วันนี้ (23 ก.พ.2568) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานในพิธีเปิด "บ้านเขียว" หรืออาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้แห่งใหม่ ณ สวนรุกขชาติเชตวัน จ.แพร่ หลังจากใช้เวลาในการบูรณะโดยใช้ไม้ทุกชิ้นส่วนของเดิมกลับมาสู่บ้านเขียวเหมือนกับในอดีตเมื่อ 120 ปีก่อน
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า บ้านเขียว ไม่เพียงเป็นอาคารประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นประจักษ์พยานของยุคทองการป่าไม้ในล้านนา การบูรณะครั้งนี้ มุ่งเน้นการรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมดั้งเดิม ควบคู่ไปกับการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัย เพื่อถ่ายทอดความรู้และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่คนรุ่นหลัง

สำหรับบ้านเขียว เป็นอาคารประวัติศาสตร์อายุกว่า 120 ปี สร้างขึ้นในปี 2444 สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นที่ทำการป่าไม้ภาคแพร่ กรมป่าไม้สยาม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม ต.ในเวียง อ.เมืองแพร่ มีสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล (Colonial) กับภูมิปัญญาท้องถิ่น ปรับให้เข้ากับสภาพอากาศร้อนชื้นของเมืองไทย อาคารนี้ผ่านการพัฒนามาแล้ว 5 ยุคสมัย ก่อนจะถูกรื้อถอนในปี 2563

บ้านเขียว อาคารประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 5 ศูนย์เรียนรู้การป่าไม้แห่งแรกของไทย
บ้านเขียว อาคารประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 5 ศูนย์เรียนรู้การป่าไม้แห่งแรกของไทย
จากไม้เก่า 120 ปีสู่การฟื้นบ้านเขียว
นับเป็นหนึ่งในอาคารที่ทำการป่าไม้ยุคแรก ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในภูมิภาคล้านนา การบูรณะอาคารใช้เวลากว่า 2 ปี ต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากร และสมาคมสถาปนิกสยามฯ ใช้กระบวนการอนุรักษ์ที่พิถีพิถันเริ่มต้นด้วยการเก็บข้อมูลและร่องรอยของซากอาคารเดิมอย่างละเอียด
รวบรวมไม้เก่าทุกชิ้นมาบันทึกข้อมูลและตำแหน่งที่พบ พร้อมทั้งสันนิษฐานว่าเป็นส่วนประกอบใดของอาคาร มีการทำหมายเลขกำกับ และจัดทำแบบแปลนตามข้อสันนิษฐาน นอกจากนี้ยังได้รวบรวมภาพถ่ายเก่าจากแหล่งต่าง ๆ มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลที่ได้จากการขุดค้น
จุดเด่นของการบูรณะ คือการนำไม้เดิมทุกชิ้นกลับมาประกอบในตำแหน่งเดิม ส่วนที่เสียหายได้คัดสรรไม้ชนิดเดียวกันมาทดแทน โดยเน้นการรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมของอาคารไว้มากที่สุด

ทั้งนี้ได้มีการการบูรณะเสร็จสิ้นในเดือนก.ค.2567 และได้จัดให้มีเวทีประชาคมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าและการมีส่วนกับชุมชนท้องถิ่น

ศูนย์เรียนรู้การป่าไม้แห่งนี้ เริ่มเปิดให้ประชาชนเข้าชมอย่างเป็นทางการในตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยจะเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์การป่าไม้ พิพิธภัณฑ์มีชีวิตด้านสถาปัตยกรรมและสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแห่งใหม่ของ จ.แพร่ ที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน