วันนี้ (25 ก.พ.2568) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ พิจารณาการฮั้ว การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาปี 2567 ในฐานะประธาน พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะรองประธานกรรมการคดีพิเศษ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นกรรมการและเลขานุการ
นายภูมิธรรม กล่าวว่าประเด็นนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง หากมีข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ให้เห็นว่ามีปัญหา ก็จะนำเข้าสู่กระบวนการรับเป็นคดีพิเศษได้ แต่หากพยานหลักฐานไม่ชัดก็ต้องพิจารณาไปตามเนื้อผ้า โดยเหตุผลที่ยอมให้บรรจุเป็นวาระในการพิจารณาครั้งนี้ เพราะเป็นเรื่องที่มีพยานหลักฐาน จึงต้องแสดงให้ทุกคนที่เป็นกรรมการได้รู้ หากเห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดก็จะพิจารณาไปตามความเหมาะสม
ด้าน พ.ต.ต.ยุทธนา แจ้งว่ามีกรรมการมาประชุมทั้งหมด 19 คน จาก 22 คน โดยขาดกรรมการโดยตำแหน่ง 1 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน
การประชุมเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 13.30 น. รายงานก่อนประชุมพบว่า คณะกรรมการที่เข้าประชุมมีทั้งหมด 19 คนจาก 22 คน โดยมีรายงานว่าคนที่ยังไม่มาเข้าร่วมประชุม คือ พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้ช่วย ผบ.ตร. ตัวแทน พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. กรรมการโดยตำแหน่ง, พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และพล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการสอบสวนคดีอาญา
อ่านข่าว : ไทม์ไลน์คดีฮั้วเลือก สว.-ชี้ชะตา 138 คน

สำหรับการประชุมครั้งนี้มี 2 วาระคือ เรื่องการฮั้ว การคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา และเรื่องการทุจริตสวมสิทธิ์ยางพาราไทย เพื่อขอมติเห็นชอบจากที่ประชุมในการรับดำเนินการไว้เป็นคดีพิเศษ ร่วมถึงการแจ้งความคืบหน้าในคดีสำคัญที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษเช่น คดีหมอบุญ คดีสตาร์ค และคดีดิไอคอน ภาค 2 ก็ถูกนำเข้ามารายงานในที่ประชุมด้วยเช่นกัน
แต่วาระสำคัญที่ได้รับความสนใจจากสังคมคือการพิจารณารับเรื่อง ฮั้ว สว. ในการเลือกตั้งปี 2567 ว่าจะรับเรื่องเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ส่วนการพิจารเป็นคดีพิเศษของคณะกรรมการคดีพิเศษต้องใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 15 คนจาก 22 คน ซึ่งภายหลังการประชุมจะมีแถลงสรุปผลการพิจารณาให้ทราบโดยทันที
อ่านข่าว : "ทวี" กังวลความปลอดภัย พยานคดีฮั้ว สว.
นักวิชาการและหลายภาคส่วนมองว่า มีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการคดีพิเศษจะรับเรื่องฮั้ว สว.เป็นคดีพิเศษ เพราะว่าก่อนหน้านี้ท่าทีของดีเอสไอมีทิศทางในการรับคดีไปสืบสวน และมีการยื่นหนังสือด่วนส่งถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องแจ้งความคืบหน้าผลการสืบสวนและขอความเห็นการดำเนินคดี หลังพบหลักฐานทั้งโพยฮั้ว สว. 2 ชุด กลุ่มละ 7 คน พบว่าเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น สว.138 คน และอยู่ในลำดับสำรอง 2 คน ซึ่งเชื่อได้ว่ามีขบวนการดังกล่าวจริง
เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2563 มาตรา 977 (3) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 (ความผิดฐานอั้งยี่) และความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ดีเอสไอ จึงประสงค์ที่จะรับดำเนินการสอบสวนในส่วนที่พบการกระทำผิดทางอาญาไว้ดำเนินการ
ล่าสุดเมื่อเวลา 16.30 น.มีรายงานว่าผลการพิจารณาในการรับเรื่อง การฮั้วการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาปี 2567 เป็นคดีพิเศษนั้น มติในที่ประชุมได้มีความเห็นว่า เลื่อนลงมติไปเป็นวันที่ 6 มี.ค.2568 โดยให้เหตุผลว่าต้องเชิญ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เข้ามาชี้แจง ส่วนรายละเอียดจะมีแถลงผลภายหลังการประชุม

กคพ.เลื่อนพิจารณาเรื่อง ฮั้ว สว. เป็นคดีพิเศษ เชิญ กกต.ให้ข้อมูลเพิ่ม
นายภูมิธรรม พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง , พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ ร่วมแถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ พิจารณาเรื่อง การฮั้ว เลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567 เป็นคดีพิเศษ ภายหลังใช้เวลาประชุมนานกว่า 3 ชั่วโมง
นายภูมิธรรม เปิดเผยหลังการประชุมว่า มติในคณะกรรมการการประชุมพิเศษในวันนี้ ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรเลื่อนการพิจารณาออกไปเป็นวันที่ 6 มี.ค.พร้อมให้เหตุผลว่าภายหลังจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้รับเรื่องจากผู้ร้องเรียน กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งเรื่องให้กับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ก่อนที่ทาง กกต.จะส่งหนังสือกลับมายังดีเอสไอให้ดำเนินการสืบสวนซึ่งการประสานงานดังกล่าว เป็นการประสานงาน ระหว่างหน่วยงานในระดับเลขานุการ ไม่ได้ผ่านอนุกรรมการคัดกรองของดีเอสไอ จึงถือว่าเอกสารยังดำเนินการไม่ถูกต้องตามขั้นตอน ทำให้ต้องกลับไปดำเนินการให้ถูกต้อง
รวมถึงยังต้องเชิญ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เข้ามาให้ข้อมูลกับทางคณะกรรมการคดีพิเศษ ในวันที่ 5 มี.ค. ก่อนที่จะมีการพิจารณาในการรับเป็นคดีพิเศษอีกครั้งในวันที่ 6 มี.ค.เพื่อไม่ให้เกิดข้อโต้แย้ง และให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยจะต้องกลับไปตรวจสอบให้ชัดเจนและโปร่งใสครบถ้วน ซึ่งในวันที่มีการพิจารณาจะมีตัวแทนของ กกต.เข้าที่ประชุมพิจารณาคดีพิเศษด้วย
ส่วนข้อมูลทางคดีที่จะเข้ามาพิจารณารับเป็นคดีพิเศษนั้นที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าเรื่องดังกล่าวมีมูลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน และในข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการสืบสวนและขยายผล นอกเหนือจากพยานหลักหลักฐานที่ได้มาเบื้องต้น
การดำเนินคดีทางอาญา ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจเต็มที่ แต่ในส่วนของกฎหมายการเลือกตั้ง เป็นอำนาจของทาง กกต.ที่ต้องดำเนินการ แต่หากพูดคุยกันแล้ว กกต.ไม่ดำเนินการ ทางดีเอสไอ ก็มีอำนาจที่จะดำเนินคดีกฎหมายการเลือกตั้งควบคู่กับคดีอาญาไปด้วยได้ แต่ยังคงต้องมีการพูดคุยระวังหน่วยงานให้ชัดเจน

ส่วนกรณีที่สังคมตั้งประเด็นว่าเรื่องดังกล่าวมาจากประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง นายภูมิธรรม ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะหากพบว่าคนในรัฐบาลหรือพรรคร่วมรัฐบาลกระทำความผิด หรือมีแนวโน้ม หรือต้องสงสัยก็ต้องว่าไปตามขบวนการ ยืนยันว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ได้มุ่งเน้นไปเพื่อแก้แค้นใคร และไม่กดดันในการทำหน้าที่ เพราะหากไม่ดำเนินการตรวจสอบก็จะมีความผิดด้วยเช่นกัน
ส่วนท่าทีของสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ที่ออกมาตอบโต้ฝั่งของดีเอสไอว่าไม่มีอำนาจ หน้าที่ในการดำเนินการเรื่องนี้นั้น นายภูมิธรรม ยืนยันว่าตัวเองไม่รู้สึกกดดัน และดำเนินการสอบสวน ตามข้อกฎหมาย ส่วนใครจะกระทำความผิดหรือไม่ให้เป็นดุลยพินิจของศาล แต่การพิจารณาต้องดำเนินการต่อเนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันนิติบัญญัติ ที่เป็นสถาบันหลักของชาติ และเป็นที่สนใจของประชาชน จะต้องทำด้วยความระมัดระวัง โดยไม่ใช้อำนาจบริหารในการแทรกแซง
อ่านข่าว :
ชิงสอย สว.สีน้ำเงิน เกมบีบวุฒิฯ เปลี่ยนสี
"ณัฐพงษ์ " หวัง "ดีเอสไอ" รับพิจารณาคดีฮั้ว สว.
ศาลสั่งจำคุก “อัจฉริยะ” 2 เดือน-ไม่รอลงอาญา คดีละเมิดอำนาจศาล