จากกรณีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทย ยุติความพยายามที่จะส่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 48 คนกลับไปประเทศจีน เพราะอาจละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
วันนี้ (22 ม.ค.2568) พ.ต.อ.คธาธร คำเที่ยง รองผู้บังคับการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง3 ในฐานะโฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยว่า ชาวอุยกูร์ทั้ง 48 คนยังคงอยู่ในความดูแลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในฐานะผู้ต้องขัง หรือผู้ต้องหา หรือผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
พร้อมยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมตามขั้นตอนปฏิบัติเป็นของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และขณะนี้ยังไม่ได้รับคำสั่งให้ส่งตัวชาวอุยกูร์ทั้งหมดกลับประเทศจีน
ขณะที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตำรวจไทยโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ดูแลเรื่องนี้ ยังไม่ได้รับคำสั่งหรือรายงานใด ๆ ที่้เกี่ยวกับการส่งตัวทั้ง 48 คน ซึ่งประเด็นนี้จะหารือกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้เป็นผู้พิจารณา
กมธ.การกฎหมายถกส่ง 48 ชาวอุยกูร์กลับจีน 29 ม.ค.นี้
สำหรับการส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน เป็นประเด็นที่กรรมธิการการกฏหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร จะหยิบยกมาหารือในการประชุมในวันที่ 29 ม.ค.นี้
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า ภาคประชาสังคมให้ความสนใจเรื่องนี้และยื่นให้กรรมาธิการตรวจสอบในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และไทยมี พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการซ้อมทรมาน โดยจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ขณะที่นายกัณวีร์ สืบแสง รองประธานคณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า ชาวอุยกูร์อยู่ในการควบคุมของไทยมานาน 10 ปี และมีการกดดันให้ส่งชาวอุยกูร์ 48 ชีวิตกลับไปประเทศต้นกำเนิด คือประเทศจีน ซึ่งในวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีน เชื่อว่าจะมีการพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างแน่นอน
นายกัณวีร์ สืบแสง
นอกจากนี้ยังเปิดเผยถึงข้อมูลจากชาวอุยกูร์ในห้องกัก ว่า มีผู้สอบถามว่ามีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศจีนหรือไม่ ซึ่งมีการถ่ายรูปใหม่ จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนได้ว่าอาจจะมีการผลักดันหรือไม่อย่างไร และอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ ที่จะตอบคำถามเวทีโลกในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แต่กลับจะผลักดันชาวอุยกูร์ 48 คนไปยังประเทศต้นกำเนิด ทั้งที่มีประเด็นการผลักดันชาวอุยกูร์กว่า 100 คนมาแล้วเมื่อปี 2558 ที่ยังไม่ทราบชะตากรรม
นายกัณวีร์ เห็นว่า ประเทศไทยต้องมีจุดยืนชัดเจนและแสดงบทบาทการเป็นผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนในเวทีระหว่างประเทศ และงานมนุษยธรรมให้ได้ จึงต้องหาทางออกในการแก้ไขปัญหานี้ พร้อมย้ำว่าหนทางการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยมี 3 ทาง คือ 1.การส่งกลับประเทศต้นกำเนิดโดยสมัครใจ 2.การผสมกลมกลืนในประเทศที่ขอลี้ภัย และ 3.การตั้งถิ่นฐานใหม่หรือการรวมครอบครัว โดยเชื่อว่าแนวทางที่ 3 จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่ไม่ส่งผลกระทบกับใคร
อ่านข่าว
ศาลสั่งจำคุก 1 ปี "ทนายเดชา" คดีหมิ่น อ.อ๊อด ปรับอีก 1 แสน
ผู้บริโภค! เช็กสิทธิเยียวยาปมแอปเงินกู้ OPPO ส่ง OTA เวอร์ชันใหม่