสุดตัวเลขของบรรดาประเทศที่ติดต่อเข้าไปขอเจรจากับสหรัฐฯ เพิ่มจาก 50 เป็นกว่า 60 ประเทศแล้ว และ 1 ในนั้นที่น่าจะได้เป็นผู้นำโลกคนแรกซึ่งได้เจรจาเรื่องนี้กับทรัมป์ หนีไม่พ้น "เบนจามิน เนทันยาฮู" นายกรัฐมนตรีอิสราเอล
เนทันยาฮู ที่ไปถึงสหรัฐฯ วานนี้ เข้าพบทรัมป์ที่ทำเนียบขาวแล้ว เป็นการเยือนครั้งที่ 2 แล้วตั้งแต่ทรัมป์รับตำแหน่ง สะท้อนความใกล้ชิดของ 2 ผู้นำ แต่ไม่ว่าจะชิดเชื้อขนาดไหน อิสราเอลก็จะเจอภาษีร้อยละ 17 จากมาตรการปลดแอกสหรัฐฯ ของทรัมป์ ในวันที่ 9 เม.ย. นี้อยู่ดี ซึ่งจากการหารือวันนี้ ดูเหมือนทรัมป์ จะยังไม่ได้ตกปากรับคำ ว่าจะไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากอิสราเอล

อ่านข่าวอื่น :
กทม.เปิดเกณฑ์เยียวยาแผ่นดินไหว ค่าซ่อมบ้านไม่เกิน 49,500 บาท
ถ้าไม่โหวตก็ขับพ้นรัฐบาล! สรวงศ์ยัน "ทักษิณ" ไม่ได้สั่ง