คนงานก่อสร้างสูญหาย 75 คน ยังหาไม่พบ ขณะตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บ 18 คน และผู้เสียชีวิตอีก 13 คน ท่ามกลางซากปรักหักพังและเสียงร้องไห้ของครอบครัวและญาติ หลังเกิดเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ มูลค่ากว่า 2.1 พันล้านบาท ถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 28 มี.ค.2568 ที่ผ่านมา ทำให้มีคำถามว่า เหตุใดโครงสร้างก่อสร้างอาคารของรัฐ จึงเปราะบางมากกว่าอาคารอื่น ๆ ของเอกชนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเช่นเดียวกัน
แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ยากจะหลีกเลี่ยง แต่แน่ นอนว่า ในฐานะที่ กิจการร่วมค้า "ITD-CREC" ประกอบด้วยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนต์ และบริษัท China Railway No.10 Engineering Group ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหลักของโครงการฯ ก็ยากที่จะปฎิเสธความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น
อาคารสตง. เป็นตึกสูง 33 ชั้น สร้างบนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ 3 งาน บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กทม. ออกแบบเมื่อปี 2561 โดยบริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด วงเงิน 73 ล้านบาท

ตามการชี้แจงของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ผ่านเพจเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ระบุว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2563 ครม.ได้อนุมัติงบประมาณรายการค่าก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 2,560 ล้านบาท และดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
โดยแยกเป็น 2 ส่วนงานคือ การก่อสร้างอาคาร ผู้ชนะการประกวดราคา คือ กิจการร่วมค้า ไอทีดี – ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด มหาชน) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคารายต่ำสุด ด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 22 งวด เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 966.80 ล้านบาท
ส่วนการควบคุมงานก่อสร้าง สตง.ระบุว่า ได้จัดหาผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้างตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดย กิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์ โครไนซ์ จำกัด บริษัท ว. และสหายคอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนชัลแทนส์ จำกัด) เป็นผู้ชนะการยื่นข้อเสนองานจ้างควบคุมงาน ด้วยวงเงิน 74.65 ล้านบาท

เปิดรายชื่อผู้ถือหุ้น “ไชน่า เรลเวย์” จีน-ไทย
หากพลิก ข้อมูลของกิจการร่วมค้า AKC พบว่า จดเลขทะเบียนนิติบุคคล 993000435168 ที่ตั้ง สำนักงานใหญ่อยู่ที่ 493 ซอยพุทธบูชา แยก 11 เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร ประเภทธุรกิจ: กิจกรรมบริการอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนธุรกิจอื่นซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น (82990)
โดยลักษณะธุรกิจ:(ล่าสุด) เพื่อร่วมเสนอราคาด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ของโครงการ หมายเลขโทรศัพท์: 02-0009737
ขณะที่ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ที่ตั้ง 493 ซอยพุทธบูชา แยก 11 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร หนึ่งในผู้รับเหมาหลักจากประเทศจีน
ข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2561 มีรายชื่อกรรมการ คือ นายชวนหลิง จาง และ นายโสภณ มีชัยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท
จำแนกเป็นสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 51 ล้านบาท เป็นบุคคล 3 ราย คือ นายโสภณ มีชัย (49 % ของ 51 ล้านบาท) , นายประจวบ ศิริเขตร (40.8 % ของ 51 ล้านบาท) และ นายมานัส ศรีอนันท์ (10.2 % ของ 51 ล้านบาท) ส่วนสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติจีน 49 ราย เป็นบุคคล 1 ราย คือ นายชวนหลิง จาง

การนำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2566 พบมีสินทรัพย์รวม 2,804,535,819 บาท และหนี้สินรวม 2,952,877,175 บาท จดทะเบียนประเภทธุรกิจ การก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย วัตถุประสงค์ ด้านการบริการด้านการทรัพยากรมนุษย์และรับเหมาก่อสร้างอาคาร อาคารพาณิชย์ อาคารที่พักอาศัย สถานที่ทำการ ทางรถไฟ ทางรถสาธารณะ ทางรถไฟฟ้าใต้ดิน
สำหรับนาย โสภณ พบข้อมูล เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นในหลายบริษัท ในประเทศไทย นอกจากเป็นกรรมการร่วมกับ นายชวนหลิง จาง บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัดแล้ว ยังมีสถานะเป็นกรรมการบริษัทอื่นๆ อีก เช่น
บริษัท ไซเบอร์ เทเลคอม จำกัด ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์เครือข่าย โดยถือหุ้น 60 % ในบริษัท , เป็นกรรมการบริษัท ไฮห่าน จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยถือหุ้น 51 % ,เป็นกรรมการ บริษัท เอที แคปปิตอล โซลูชั่น จำกัด เคยถือหุ้น 60 %

และนายโสภณ ยังมีตำแหน่งเป็นผู้ถือหุ้น 25.50 % บริษัท ยูไนเต็ด สตาร์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายเสื้อผ้า , ถือหุ้นบริษัท สยาม ไบโอเมดิคอล ไซเอนซ์ จำกัด ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอาหารเสริมและเครื่องสำอาง 10 %
ส่วน นายชวนหลิง จาง (Mr. Chuanling Zhang) พบข้อมูลเพียงดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด และไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งกรรมการหรือการถือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
บ.กิจการร่วมค้า-ไชน่า เรลเวย์-สยาม ไบโอฯ ที่ตั้งเดียวกัน
ขณะที่ นายมานัส ศรีอนันท์ ผู้ถือหุ้น (10.2 % ) บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด พบมีชื่อ เป็นกรรมการ 11 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท สยาม ไบโอเมดิคอล ไซเอนซ์ จำกัด เลขที่ 493 ซอยพุทธบูชา 44 แยก 11 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร ซึ่งผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออกวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆ และ เครื่องสำอางค์ทุกชนิด

รวมทั้ง บริษัท วีล มาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท สยาม ไบโอเมดิคอล ไซเอนซ์ จำกัด บริษัท สันติภาพ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด บริษัท สันติภาพ อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต จำกัด , บริษัท สแตร์ ลาเบล อินเตอร์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท เอวาน่า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท เอสทีพี อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต(ประเทศไทย) จำกัด ,บริษัท โชคนิมิต บิสซิเนส แอนด์ เซอร์วิส จำกัด บริษัท บี เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด

และนายมานัส ยังถือครองหุ้นอีก 12 บริษัท ประกอบด้วย ,บริษัท เลนเยส อี-พาวเวอร์ จำกัด ถือ 51 % ,บริษัท สแตร์ ลาเบล อินเตอร์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ถือ 31 % ,บริษัท เอวาน่า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถือ 52.1 % , บริษัท โชคนิมิต บิสซิเนส แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ถือ 40 % , บริษัท บี เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด ถือ 1 % ,บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท สันติภาพ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ถือ 30% , บริษัท ยูไนเต็ด สตาร์ กรุ๊ป จำกัด ถือ 25.5 % ,บริษัท สันติภาพ อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต จำกัด ถือ 48 % , บริษัท สยาม ไบโอเมดิคอล ไซเอนซ์ จำกัด ถือ 70 % , บริษัท วีล มาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ถือ 45.03 % และบริษัท เอสทีพี อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต(ประเทศไทย) จำกัด ถือ 62.48 %

ทั้งนี้ พบข้อน่าสังเกตว่า ที่ตั้งของ กิจการร่วมค้า AKC สำนักงานบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท สยาม ไบโอเมดิคอล ไซเอนซ์ จำกัด ทั้ง 3 แห่ง มีที่ตั้งอยู่เลขที่เดียวกัน คือ เลขที่ 493 ซอยพุทธบูชา 44 แยก 11 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร
ที่สำคัญมีรายชื่อ นายโสภณ เป็นผู้ถือหุ้น บริษัท สยาม ไบโอเมดิคอล ไซเอนซ์ ส่วนนายมนัส ยังมีชื่อเป็นกรรมการ บริษัท สยาม ไบโอเมดิคอล ไซเอนซ์ ด้วยเช่นกัน
มีรายงานว่า ในปี 2563 กิจการร่วมค้า AKC ร่วมกับบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) ได้รับงาน โครงการก่อสร้างภาครัฐปรับปรุงที่ดินก่อสร้างอาคารศูนย์บริการลูกค้า อาคารสำนักงาน อาคารอบรมสัมมนาอื่น ๆ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มูลค่าโครงการ 210.0 ล้านบาท ในนามกิจการร่วมค้า AKC (ระหว่าง บจก.อัครกร ดีเวลลอปเม้นท์ กับ บจก.ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย)
ในปี 2564 โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์สาธิตบริการและอาคารจอดรถ กรมควบคุมโรค มูลค่า 480.0 ล้านบาท ที่กิจการร่วมค้า AKC ได้เข้าร่วมประมูล โดยมีนิติบุคคลอื่นที่เข้าร่วมประมูลด้วยจำนวน 16 ราย ที่สำคัญ ได้แก่ บริษัทอิตัลไทย ดีเวลลอปเมนท์, บริษัท ไชน่าสเตท คอนสตรัคชั่น เอนจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด

และมีข้อสันนิษฐานว่า บริษัท ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอนจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด อาจเป็นบริษัทย่อยในกลุ่มทุนสัญชาติจีนเช่นเดียวกันกับ บริษัทไชน่าสเตท คอนสตรัคชั่น เอนจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด (CSCEC) ในกิจการร่วมค้า ซีเอเอ็น (CAN JOINT VENTURE) ประกอบด้วยบริษัทต่าง ๆ คือ
- บริษัทเอ.เอส.แอส โซซิเอท เอนจิเนียริ่ง(1994) (AS)
- บริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR)
โดยบริษัทดังกล่าว ได้ร่วมลงนามในสัญญาโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) มูลค่าโครงการ 11,525.35 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนของ CSEC 40%, NWR ( เป็นบริษัทในกลุ่มทุน ITD ) 30 %, และ AS 30% มีระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน
อย่างไรก็ตาม ยังพบข้อมูลอีกว่า มีการใช้ชื่อและเครื่องหมายของ China Railway Group Limited (CREC) ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างของจีนซึ่งมีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และฮ่องกง ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท คือ China Railway Engineering Corporation ที่เป็นของรัฐ เพื่อต้องการสร้างความสับสนหรือไม่

เนื่องจากบริษัทกิจการร่วมค้าระบุ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) ที่มีการใช้ชื่อผู้ถือหุ้นสัญชาติจีน ในโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จะใช้ชื่อ “China Railway No.10 Engineering Group Co., LtdW เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร่วมกับนอมินีสัญชาติไทย ก็ไม่สามารถใช้ตัวย่อภาษาอังกฤษว่า CREC ได้
ดังนั้น จึงมีประเด็นที่ต้องตามว่า บริษัทอิตาเลียนไทย (ITD ) และทางสตง. มีการตรวจสอบหรือไม่ว่า China Railway No.10 Engineering Group Co., Ltd สัญชาติจีนเป็นบริษัทย่อยของ CRCC ที่ตั้งอยู่ในประเทศจีนหรือไม่
อ่านข่าว:
วิศวกรตรวจซ้ำ "อาคาร A" ศูนย์ราชการฯ พบเสาปูนกระเทาะแตก
เร่งด่วนอันดับ 1 ช่วยชีวิตคนงาน อันดับ 2 คลี่ปมเหตุตึก สตง.ถล่ม