หลังการเลือกตั้งเยอรมนี พรรคอนุรักษ์นิยม CDU/CSU เข้าป้ายเป็นที่หนึ่งด้วยคะแนนเสียงถึง 28.6 เปอร์เซ็นต์ ที่น่าสนใจ คือ พรรคขวาจัด Alternative für Deutschland (AfD) ที่ต่อต้านสิทธิผู้อพยพ และต่อต้านความร่วมมือกับ EU ได้คะแนนไปกว่าร้อยละ 20.8 ถือเป็นคะแนนที่ดีที่สุดเท่าที่พรรคนี้เคยได้มา
มีการคาดการณ์ว่า พรรการเมืองหลักของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในเยอรมนี ฟรีดริชเมร์ซ น่าจะได้เป็นนายกคนต่อไปของประเทศ หลังประกาศชัดเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า อยู่ระหว่างการเตรียมจัดตั้งรัฐบาลผสม
เมื่อโลกหนีไม่พ้นการเมืองลักษณะนี้ ผสมข้ามขั้วหวังเพียงผลประโยชน์ ไม่ต่างจากการขึ้นมาของ"โดนัล ทรัมป์"ที่ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐและใช้อำนาจริดรอนสิทธิและเสรีภาพของคนทั่วโลก โดยให้ "อีลอน มัสก์" ก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ในฐานะเจ้ากระทรวง Department of Government Efficiency หรือ "DOGE" ใช้อำนาจบีบเจ้าหน้าที่ให้ลาออก หรือสั่งปลดเป็นว่าเล่น
ทำให้มีการตั้งคำถามว่า แม้จะได้ความชอบธรรมจากการเลือกตั้งโดย "เสียงของประชาชน" แต่การกระทำของเขา กำลังเซาะบ่อนทำลาย "เสรีนิยม" และ "ประชาธิปไตย" หรือไม่ และไทยคงเลี่ยงไม่พน้ที่จะได้รับผลกระทบ ในฐานะสมาชิกของการเมืองโลกจะวางบทบาทอย่างไรในสภาวดังกล่าว

"ทรัมป์" อันตราย อำนาจ "เสรีนิยม-ประชาธิปไตย"
ThaiPBS ออนไลน์ สัมภาษณ์ ผศ.ดร.ปราณี ทิพย์รัตน์ อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.ปราณี ระบุว่า การกระทำของ ทรัมป์ ที่มีลักษณะ "ลุแก่อำนาจ (Abuse of Power)" ไม่ใช่เรื่องแปลกในสหรัฐฯ หรือทั้งโลก เพียงแต่ "ความรุนแรง" นั้นทวีคูณมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา ไม่มีใครเขาทำกัน เพียงแต่ทรัมป์อ้าง "ความชอบธรรม (Justification)" มาจากกระบวนการประชาธิปไตย ที่ผู้คนเลือกเขามา จึงมีสิทธิขาดในการบริหาร โดยไม่จำเป็นต้องสนใจประเด็นสิทธิ และเสรีภาพ
หากจะเข้าใจประเด็นนี้ได้ ต้องเข้าใจแนวคิดของ "ฟารีด ซากาเรีย (Fareed Zakaria)" ในบทความวิจัยชื่อ The Rise of Illiberal Democracy โดยกล่าวถึงแนวคิด "ประชาธิปไตยที่ปราศจากเสรีนิยม (Illiberal Democracy)" เสียก่อน ซึ่ง เสรีนิยม และ ประชาธิปไตย เป็นคนละความคิดกัน แต่ผู้คนมักใช้รวม ๆ กัน ทำให้สับสน
ประชาธิปไตยมีลักษณะเป็นกระบวนการ (Process) โดยเฉพาะ การเลือกตั้งโดยเสียงข้างมาก (Majority) เน้นการมีส่วนร่วมของมวลชน (Popular Participation) … เมื่อเสียงข้างมากเป็นใหญ่ นำไปสู่เผด็จการได้ง่าย หรือที่ชาวไทยเรียกว่า เลือกตั้งธิปไตย

ส่วนเสรีนิยมนั้น ผศ.ดร.ปราณี ชี้ว่า มีลักษณะเป็นบรรทัดฐาน (Norm) ในเชิงปฏิบัติ (Practice) ซึ่งเข้ามากำกับเสียงข้างมากในเรื่อง การปกครองจะต้อง "เสรีและยุติธรรม (Free & Fair)" ต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของเสียงข้างน้อย ไม่ทำอะไรลุแก่อำนาจ ทั้งยังต้องมี "หลักนิติธรรม (Rule of Law)" มีกฎหมายคุ้มครอง รวมถึง "ความโปร่งใส (Transparency)" และ "ความรับผิดรับชอบ (Accountability)"
รัฐบาลที่มีความเป็นเสรีนิยม ต้องปกป้องปัจเจกจากทรราชย์ (Tyranny) ทั้งปวง ทำให้ในบางครั้ง ไม่อาจไปด้วยกันกับประชาธิปไตยได้ … หากสนแต่เพียงกระบวนการเลือกตั้ง และไม่เคารพสิทธิของประชาชน ตรงนี้ เป็น Illiberal Democracy แบบชัดเจน
อ่านข่าว: สัญญะการเมือง "พิธีสาบานตน" ทรัมป์ เกมมหาอำนาจ "เขย่าโลก"
อาจารย์ปราณี ย้ำว่า สิ่งนี้ เกี่ยวพันกับ "ประชานิยม (Populism)" ที่มีฐานแบบเดียวกัน คือ สนใจเพียงเสียงข้างมาก และมวลชนที่เลือกตนเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำ และจริง ๆ เกิดขึ้นได้กับทุกชาติ ไม่เพียงแต่สหรัฐฯ "แลร์รี ไดมอนด์ (Larry Diamond)" นักวิชาการด้านการเมืองเปรียบเทียบ (Comparative Politics) ชื่อดัง สำรวจประเทศในโลกนี้กว่า 190 ชาติ พบว่า เกินกว่า 90 ชาติ มีลักษณะ Illiberal Democracy เพราะไม่เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน หรือไม่ก็ละเมิดสิทธิประชาชนบ่อยครั้ง
ในมุมมองของหลักวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สหรัฐฯ สร้างตนเองเป็นผู้ส่งเสริมประชาธิปไตย แต่หลายครั้ง การใช้ Executive Order ก็ละเมิดเสรีภาพของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น หลังเหตุการณ์ 9/11 ยอร์ช ดับเบิลยู บุช ได้สั่งการให้ตรวจสอบประชาชนอย่างเคร่งครัด
อ่านข่าว: ทรัมป์ "ล้วงลูกงานวิจัย" จุดบอด "วิชาการ" ในมืออำนาจนิยม
แต่สำหรับทรัมป์ ผศ.ดร.ปราณี บอกว่า หนักกว่านั้นหลายเท่า เพราะสร้าง "วิกฤตสถาบันการเมือง (Constitutional Crisis)" ขึ้นมา โดยการทำลาย "การตรวจสอบถ่วงดุล (Check and Balance)" จากอำนาจสามฝ่าย ได้แก่ บริหาร (Executive) นิติบัญญัติ (Legistartive) และ ตุลาการ (Judiciary) ให้เหลือเพียง ฝ่ายบริหารเป็นใหญ่ อีกสองอำนาจที่เหลือทำอะไรไม่ได้
การก้าวล่วงงบประมาณ เป็นตัวอย่างสำคัญ เพราะปกติ การจะอนุมติงบประมาณหรือตัดงบประมาณ สภาคองเกรสจะเป็นผู้ชี้ขาดว่าทำได้หรือไม่ แต่ทรัมป์ตัดตอนหมด เห็นได้จาก การตัดงบ USAID
อ่านข่าว: ตัดงบ "USAID" หอกข้างแคร่ "ทรัมป์" สั่นคลอน "พญาอินทรี"
ไม่เพียงเท่านั้น "ศาลสูงสุด (Supreme Court)" ของสหรัฐฯ ทรัมป์ยังไม่เว้น เพราะได้มีการทวงบุญคุณตำแหน่งศาล จากที่ตนเองแต่งตั้ง ทำให้การตัดสินเอนเอียงไปทางทรัมป์อย่างชัดเจน รวมไปถึงมีการข่มขู่ Senate และ สมาชิกคองเกรส ว่าจะทำทุกวิถีทางให้พวกเขาการเลือกตั้งครั้งหน้า ดังนั้น ผศ.ดร.ปราณี ย้ำเตือนว่า กรณีนี้ "ทรัมป์ กำจัดสถาบันตรวจสอบถ่วงดุล อย่างเห็นได้ชัด"

วิธีคิด "CEO" เผด็จการ-อำนาจนิยม
ผศ.ดร.ปราณี กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้การปกครองของทรัมป์จะมีลักษณะ ลุแก่อำนาจ ด้วยการอ้างฐานเสียงประชานิยม ทำให้เกิด Illiberal Democracy ที่หนักกว่าในอดีต เพราะทรัมป์มีเป้าหมายทำลายการตรวจสอบถ่วงดุล จากคองเกรส และศาลสูงสุด ให้หมดสิ้น
ข้างต้น คือการอ่านพฤติกรรมของทรัมป์ ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจ "แรงขับเคลื่อน" และ "ตัวตน" ของทรัมป์ เพื่อให้เข้าใจ "เหตุผล" ว่าเหตุใด เขาจึงกระทำเช่นนี้
วิธีคิดของทรัมป์เป็นแบบ "CEO" หรือ "นักธุรกิจ" หมายถึง การเป็นเจ้าของบริษัท มักจะมีอำนาจแบบ "เบ็ดเสร็จ" โดยเนื้อแท้ ชี้นิ้วสั่งใครก็ได้ การตัดสินใจล้วนมาจากผู้นำแต่เพียงผู้เดียว ไม่ได้มีความเป็นนักการเมืองโดยวิถีชีวิต
ธุรกิจกับการเมืองแตกต่างกัน ธุรกิจเจ้าของมีเพียงผู้เดียว แต่การเมืองมีเจ้าของหลายส่วน ทรัมป์ คิดจากก้นบึ้งของหัวใจว่าตนเองเป็นเจ้าของประเทศ ตัดสินใจด้วยตนเอง ไม่ปรึกษาหรือขอความเห็นจากอำนาจอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พวกพ้องของตน
ดังนั้นต้องไม่ลืมว่า ระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ผู้นำอยู่ได้ด้วย "เสียงข้างมาก" ทำให้การตัดสินใจแบบรวบอำนาจที่ดีที่สุด คือ "นโยบายเศรษฐกิจ" และ Executive Order ของทรัมป์ จึงสามารถอ้างความชอบธรรมได้ว่า แก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง แม้จะละเมิดหลักการทั้งเสรีนิยม และ ประชาธิปไตย
Executive Order เป็นการสั่งเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง หมายถึง ลูกจ้างของฝ่ายบริหาร ทำให้สามารถอ้างได้ว่า เราทำเพื่อประชาชน โดยไม่ลุแก่อำนาจ ไม่ได้ก้าวก่ายอำนาจอื่น ๆ ตามมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญอเมริกา

การกระทำเช่นนี้ แม้จะผิดหลักการ แต่ "ได้ใจ" ประชาชนแล้ว ทำให้ทรัมป์แทบไม่สนใจ "ขอบข่าย" การใช้อำนาจของตนเองเลยว่ามีจำกัดมากน้อยเพียงใด
อ่านข่าว: "ทุนใหญ่ญี่ปุ่น" ตกขบวน "เทคโนโลยี" สะเทือน "ดุลแห่งอำนาจโลก"
ผศ.ดร.ปราณี กล่าวว่า ส่วนการให้ "อีลอน มัสก์" และบรรดา Tech Titans มีตำแหน่งในรัฐบาล เป็นเรื่องหายนะอย่างมาก เพราะเหล่านี้ คือ "กลุ่มผลประโยชน์" มีส่วนได้ส่วนเสียกับทรัมป์ เท่ากับว่า ในกระบวนการกำหนดนโยบาย (Policymaking) เกิด "ผลประโยชน์ทับซ้อน" อย่างโจ่งครึ่ม
กรณีมัสก์นำลูกชายไปวิ่งเล่นในทำเนียบขาว จริง ๆ ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอะไร ผู้นำคนอื่น ๆ อาจจะมีแบบนี้ แต่ไม่ได้เปิดเผยออกสื่อ เป็นเรื่องของกาละเทศมากกว่านัยทางการเมือง … แต่สิ่งที่หลุดออกไป เท่ากับว่า ทรัมป์ จงใจบอกสัญญะ อะไรบางอย่างแก่สังคมหรือไม่เกี่ยวกับ อำนาจของมัสก์
อ่านข่าว: "Tech Gang" มาเฟียเทคโนโลยี มือขวา "ทรัมป์" กู้วิกฤตสหรัฐฯ
ที่น่าสนใจกว่าประเด็นลูกชายมัสก์ คือ การเข้าถึง "เอกสารชั้นความลับ (Confidential Archives)" ของบรรดา Tech Titans ตรงนี้ น่ากลัวกว่าอะไรไร้สาระข้างต้นมาก เพราะรับจะดำรงอยู่ได้ ก็ต่อเมื่อรักษาความลับต่าง ๆ ไว้ให้อยู่มือได้ ไม่อย่างนั้น การบริหารจัดการ "ความมั่นคง" ทั้งภายในและภายนอก ก็ไม่อาจทำได้
"สหรัฐฯ ไม่ใช่ต้นแบบของประชาธิปไตยอีกต่อไป จริง ๆ ตั้งแต่สมัยทรัมป์ 1.0 ทรัมปืไม่ได้ยกยอปอปั้นคุณค่าประชาธิปไตยมาตั้งแต่ต้น เสรีนิยมก็เช่นกัน … ทรัมป์วิพากษ์ คิม จ็อง อึน บนฐานของการสะสมอาวุธที่มากเกินไปจนเป็นภัยคุกคาม ไม่ได้วิพากษ์ในประเด็นระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งยังเป็นเพื่อนซี้กับ วลาดิเมียร์ ปูติน อีกด้วย … ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงไม่ได้น่าตื่นเต้นหรือตกใจอะไร"
อ่านข่าว: "ประชาธิปไตยวัดดวง" เลือกตั้งสุ่ม ใต้อำนาจรัฐ "เท่าเทียม"
ทางรอดไทย เสรีนิยม-ประชาธิปไตย ต้องเคารพกัน
ดังจะเห็นได้ว่า ทั้งวิถีปฏิบัติและวิธีคิดของทรัมป์ จัดรูปความคิดและการกระทำออกมาเป็นการปกครองและการใช้อำนาจอย่างที่เห็น สหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล สมดังที่ว่า "กาทรัมป์ สหรัฐฯ ไม่เหมือนเดิม" ไล่มาตั้งแต่ การประกาศนิรโทษกรรมให้แก่ผู้คนที่บุกทำเนียบขาว ประท้วงความพ่ายแพ้ของทรัมป์ต่อ "โจ ไบเด็น" เกือบ 1,500 คน ด้วยเหตุผลที่ว่า พวกเขาเป็น "เหยื่อ" แม้จะฆาตกรรมตำรวจไปหลายรายก็ตาม
เช่นนี้ สำหรับไทย ที่เป็นรัฐขนาดเล็กในระบบการเมืองโลก จะเอาตัวรอดอย่างไร ? หรือจะ "เลียนแบบ" วิธีการปกครองของทรัมป์ มาแทนที่ประชาธิปไตยที่กำลังเป็นอยู่ในตอนนี้ไปเลย ?

อ่านข่าว: ลอกคราบ "ทรัมป์" สมัยสอง "เอเชียตะวันออก-ไทย" กระอัก
ผศ.ดร.ปราณี กล่าวย้ำว่า ไทย ไม่มีผลกระทบใด ๆ จากกรณีนี้ เพราะการปกครองนั้น "ไม้หลักปักขี้เลน" มาแต่ไหนแต่ไร ประชาชน "ไม่เคยมีส่วนร่วม" ออกแบบการปกครองของพวกเขาเอง อย่างน้อย ๆ ในการเมืองไทยสมัยใหม่ ก็เกือบ ๆ ศตวรรษ
คณะราษฎร ที่หลาย ๆ ฝ่ายเชิดชูว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตย จริง ๆ เป็น คณาธิปไตย (Oligarchy) ขุนนางและข้าราชการวัยหนุ่มน้อยรายออกแบบการปกครองให้ทั้งนั้น … สมัยหนึ่งเราอยากเป็นคอมมิวนิสต์ เราบ้าอยู่พักหนึ่ง เราอยากเป็นรัฐสวัสดิการ ก็บ้าอยู่พักหนึ่ง
ผศ.ดร.ปราณี เสนอให้ประเทศไทยสร้าง "วัฒนธรรมการเมือง (Political Culture)" ที่เกี่ยวข้องกับเสรีนิยมและประชาธิปไตยให้ได้เสียก่อน ที่สำคัญอย่างมาก คือ "การเคารพกฎหมายและการรักษากฎหมาย" อาจเถียงได้ว่า ผู้มีอำนาจเป็นผู้ร่าง จริง ๆ ทุกประเทศเป็นแบบนี้ทั้งนั้น อยู่ที่การประยุกต์ใช้เสียมากกว่า ติดขัดปัญหาใดค่อยไปแก้ไข เป็นวิธีคิด หรือ "Idea" ว่าจะต้องเคารพกฎหมาย ไม่ใช่นึกอยากจะทำอะไรก็ทำ
บางครั้ง ชาวไทย หรือ นักวิชาการไทยก็ตื้นเขินอย่างมาก ไม่สามารถทำให้ประชาชนคิดได้ … เพราะประชาชนคิดแต่เรื่องปากท้อง ประชาธิปไตยกินไม่ได้ … ตกลง ปัญหาอยู่ที่อะไร อยู่ที่คนใช่หรือไม่
อ่านข่าว: "Soft Power" เกาหลีใต้ "รัฐหนุน-นายทุนนำ" เคล็ดลับความสำเร็จ
ดังนั้น การสร้างวัฒนธรรมการเมืองว่า "ประชาธิปไตยกินได้" จึงเป็นประเด็นเร่งด่วน โดย ผศ.ดร.ปราณี เสนอ "องค์ประกอบ" การสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองไทย ได้แก่ ต้องมีหลักนิติธรรม เคารพกฎหมาย โปร่งใส รวมถึงมีความรับผิดรับชอบ แต่วิธีคิดนี้ "แสลงหู" บุคคลจำพวกหนึ่ง ที่โต้แย้งว่า "ประเทศไทยไม่มีวันเป็นประชาธิปไตยได้เลยหรือ" ซึ่งผู้ที่ถามคำถามนี้ ส่วนใหญ่ก็ทำไม่ได้เสียด้วยซ้ำ

วัฒนธรรมทางการเมืองที่เสนอไปนี้ ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ๆ … สังคมไทยสามารถมีข้อคิดเห็นที่แตกต่างได้ แต่ไม่จำเป็นต้องตีกัน … เรื่องนี้ แม้แต่นักวิชาการใหญ่ ๆ ก็ทำไม่ได้ จะไปคาดหวังให้ประชาชนทำได้อย่างไร … อะไรที่ฝ่ายตรงข้ามทำ ผิดหมด อะไรที่ฝ่ายตนเองทำ ถูกหมด แบบนี้ จะไปสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดีได้อย่างไร
ผศ.ดร.ปราณี เน้นย้ำว่า การออกแบบสังคมการเมืองไทย ก่อนจะเป็นเสรีนิยม หรือ ประชาธิปไตย ต้อง "เคารพ" กันให้ได้ก่อน ก่อนที่จะไปกังวลว่า ทรัมป์ จะทำลายประชาธิปไตยหรือไม่ ? ไม่อย่างนั้น ประเด็น "คุณค่า" ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะรุนแรงเพียงใด ก็ไม่ส่งผลอะไรต่อไทยเลย เพราะขนาดเรื่องเรื่องภายในของเรายังไม่อาจลงหลักปักฐานได้
"ประเทศไทยต้องเข้าใจวัฒนธรรม ดีก็อวย ชั่วก็วิจารณ์ แม้จุดยืนทางการเมืองจะแตกต่างกัน และบรรดานักวิชาการ ต้องทำให้ประชาชนเห็นให้ได้ก่อน ไม่อย่างนั้น อย่าไปคาดหวังอะไรเลย" ผศ.ดร.ปราณี ทิ้งท้าย