ราคาข้าวเปลือกร่วงหนัก ส่งผลกระทบต่อชาวนาเต็ม ๆ ไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนไปกี่ยุคกี่สมัย กระดูกสันหลังของชาติ ยังต้องเผชิญปัญหาเดิม ๆ คือ ราคาข้าวตกต่ำ สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ ราคาปุ๋ยแพง น้ำมันแพง ค่าจ้างงานขึ้นราคา ข้าวเปลือกแห้ง ประเภทข้าว กข. ราคาต่ำสุด เกวียนละ 5,500 บาท และสูงสุดเกวียนละ 8,200 บาท
หากเป็นราคาข้าวหอมมะลิ จากเดิมขายได้เกวียนละเกือบ 20,000 บาท เหลือเพียง 15,000 บาท เทียบกับเท่ากับราคาประกันในอดีต คนทำนา หรือผู้เช่าที่ดินทำนา แทบไม่เหลืออะไรเลย หากคำนวณต้นทุนการผลิต ทั้งหมดในวงรอบช่วง 4-5 เดือนต่อฤดูการทำนาปรัง และทำนาปีในช่วง 6 เดือน

ในปีนี้ ชาวนาทั่วประเทศ ล้วนประสบชะตากรรมไม่ต่างกัน ประเทศไทยมีพื้นที่ทำการเกษตร 149.75 ล้านไร่ มีพื้นที่ชลประทาน 34.88 ล้านไร่ หรือร้อยละ 23.29 ของพื้นที่ทำการเกษตร โดยพื้นที่ทำการเกษตรมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 46.69 ของพื้นที่ทั้งประเทศ และมีแรงงานภาคเกษตรจำนวน 11.63 ล้านคน
ชาวนาหลายคนยอมรับว่า ในทุกๆ ปี ต้นทุนการทำนาสูงเพิ่มขึ้นทุกวัน สวนทางกับราคาข้าวที่มีแนวโน้มลดลง และการทำนาในฤดูกาลหนึ่ง ไม่ได้มีเฉพาะค่าใช้จ่าย อย่าง น้ำมัน ค่ารถไถ ค่าปุ๋ย หรือยาฆ่าแมลง เท่านั้น แต่ยังต้องมีการตีดิน ค่าทำเทือก ค่าเก็บเกี่ยว ค่าจ้างแรงงาน แฃะอีกจิปาถะ สาระตะแล้ว ลงทุนเกือบหลักแสนบาท ชาวนาหลายๆ รายหักรบกลบหนี้แล้ว ได้กำไรเพียงหลักหมื่นเท่านั้น

เปิดต้นทุนการผลิตข้าว "ชาวนาไทย"
นางไพรรัตน์ ทองเนื้อดี (ต้อย) อายุ 52 ปี ชาวนาพื้นที่ คลอง 10 ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เล่าว่า ทำนาจำนวน 18 ไร่ ในแต่ละรอบต้องใช้เงินลงทุนหลายแสนบาท ต้องจ้างตั้งแต่ การปรับหน้าดิน หว่านเมล็ด ไถพรวน ให้ทันฤดูน้ำ ก่อนเข้าสู่ช่วงการเจริญเติบโตและเก็บเกี่ยว รวมถึงค่าเช่านา ต้นทุนต่อไร่อยู่ที่ประมาณ 800 บาท หรือรวมแล้ว ประมาณ 14,400 บาท
สำหรับต้นทุนการผลิต (นาเช่า) กล่าวว่า ปีหนึ่งปลูกข้าวปีละไม่เกิน 2 ครั้ง แต่ละครั้งปลูกข้าวบนเนื้อที่ 18 ไร่ จะมีอัตราค่าเช่านา 800 บาท / 1 ไร่ ยังไม่รวม ค่าเมล็ดข้าวอัตรา 1 ลูก ต่อ 1 ไร่ ทั้งหมด 18 ไร่ รวมเป็น 11,700 บาท, ค่าปุ๋ยประมาณ 1,200 ค่ายาฆ่าแมลง ประมาณ 1,200 ต่อ 1 ไร่ ทั้งหมด 18 ไร่ รวมเป็น 79,200 บาท ค่าเชื้อเพลิงดีเซล-เบนซิน เฉลี่ย 33 บาทต่อไร่ ค่าไถ่ 200 บาทต่อ 1 ไร่, ตีดิน 150 บาท ต่อ 1 ไร่
ส่วนขั้นตอนในการบำรุงรักษา ได้แก่ วิดน้ำใส่หลังจากฉีดยาฆ่าหญ้า 8-12 วัน, ฉีดยากำจัดแมลง ศัตรูพืชระยะ 15-20 วัน ใส่ปุ๋ย ระยะที่ 1 ช่วง 18-25 วัน ครึ่งลูก ต่อ 1 ไร่ = 600 บาทต่อ 1 ไร่
ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต ยังมีค่าขนส่งเพื่อนำไปขาย ครั้งหนึ่งในการเก็บเกี่ยวจะคิดเป็น 1 เกวียน คือ 100 บาท (ซึ่ง 1 เกวียน เท่ากับ 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัม) การเก็บเกี่ยวข้าวไปขายจึงประมาณ 500 บาท ปัจจุบันรับซื้อ ราคาข้าวเบา อยู่ที่ตันละ 6,800 บาท
ปลูกข้าวทำแล้วก็ต้องให้คุ้มกับเวลา ซึ่งมี 2 ครั้งใน 1 ปี หากทำน้อย รายรับที่ได้อาจไม่เหลืออะไรเลย ไม่พอเหลือกิน เหลือใช้
นางไพรัตน์ เล่าว่า แม้ปัจจุบัน เทคโนโลยีโดรนเข้ามาช่วยลดค่าใช้จ่ายในการหว่านปุ๋ย ทำให้ยังพอมีส่วนต่างเป็นกำไรเมื่อขายผลผลิต เป็นการลดต้นทุนให้ชาวนาอีกทาง
เธอย้อนความหลังว่า ช่วงที่การปลูกข้าวมีกำไรมากที่สุดคือราว 10 ปีก่อน เพราะค่าปุ๋ย ค่ายา และสารกำจัดแมลงยังไม่สูงเท่าทุกวันนี้ แต่แม้ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น และบางปีราคาข้าวอาจไม่ดีนัก เธอยังคงยึดอาชีพนี้ต่อไป เพราะตลอดชีวิตผูกพันกับการทำนา และยังสามารถเลี้ยงครอบครัวได้
อ่านข่าว : เปิด 7 มาตรการเร่งดันราคาข้าว ประชุมอนุ นบข.20 ก.พ.นี้