แม้ผ่านมาแล้วเกือบ 1 สัปดาห์ นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศตั้งกำแพงภาษีครั้งใหญ่ แต่ตลาดโลกยังปั่นป่วนรุนแรง ขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกคิดหาวิธีเพิ่มแต้มต่อในการเจรจากับสหรัฐฯ
ท่าทีของนานาชาติที่มีต่อการประกาศตั้งกำแพงภาษีของทรัมป์ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่พร้อมตอบโต้กลับด้วยกำแพงภาษีและมาตรการอื่นๆ ซึ่งมีทั้ง จีน แคนาดาและสหภาพยุโรป (EU) ขณะที่อีกกลุ่มเน้นไปที่การขอเปิดเจรจา หรือแม้กระทั่งมีท่าทียอมอ่อนข้อให้กับสหรัฐฯ ซึ่งมักจะเป็นประเทศที่ไม่ได้มีแต้มต่อในการเจรจามากนัก แต่ประเทศต่างๆ จะเพิ่มอำนาจต่อรองของตัวเองได้อย่างไร

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดตัวเลขอัตราภาษีนำเข้าที่จะเรียกเก็บจากประเทศคู่ค้าทั่วโลก เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2025
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดตัวเลขอัตราภาษีนำเข้าที่จะเรียกเก็บจากประเทศคู่ค้าทั่วโลก เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2025
รัฐมนตรีกระทรวงการลุงทุน การค้าและอุตสาหกรรมมาเลเซีย ตั้งโต๊ะแถลงข่าวในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประกาศท่าทีของมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน ที่จะแก้ปัญหาในครั้งนี้ผ่านความร่วมมือกับอาเซียนชาติอื่นๆ โดยมาเลเซียเรียกประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดพิเศษในวันที่ 10 เม.ย.นี้ หารือเกี่ยวกับมาตรการขั้นต่อไปเพื่อรับมือกับกำแพงภาษี
อ่านข่าว : ทรัมป์สุมไฟเพิ่ม! ขู่ไม่คุยจีน ขึ้นภาษีรวม 104% หากไม่หยุดตอบโต้
ขณะที่อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ออกมาเรียกร้องให้ชาติอาเซียนจับมือกันให้มั่น พร้อมทั้งสั่งการให้เจ้าหน้าที่มาเลเซียประสานพูดคุยกับเพื่อนสมาชิกอาเซียน เพื่อรับทราบจุดยืนของแต่ละประเทศ รวมทั้งขับเคลื่อนนโยบายร่วมกันเป็นกลุ่ม
ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้นำมาเลเซียออกมาแสดงจุดยืนในลักษณะนี้ เพราะก่อนหน้านี้อันวาร์ก้าวออกมามีบทบาทนำในฐานะประธานอาเซียน เพื่อเร่งหาวิธีรับมือกับวิกฤตและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทั้งภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการต่อสายพูดคุยกับผู้นำอาเซียนชาติอื่นๆ ทั้งสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไนและเวียดนาม

อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียนปี 2025
อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียนปี 2025
"เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ถือเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีของทรัมป์ไปแบบเต็มๆ เนื่องจากภูมิภาคนี้มีโรงงานผลิตสินค้าขนาดใหญ่ในระดับโลกหลายเจ้ามาตั้งฐานการผลิต ดังนั้นจึงไม่แปลกที่สหรัฐฯ จะขาดดุลการค้ากับประเทศในอาเซียนก้อนโต ซึ่งตามมาด้วยกำแพงภาษีที่ถูกตั้งขึ้นสูงลิบในหลายประเทศ
สูงที่สุดคือกัมพูชา ถูกตั้งภาษี 49% ตามด้วยลาว 48% เวียดนาม 46% แม้จะไม่ได้ถูกตั้งภาษีสูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน แต่ผลกระทบที่ตามมาอาจรุนแรงที่สุด เนื่องจากเวียดนามส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของ GDP ทั้งประเทศเมื่อปี 2024 ขณะที่สิงคโปร์ถูกตั้งภาษี 10% ซึ่งต่ำที่สุดในอาเซียน หากมองภาพรวมทั้งหมดนี้จะเห็นว่าแต่ละประเทศต่างเจ็บตัวจากกำแพงภาษีเหมือนกัน แต่เจ็บหนักแตกต่างกันไป
โดนัลด์ ทรัมป์ ระบุว่า โต เลิม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ผู้นำหมายเลข 1 ของประเทศ ต่อสายมาหาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และพยายามซื้อใจด้วยการเสนอทุบกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าให้เหลือศูนย์ เพื่อขอเปิดการเจรจากับสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ผู้นำเวียดนามยังร้องขอให้สหรัฐฯ เลื่อนการบังคับใช้กำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากเวียดนามออกไปอย่างน้อย 45 วัน เพื่อเร่งเจรจาบรรลุข้อตกลงให้ได้เร็วที่สุด และหวังว่าจะได้พบกับทรัมป์ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ในช่วงสิ้นเดือน พ.ค. เพื่อสรุปข้อตกลงด้วย โดยผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าสินค้าเวียดนามที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดอาจเป็นอาหารทะเล เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย รองเท้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสมาร์ตโฟน

โต เลิม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
โต เลิม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
อ่านข่าว : "กัมพูชา-เวียดนาม" ต่อรองทรัมป์ เจรจาลดภาษีสินค้าสหรัฐฯ
ขณะที่กัมพูชาใช้กลยุทธ์คล้ายๆ กัน นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ทำหนังสือถึงผู้นำสหรัฐฯ ขอเปิดการเจรจาโดยเร็วที่สุด รวมทั้งขอให้รัฐบาลสหรัฐฯ พิจารณาเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากกัมพูชาออกไปก่อน และเพื่อเป็นการแสดงความจริงใจในการยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคี ผู้นำกัมพูชาประกาศลดภาษีนำเข้าสินค้าอเมริกัน 19 กลุ่มทันที จากสูงสุด 35% เหลือ 5%
ข้อมูลจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ชี้ว่า เมื่อปี 2024 มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ รวมสูงกว่า 470,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นยอดการนำเข้าสินค้าจากอาเซียนกว่า 350,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ตัวเลขส่งออกสินค้าอเมริกันอยู่ที่มากกว่า 120,000 ล้านดอลลาร์
แม้ภาพรวมสหรัฐฯ จะยังคงขาดดุลการค้ากับอาเซียนมากกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ แต่มูลค่าการส่งออกสินค้าอเมริกันไปยังอาเซียนก็เพิ่มขึ้นจากปี 2023 มากกว่า 16% ซึ่งอัตราดังกล่าวเพิ่มขึ้นสูงกว่าตัวเลขอัตราการนำเข้าด้วย
อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องปกติที่ประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดเศรษฐกิจไม่ได้ใหญ่มาก และพึ่งพิงรายได้จากการส่งออกเป็นหลัก จะไม่ได้มีแต้มต่อมากนักในการเจรจากับสหรัฐฯ ที่เป็นมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลก ดังนั้นจึงเห็นท่าทีของรัฐบาลหลายชาติที่ยอมอ่อนข้อให้กับทรัมป์ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้นำมาเลเซียก้าวออกมาสนับสนุนให้อาเซียนร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ในการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับทั้งภูมิภาค ทั้งที่มาเลเซียไม่ได้ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้ามากเท่าประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับอาเซียนมีประชากรรวมกันมากกว่า 670 ล้านคนกับ GDP รวมกว่า 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นการผนึกกำลังของทั้งภูมิภาคเพื่อรับมือกับกำแพงภาษี อาจช่วยเพิ่มน้ำหนักในการเจรจา แต่ก็ยังมีคำถามว่าอาเซียนจะร่วมมือกันได้มากเพียงใด เพราะอีกด้านหนึ่งก็ถือเป็นคู่แข่งทางการค้าระหว่างกัน
อ่านข่าว
กลยุทธ์ไทยโต้ภาษี "ทรัมป์" นักวิชาการแนะอาเซียนผนึกกำลังต่อรอง
สหรัฐฯ เผย 50 ชาติขอเจรจา "ทรัมป์" ประเด็นภาษีนำเข้า
เศรษฐกิจ "เอเชีย" วิกฤตเกิดคาด ภาษีทรัมป์ฉุด "หุ้นร่วง" ทั่วโลก