ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผู้ปกครองแชร์ภาพลูก-หลาน "เลือดกำเดา" ไหล - วอนเร่งแก้ฝุ่น

สังคม
25 ม.ค. 68
12:15
509
Logo Thai PBS
ผู้ปกครองแชร์ภาพลูก-หลาน "เลือดกำเดา" ไหล - วอนเร่งแก้ฝุ่น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้ปกครองแชร์ภาพลูก-หลาน "เลือดกำเดา" ไหล จากฝุ่นพิษ วอน นายกฯ เร่งแก้ไขปัญหาฝุ่น

สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่ปกคลุมหลายพื้นที่และยังไม่คลี่คลายในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อประชาชนเช่นกัน โดยเฉพาะประชาชนกล่มเปราะบางเช่น เด็กเล็กซึ่งได้รับผลกระทบหนัก ทั้งผื่นขึ้น และเลือดกำเดาไหล 

ขณะที่ในสื่อสังคมออนไลน์ผู้ปกครองโพสต์ภาพและข้อความ เตือนภัยและบอกเล่าเรื่องราวของลูกหลานเด็กเล็กเจ็บป่วย จากฝุ่น PM 2.5 ถี่และรุนแรงขึ้น 

เช่นผู้ใช้เฟซบุ๊ก "รัตติยาภร กลั่นชื่น (Mabel)" โพสต์ว่า ฝุ่นควันพิษเยอะ ลูกสาวแพ้ฝุ่นจนเลือดกำเดาไหลไม่หยุด แม้กระทั่งตอนนอนก็ยังไหล หมอบอกอาการแพ้ฝุ่น และ สงสารลูกมาก เกิดในยุคที่โรคระบาดหลากหลาย ฝุ่น PM 2.5 ทั้งบ้านอยู่ในเขตโรงงานปล่อยควันพิษ รอบบ้านเป็นไร่นาเผาหญ้า เผาขยะ กว่าจะโตหมดค่ารักษาไปเท่าไหร่

คุณภาพชีวิตเด็กไทย ลมหายใจที่สะอาดยังไม่มี #แชร์ไปให้ถึงนายกที ช่วยเด็กไทยพ้นฝุ่นควันที #ขออากาศดี ๆ หายใจบ้าง

สธ.แนะผู้ปกครองวิธีปฐมพยาบาลกรณี "เลือดกำเดาไหล"  

ขณะที่ นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า อาการเจ็บป่วยจากฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นรุนแรงกับเด็ก เพราะเด็กมีภูมิคุ้มกันโรคน้อยกว่าผู้ใหญ่ และส่วนใหญ่ชอบเล่นกลางแจ้ง เด็กเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 สูง

ในเด็กที่มีเลือดกำเดาไหล ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากอากาศแห้ง สัมผัสมลพิษ เป็นโรคเกี่ยวกับจมูก เช่น ไข้หวัด ภูมิแพ้ หากมีเลือดกำเดาไหล ผู้ปกครอง สามารถปฐมพยาบาลเองได้ที่บ้าน ให้เด็กนั่งเอียงตัวไปข้างหน้า ก้มศีรษะลงเล็กน้อย ใช้มือบีบบริเวณปีกจมูกข้างที่มีเลือดออกเบา ๆ อย่างน้อย 10 นาที และหายใจทางปากแทน อาจประคบเย็นบริเวณใบหน้าหรือหน้าผากร่วมด้วย แต่หากเกิน 30 นาที เลือดยังไม่หยุดไหล ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์

เปิด "5 โรค" อันตรายถึงชีวิต จากพิษฝุ่น PM 2.5

อีกมุมหนึ่ง นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รอง ผอ.รพ.มหาราช นครราชสีมา ให้ความรู้ด้านสุขภาพ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก "หมอเจด" ถึง 5 โรคอันตรายจาก PM 2.5 ทำให้

1.เยื่อบุตาอักเสบ มีอาการตาแดง ระคายเคือง ติดเชื้อได้

2.ถุงลมโป่งพอง เพราะฝุ่น PM 2.5 สามารถเข้าไปลึกถึงถุงลมปอดทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง จนปอดทำงานได้ไม่ดี อาการต้องสงสัยคือ หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยง่ายขึ้น ไอเรื้อรัง มีเสมหะเยอะ ริมฝีปากหรือปลายนิ้วเริ่มคล้ำ เพราะออกซิเจนไปเลี้ยงไม่พอ

3.โรคหลอดเลือดสมอง และสมองเสื่อม เพราะ PM 2.5 เข้าไปในกระแสเลือดและส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตในสมอง อาการคือ ปวดหัวเรื้อรัง มึนงงบ่อย หลงลืมง่าย แขนขาอ่อนแรง มองเห็นไม่ชัด พูดไม่ชัด

4. โรคหัวใจและหลอดเลือด สังเกตอาการ เจ็บแน่นหน้าอก รู้สึกเหมือนมีอะไรมากดทับ เหนื่อยง่าย วิงเวียนศีรษะ หรือหน้ามืดบ่อย ๆ

5.โรคมะเร็งปอด สัญญาณเตือนที่ควรระวัง ไอเรื้อรัง หรือไอแล้วมีเลือดปน น้ำหนักลดลงเร็วผิดปกติ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียตลอดเวลา

ขณะที่ วิธีป้องกันตัวเอง เช็กค่าฝุ่นก่อนออกจากบ้าน ถ้าสูงเกินไปควรหลีกเลี่ยง, ใช้เครื่องฟอกอากาศในบ้าน, หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ กินอาหารที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบ เช่น วิตามินซี และอี หรือ แอสตาแซนธิน

 

อ่านข่าว : วิ่งลุยฝุ่น! เช็ก 12 พื้นที่ PM 2.5 กทม.ยังวิกฤตเกิน 2 เท่า 

เร่งพิจารณา พ.ร.บ.อากาศสะอาด คาดเข้าสภาฯ วาระ 2-3 ช่วง ก.พ.นี้  

น้ำมูกไหลทำงานลำบาก แต่ต้องลุย! รับมือภูมิแพ้แบบคนสู้ชีวิต 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง