ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ศ.ดร.อมร" ชี้ "ปล่องลิฟต์" จุดตั้งต้นปมตึก สตง.ถล่ม

ภัยพิบัติ
14 เม.ย. 68
12:42
7,896
Logo Thai PBS
"ศ.ดร.อมร" ชี้ "ปล่องลิฟต์" จุดตั้งต้นปมตึก สตง.ถล่ม
ศ.ดร.อมร ชี้ "ปล่องลิฟต์" จุดตั้งต้นโครงสร้างอาคาร สตง.พังถล่ม พร้อมตั้งข้อสังเกตการแก้ไขความหนาปล่องลิฟต์ มาตรฐานวัสดุคอนกรีตและเหล็กเสริม

ความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการรื้อถอนซาก และค้นหาผู้ติดค้างใต้อาคาร สตง.ถล่ม เข้าสู่วันที่ 17 หลังเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดพบผู้เสียชีวิตแล้ว 40 คน

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ทราบจุดตั้งต้นแล้ว คือ ปล่องลิฟต์ด้านหลังอาคารที่ถล่มลงมาก่อน จากนั้นโครงสร้างทั้งหมดยุบตัวลงมา

ทั้งนี้ จะมีการตรวจสอบรายละเอียดประเด็นการอนุมัติให้แก้ไขแบบปล่องลิฟต์ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร การควบคุมการก่อสร้าง รวมทั้งวัสดุคอนกรีต เหล็กเสริม เพราะหากใช้คอนกรีตที่ไม่มีคุณภาพ หรือกำลังอัดไม่ได้ อาจเป็นสาเหตุการพังทลายของปล่องลิฟต์ได้

ปล่องลิฟต์เป็นโครงสร้างหลักของอาคารสูง เป็นตัวรับน้ำหนัก ซึ่ง สตง.ชี้แจงเรื่องความหนาของปล่องลิฟต์ที่มีการขอแก้ไขจาก 30 ซม.เป็น 25 ซม.อาจกระทบการรับน้ำหนักโครงสร้างได้

ศ.ดร.อมร กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงที่รัฐบาลตั้งขึ้น เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและตรวจสอบ โดยเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การออกแบบ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ที่ปรึกษาควบคุมงาน มาให้ข้อมูลว่าการแก้ไขแบบได้รับอนุมัติถูกต้องหรือไม่

ถ้าใช้ความหนาลดลง และวัสดุด้อยคุณภาพ ก็อาจเป็นสาเหตุพังถล่มได้เช่นเดียวกัน แต่เมื่อมีเหตุแผ่นดินไหว เป็นปัจจัยเสริมให้อาคารโยกตัว และเพิ่มแรงกระทำต่อผนังปล่องลิฟต์ให้สูงขึ้น

นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เชื่อมั่นว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือ และต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูล ก่อนสรุปสาเหตุอาคารพังถล่ม

นอกจากนี้ ตั้งข้อสังเกต 3 ข้อกรณีชิ้นปูนเป็นเศษย่อย ๆ ไม่จับตัวกับเหล็ก ว่า อาจเกิดจากแรงกระแทกของอาคารที่ถล่มลงมา 30 ชั้น, การรื้อถอนอาจนำเครื่องจักรมาย่อยปูนให้เป็นชิ้นเล็ก, ปูนอาจมีกำลังรับน้ำหนักไม่เหมาะสม ค่ากำลังรับแรงอัดต่ำ และอาจผสมน้ำ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้โดยเจาะตัวอย่างแท่งปูนที่สมบูรณ์ไปทดสอบ

มีความผิดปกติบางอย่างในกระบวนการทางการก่อสร้าง

นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้พบข้อมูลว่าอาคารสูงบางแห่งในกรุงเทพฯ มีจุดอ่อนอยู่ แม้ไม่ได้ถล่ม แต่อาคารเก่าควรประเมินการรองรับน้ำหนักของปล่องลิฟต์รองรับกรณีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่านี้ ซึ่งอาจใช้เทคนิคทางวิศวกรรมเสริมความแข็งแรงได้โดยไม่ต้องรื้อทิ้ง

อ่านข่าว : "ชัชชาติ" ตั้งเป้าปลายเดือนนี้ รื้อซากตึก สตง.ถล่มได้หมด 

เข้าถึงจุดพบแสงไฟ จนท.ตรวจไม่พบสิ่งของ เสียชีวิตเพิ่มเป็น 37 คน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง