ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

REIC เผยไตรมาส 4 ปี 67 ราคาบ้านเพิ่มขึ้น 0.8% - คอนโด 3.6%

สังคม
6 ก.พ. 68
13:20
45
Logo Thai PBS
REIC เผยไตรมาส 4 ปี 67 ราคาบ้านเพิ่มขึ้น 0.8% - คอนโด 3.6%
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
REIC เผยที่อยู่อาศัยไตรมาส 4 ปี 2567 ในพื้นที่เมือง-แนวรถไฟฟ้าราคาเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ราคาบ้านเพิ่มขึ้น 0.8% ส่วนคอนโดขึ้น 3.6% ปัจจัยต้นทุนราคาที่ดิน-ค่าก่อสร้าง คาดแคมเปญสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ กระตุ้นตลาดต้นปี 68

วันนี้ (6 ก.พ.2568) ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รายงานสถานการณ์ราคาที่อยู่อาศัย ไตรมาส 4 ปี 2567 พบว่า มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาบ้านจัดสรร และห้องชุดใหม่ที่อยู่ระหว่างการขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)

ราคาบ้านจัดสรรใหม่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 9 ไตรมาส ขณะที่ราคาห้องชุดใหม่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 8 ไตรมาส ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งราคาที่ดิน ราคาวัสดุก่อสร้าง และค่าก่อสร้าง รวมถึงค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ที่อยู่อาศัยในโครงการเปิดขายใหม่มีราคาสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามคาดว่า การจัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำของสถาบันการเงินจะช่วยกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงต้นปี 2568 โดยได้รับแรงสนับสนุนให้สถานการณ์ราคาที่อยู่อาศัย ไตรมาส 4 ปี 2567 เพิ่มสูงขึ้น จากปัจจัยดังต่อไปนี้

1.ดัชนีราคาบ้านจัดสรรใหม่ที่อยู่ระหว่างการขาย ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 มีค่าดัชนี 131.4 จุด ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยพื้นที่กรุงเทพฯ มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ซึ่งสูงกว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ) ที่มีค่าดัชนีลดลงร้อยละ -1.0 โดยการลดลงดังกล่าวเกิดจากการปรับราคาลดลงของดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์ อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกประเภทบ้านจัดสรร พบว่า ราคาบ้านเดี่ยวในไตรมาส 4 ปี 2567 ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.1

ขณะที่ราคาทาวน์เฮ้าส์ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการจัดรายการส่งเสริมการขาย โดยการให้ส่วนลดเงินสดในไตรมาสนี้สูงถึงร้อยละ 29.6 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 21.0 ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย

ขณะที่บ้านเดี่ยวในกรุงเทพฯ ที่มีราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดในไตรมาสนี้ ได้แก่ ย่านมีนบุรี–หนองจอก–ลาดกระบัง ในกลุ่มราคาเกิน 10 ล้านบาท ส่วนทำเลบ้านเดี่ยวใน 3 จังหวัดปริมณฑล ที่มีราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดในไตรมาสนี้ ได้แก่ ย่านลำลูกกา–คลองหลวง–ธัญบุรี ในกลุ่มราคา 7.51–10 ล้านบาท ส่วนทาวน์เฮ้าส์ในกรุงเทพฯ ที่มีราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดในไตรมาสนี้ ได้แก่ ย่านพระโขนง บางนา สวนหลวง ประเวศ ในกลุ่มราคา 5.01 – 7.50 ล้านบาท ส่วนทาวน์เฮ้าส์
ใน 3 จังหวัดปริมณฑล ที่มีราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดในไตรมาสนี้ ได้แก่ ย่านบางกรวย บางใหญ่ บางบัวทอง ไทรน้อย ในกลุ่มราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท

2.ดัชนีราคาห้องชุดใหม่ที่อยู่ระหว่างการขาย ไตรมาส 4 ปี 2567 ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีค่าดัชนีเท่ากับ 159.9 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) การเพิ่มขึ้นดังกล่าวสะท้อนถึงต้นทุนการพัฒนาโครงการที่สูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนค่าที่ดินในบริเวณตามแนวรถไฟฟ้าที่มีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก เช่น รถไฟฟ้า BTS สายสีลม และรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน โดยราคาห้องชุดในพื้นที่กรุงเทพฯ ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 แต่ราคาเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าราคาห้องชุดในพื้นที่ 2 จังหวัดปริมณฑล (สมุทรปราการ และนนทบุรี) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)

ส่วนอาคารชุดในกรุงเทพฯ ที่มีราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดในไตรมาสนี้ ได้แก่ ย่านห้วยขวาง–จตุจักร–ดินแดง ในกลุ่มราคา 3.01–5.00 ล้านบาท ส่วนทำเลพื้นที่ปริมณฑล 2 จังหวัด (สมุทรปราการ-นนทบุรี) ที่มีราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด
ในไตรมาสนี้ ได้แก่ ย่านสมุทรปราการ–พระประแดง–พระสมุทรเจดีย์ ในกลุ่มราคา 2.01–3.00 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการจัดรายการส่งเสริมการขายห้องชุด โดยให้ส่วนลดเงินสดในไตรมาสนี้ในสัดส่วน
ร้อยละ 25.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 21.7 เพื่อเร่งรัดการตัดสินใจของผู้ซื้อเช่นเดียวกับโครงการบ้านจัดสรร

ขณะที่ต้นทุนค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน (HCCI) ณ ไตรมาส 4 ปี 2567 พบว่า มีค่าดัชนีเท่ากับ 139.9 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แสดงให้เห็นถึงต้นทุนค่าก่อสร้างที่อยู่อาศัย มีการปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้างและค่าแรงงาน โดยสุขภัณฑ์ ราคาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12.0 กระเบื้อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ไม้และ
ผลิตภัณฑ์ไม้ ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 และวัสดุอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เป็นผลมาจากราคาน้ำมันและราคาพลังงานที่สูงขึ้นในตลาดโลก ส่วนค่าแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0

ทั้งนี้ ภาวะที่ต้นทุนค่าก่อสร้างปรับราคาเพิ่มขึ้น ผลักดันให้ราคาขายที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่กำลังซื้อของประชาชนลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวในอัตราที่ต่ำ ดังนั้น สถาบันการเงินของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จึงพร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ในการจัดทำโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังเริ่มต้นชีวิตการทำงานและยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง คาดว่าโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ยต่ำดังกล่าว จะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจในการซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงต้นปี 2568 ได้เป็นอย่างดี

อ่านข่าว : จม.เปิดผนึกถึง "นายกฯ-สมศักดิ์" ปมยารักษาสมาธิสั้นขาดคราว  

ด่วน! ศาลฯ สั่งจำคุก 2 ปี "พิรงรอง" ผิด ม.157 คดี True ID ฟ้อง 

สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนระอุ กกร.หวั่นสินค้าจีนแย่งตลาดไทย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง