แม้ตลอดช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และรัสเซียจะเคยพบปะกันบนเวทีประชุมในหลายประเทศ แต่แทบไม่เคยหันหน้าพูดคุยกัน ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ตกต่ำถึงขีดสุดนับตั้งแต่สงครามเย็น ดังนั้นการประชุมที่ซาอุดีอาระเบียเมื่อวันที่ 18 ก.พ. จึงถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด
การประชุมครั้งนี้อนุญาตให้สื่อเข้าไปบันทึกภาพได้เพียง 1 นาที ซึ่งในระหว่างนั้นทีมเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝั่งไม่เปิดปากพูดคุยกันเหมือนการประชุมตามปกติ ขณะที่มีรายงานว่าทีมซาอุดีอาระเบียออกจากห้องประชุมหลังกล่าวต้อนรับพอเป็นพิธี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ กับรัสเซียนั่งร่วมโต๊ะหารือเพื่อยุติสงครามในยูเครน โดยใช้เวลาคุยกันนานกว่า 4 ชั่วโมง
ทีมรัสเซีย ระบุว่า การประชุมครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่นและแม้ว่าจะไม่ได้ถึงกับทำให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่ทั้ง 2 ฝ่ายก็ได้พูดคุยในประเด็นสำคัญอย่างจริงจัง โดยสหรัฐฯ รับฟังและเข้าใจจุดยืนของรัสเซีย รวมทั้งพูดคุยกันในเรื่องที่ตกลงกันได้ ซึ่งรัสเซียระบุว่าท่าทีเช่นนี้แตกต่างไปจากรัฐบาลโจ ไบเดน
การพูดคุยระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียครั้งนี้ ถูกมองว่าจะเป็นการปูทางไปสู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศหรือไม่ เพราะตัวแทนที่แต่ละประเทศส่งมาล้วนแล้วแต่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้นำประเทศ อย่างทีมรัสเซียมีทั้ง เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศที่อยู่ในตำแหน่งนี้มานานกว่า 20 ปี และยูริ อูชาคอฟ ที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศของปูติน และเป็นอดีตเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐฯ ด้วย

(เรียงจากซ้าย) เจ้าชาย Faisal bin Farhan al-Saud รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย / Mosaad bin Mohammad al-Aiban ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ / Yuri Ushakov ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีรัสเซีย / Sergei Lavrov รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย
(เรียงจากซ้าย) เจ้าชาย Faisal bin Farhan al-Saud รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย / Mosaad bin Mohammad al-Aiban ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ / Yuri Ushakov ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีรัสเซีย / Sergei Lavrov รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย
ขณะที่ทีมสหรัฐฯ นอกจากรัฐมนตรีต่างประเทศและที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติแล้ว ที่น่าสนใจคือ สตีฟ วิตคอฟฟ์ ผู้แทนด้านตะวันออกกลาง ซึ่งทำให้หลายคนสงสัยว่าเวทีนี้น่าจะคุยกันเรื่องยูเครน แต่เหตุใดวิตคอฟฟ์ถึงเข้าร่วมการหารือด้วย
วิตคอฟฟ์ เป็นเพื่อนกับทรัมป์และเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเขาเพิ่งบินไปกรุงมอสโก เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการปล่อยตัวครูชาวอเมริกันที่ถูกจำคุกในรัสเซียจากข้อหาครอบครองกัญชา ซึ่งในครั้งนั้นวิตคอฟฟ์ได้พบผู้นำรัสเซียและคุยกันนานร่วม 3 ชั่วโมง ดังนั้นเวทีแรกที่ 2 ประเทศจะคุยกันอย่างจริงจังจึงขาดวิตคอฟฟ์ไปไม่ได้
ทีมสหรัฐฯ ตั้งโต๊ะแถลงข่าว ระบุว่า ทั้ง 2 ประเทศเห็นชอบร่วมกันใน 4 หลักการ คือ การเพิ่มเจ้าหน้าที่สถานทูตของแต่ละประเทศเพื่อให้งานทางการทูตกลับมาเป็นปกติ แต่ละฝ่ายจะแต่งตั้งทีมเจ้าหน้าที่ระดับสูงเพื่อเจรจายุติความขัดแย้งในยูเครน รวมทั้งเริ่มหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์หลังสงครามสิ้นสุดลง และสุดท้ายคือ ทั้ง 5 คนที่ร่วมประชุมจะพูดคุยและผลักดันให้กระบวนการเหล่านี้คืบหน้าไปให้ได้
มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าวว่า การหารือครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเพื่อสร้างช่องทางการสื่อสารระหว่าง 2 ฝ่ายเท่านั้น ซึ่งหนทางในการยุติสงครามยังคงอยู่อีกยาวไกลและจะไม่มีใครถูกลดบทบาท หลังจากหลายคนตั้งคำถามว่า เหตุใดยูเครนและยุโรปจึงไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย

(เรียงจากซ้าย) Steve Witkoff ผู้แทนด้านตะวันออกกลาง / Marco Rubio รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ / Mike Waltz ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ
(เรียงจากซ้าย) Steve Witkoff ผู้แทนด้านตะวันออกกลาง / Marco Rubio รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ / Mike Waltz ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ
ขณะที่ ไมค์ วอลท์ซ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ เปิดเผยว่า การเจรจาเพื่อยุติสงครามในยูเครนจะพุ่งเป้าไปที่การพูดคุยเรื่องดินแดนและการรับประกันความมั่นคง ซึ่งรัสเซียสะท้อนจุดยืนไปยังสหรัฐฯ ว่าคัดค้านการส่งทหารของชาติสมาชิก NATO เข้าไปในยูเครน
หนึ่งในคำถามที่สื่อสนใจในการประชุมเมื่อวันที่ 18 ก.พ. คือ ทรัมป์กับปูตินจะเจอกันที่ซาอุดีอาระเบียในสัปดาห์หน้าใช่หรือไม่ โดยทีมรัสเซียระบุว่าน่าจะยาก เพราะหากจะจัดการประชุมจริงอาจต้องใช้เวลาเตรียมการ ซึ่งเมื่อพูดมาถึงตรงนี้หลายคนมองไปถึงบทบาทของซาอุดีอาระเบียในฐานะโซ่ข้อกลางระหว่าง 2 มหาอำนาจโลก
คนที่สำคัญที่สุดในสมการความสัมพันธ์นี้ หนีไม่พ้น โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย หรือที่เรียกกันติดปากว่า MBS โดยพระองค์ทรงมีส่วนช่วยในการเจรจาแลกเปลี่ยนตัวนักโทษระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียครั้งใหญ่ที่สุดเมื่อปี 2024 และล่าสุดคือการปล่อยตัวครูชาวอเมริกันจากเรือนจำรัสเซีย
สงครามรัสเซีย-ยูเครน ผลักให้หลายประเทศต้องยอมเลือกข้าง แต่ไม่ใช่กับซาอุดีอาระเบียที่ยังคงรักษาความสัมพันธ์อันดีได้กับทั้งสหรัฐฯ และรัสเซีย โดยซาอุดีอาระเบียถือเป็นประเทศแรกที่ทรัมป์เลือกเดินทางเยือนขณะก้าวขึ้นเป็นผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรกในปี 2017 และตระกูลอัล ซาอุด ก็รักษาความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับตระกูลทรัมป์อย่างแน่นแฟ้นเรื่อยมา
ขณะที่ซาอุดีอาระเบียร่วมมือด้านพลังงานกับรัสเซียตลอดช่วง 3 ปีของสงคราม ซึ่งช่วยให้รัสเซียลดผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกไปได้บ้าง นอกจากนี้ผู้นำรัสเซียยังเคยเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียเมื่อปี 2023 รวมทั้งช่วยให้ซาอุดีอาระเบียได้เป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS
ซาอุดีอาระเบียภายใต้การนำของ MBS ก้าวขึ้นมาเฉิดฉายบนเวทีระหว่างประเทศในฐานะผู้เล่นคนสำคัญในการยุติความขัดแย้งทั่วโลก ซึ่งสงครามในยูเครนเป็นหนึ่งในนั้น
อ่านข่าว
ฮามาสเตรียมปล่อยตัวประกันเพิ่ม 6 คน 22 ก.พ.นี้