ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เดือดกลางวง หนุน-ค้าน "วัคซีนคุมกำเนิดช้าง" เข็มละ 8,000 บาท

สิ่งแวดล้อม
17 ม.ค. 68
13:18
1,084
Logo Thai PBS
เดือดกลางวง หนุน-ค้าน "วัคซีนคุมกำเนิดช้าง" เข็มละ 8,000 บาท
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ถกเดือดกลางวง รับฟังความเห็น “วัคซีนคุมกำเนิดช้าง” ราคาเข็มละ 8,00 บาท ยันยังไม่นำเข้าล็อตใหญ่ เตรียมส่งเสนอบอร์ดช้างเคาะเดินหน้าต่อ ขณะที่ฝ่ายค้านชี้อาจไม่ช่วยช้างป่าตะวันออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษได้

วันนี้ (17 ม.ค.2568) การเปิดรับฟังความคิดเห็นโครงการนำร่องการใช้วัคซีนคุมกำเนิดระยะยาวในช้างป่าเอเชีย ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เชิญตัวแทนจากคณะกรรมธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาช้างป่า สัตวแพทย์ทีมวิจัย "SpayVac®" นักวิชาการด้านสัตว์ป่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกว่า 300 คนร่วมรับฟัง หลังดรามาขอให้ชะลอการทดลองฉีดวัคซีนในช้างป่าตะวันออก นำร่อง 20 ตัว

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ต้องการให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้ระดมความเห็นร่วมกันอย่างมีเหตุผล แต่จะไม่ใช่การโหวต ซึ่งวัคซีนคุมกำเนิดช้างเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาช้างที่เป็นมติความเห็นของบอร์ดช้างแห่งชาติ

โดยมีการทำงานร่วมกันมาแล้ว 1 ปี กับทีมสัตวแพทย์ มช.นำร่องช้างบ้าน 7 เชือกที่ได้ผลดี และเตรียมทดลองในช้างป่าตะวันออกในเดือนม.ค.นี้ แต่มีทั้งเสียงที่เห็นด้วยและค้าน จึงต้องหาทางออกจากเวทีนี้ ไปนำเสนอให้บอร์ดช้าง

ยืนยันว่ายังไม่มีการสั่งวัคซีนล็อตใหญ่เข้ามาเพื่อทดลอง แต่จะใช้เพียง 20 โดสจากที่นำเข้ามาล็อตแรกจากเฟสทดลองในช้างบ้านมาแล้วเท่านั้น

นายอรรถพล ระบุว่า การคุมกำเนิดช้างเพื่อลดจำนวนช้างออกนอกพื้นที่โดยการทดสอบในช้างป่า จะมีทีมสัตวแพทย์ของ มช. กรมอุทยานฯ และนักอนุรักษ์ ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่าจะเลือกช้างตัวเมียโขลงในป่า หรือช้างที่หากินนอกพื้นที่ แต่ยืนยันทำอย่างรอบคอบรัดกุมแน่นอน

หนุนเลิกวัคซีนช้าง ไม่ถูกจุด คุมช้างออกนอกป่าไม่ได้

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีต ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า ไม่ได้คัด ค้านการใช้วัคซีนคุมกำเนิดช้าง และเข้าใจผลกระทบที่ชาวบ้านทุกพื้นที่ แต่มองว่าการนำเข้าวัคซีนซึ่งมีราคาแพงมาใช้อาจไม่คุ้มค่า รวมถึงขั้นตอนในป่าที่ต้องใช้ทีมสัตวแพทย์ในการเข้าถึงช้าง จึงค่อนข้างเสี่ยงทั้งคนและช้าง

พร้อมตั้งคำถามว่าประชากรช้างป่าเพิ่มขึ้นจากปี 2520 จริงหรือไม่ ซึ่งถ้าเทียบตัวเลขอดีตจนถึงปี 2567 ที่กรมอุทยานฯ ระบุว่ามีช้างป่าเพิ่มจำนวน 4,013-4,422 ตัว

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีต ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีต ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีต ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ


มองว่าการใช้วัคซีนคุมกำเนิดไม่ถูกจุดในการป้องกันช้างออกนอกพื้นที่ป่าได้ โดยเฉพาะป่ารอยต่อ 5 จังหวัดตะวันออก ช้างออกนอกพื้นที่นั้นอาจต้องหาพื้นที่รอบ ๆ ที่ถูกบุกรุกคืนให้เป็นถิ่นอาศัยของช้าง และมองว่าควรยกเลิกโครงการนี้ และหาทางเลือกอื่น

ขณะที่ รศ.ดร.น.สพ.ฉัตรโชติ ทิตาราม รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และวิเทศสัมพันธ์ และ ผอ.ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มช. ซึ่งทำวิจัย SpayVac® ในช้างบ้าน กล่าวว่า pZP vaccine ผลิตจากโปรตีนของผิวของไข่สุกร ที่เรียกว่า zona pellucide (ZP) มีการใช้กันอย่างกว้างขวางในสัตว์ป่า ในช้างป่าแอฟริกา กวาง แมวน้ำ และกำลังทดลองในลิงที่ฮ่องกง 

โดยมีการเลือกใช้กับช้างตัวเมียภายในฝูง โตเต็มวัย มีลูกมาแล้ว 1-2 ตัว ภูมิคุ้มกันที่สร้างจะอยู่ในของเหลวภายในรังไข่ เพื่อป้องกันการปฏิสนธิของอสุจิและไข่ โดย pZP vaccine ชนิด spayvac มีการทดสอบการใช้ในช้างบ้านที่ปางช้างเชียงใหม่ 7 เชือกโดยการยิงยาระยะไกลให้เข้ากล้ามเนื้อมัดใหญ่ และให้ลึกพอจะดูดซึมยา

จากการทดลองไม่พบภาวะการแพ้วัคซีน หรือการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน ซึ่งมีประเมินผลจากการติดตั้งจีพีเอส รวมทั้งมีการฝังไมโครชิพ และยืนยันว่าไม่ใช่การทารุณกรรมช้างอย่างแน่นอน

สำหรับการนำเข้า SpayVac® ไม่ต้องกระตุ้นวัคซีน และมีภูมิคุ้มกัน 7 ปี ราคานำเข้า 250 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 โดส หรือประมาณ 8,000 กว่าบาท ซึ่งการนำเข้าวัคซีนต้องขออนุญาตนำเข้าตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ตามมาตรา 10(5) ขององค์การอาหารและยา

การใช้วัคซีนคุมกำเนิดในช้างป่า ถือเป็นทางเลือกในการจัดการประชากรช้าง ลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนละช้างได้ หากเทียบกับในอดีตที่แอฟริกา เคยต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์ยิงช้างนับแสนตัวเพื่อลดประชากร

ยันทางเลือกลดประชากรช้าง

ส่วนดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผอ.ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า ระบุว่า แต่ละปีมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างใน 71 พื้นที่ ตัวเลขปีล่าสุดเสียชีวิต 39 คน บาดเจ็บ 34 ความเสียหายต่อพืชผลเกษตร 1,638 คน

ยอมรับว่ายังเป็นตัวเลขขั้นต่ำ แนวทางการนำวัคซีนมาใช้เป็นหนึ่งในทางเลือกที่คณะกรรมการแก้ปัญหาช้างเห็นชอบไว้ และมีการทดสอบในช้างบ้านมาแล้ว 7 เชือก ตามแผนจะทดลองในป่าตะวันออกที่มีประชากรช้างป่าเพิ่มราว 7% ต่อปี

ส่วนข้อเสนอที่ขอให้ชะลอการทดสอบในช้างป่า เพราะผลทดสอบวัคซีนช้าง 7 เชือกเพิ่งผ่านการทดลองเพียง 1 ปีนั้น นายศุภกิจ ยอมรับว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเข้าใจเป็นเรื่องใหม่ที่มีทั้งคนกังวลทางวิชาการ จึงต้องพูดคุยกับทุกภาคส่วน แต่ถ้าจะรอการทดสอบถึง 7 ปีอาจไม่ทันกับสถานการณ์ช้างที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่า จึงต้องหาข้อสรุปเพื่อให้ทดลองในช้างป่า

ด้านนายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยองพรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตามผลการดำเนินงานและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน รวมทั้งมาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า หลังจากนี้จะเชิญตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาช้างป่า และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้วัคซีนคุมกำเนิดช้างป่า

รวมทั้ง น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา มาร่วมประชุมเพื่อเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาช้างป่าต่อไป อย่างไรก็ตามการใช้วัคซีนคุมกำเนิดช้างเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาช้างป่าของ กมธ.ควบคู่กับการใช้มาตรการอื่น ๆ ร่วมด้วย

อ่านข่าว : 17 ม.ค.กรมอุทยานฯ ดีเบตวัคซีนคุมช้างป่าตะวันออก 

ส่วนประเด็นที่มีการพูดถึงมาตรฐานวัคซีน กรณีการใช้เพียง 1 ปียังไม่ครบอายุของฤทธิ์ยาวัคซีนที่ว่าจะออกฤทธิ์กันคุมกำเนิดได้ถึง 7 ปี จะไม่ถือว่า เป็นการทดลองที่สำเร็จ จึงตอบไม่ได้ว่าจะเกิดผลกระทบกับช้างป่าหรือไม่ แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบหากมีผลข้างเคียงที่รุนแรง

ยันไทยการุณยฆาตไม่ได้

นายสัตวแพทย์บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ นายกสมาคมสัตว์สัตว์ป่าและสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกลุ่มป่าตะวันออกระหว่างคนกับช้าง ไม่สามารถรอให้การทดลองกับช้างบ้านสิ้นสุดโครงการตามระยะเวลารับวัคซีน 7 ปี

หากเทียบกับวิธีจัดการกับสัตว์ป่าที่มีประชากรไม่สมดุลกับพื้นที่ของต่างประเทศที่มีความรุนแรงถึงขั้นการุณยฆาต แต่ไทยจะไม่เลือกใช้

จึงใช้วิธีนี้ โดยช้างป่าจะไม่ลดจำนวนประชากรลงอย่างเฉียบพลัน หรือสูญพันธุ์ไปจากป่าตะวันออก แต่ก็จะลดอัตราการเกิดแต่ละปี ให้สมดุลกับการตายโดยธรรมชาติของช้างป่า เพื่อกำหนดความเหมาะสมของพื้นที่แล้วจะหยุดโครงการนี้

สำหรับทิศทางการเสนอความเห็น ที่มีข้อเสนอแนะจากผู้ได้รับผลกระทบตัวจริง หลายพื้นที่รอบป่าตะวันออกที่เดินทางมา ระบุว่า ไม่ได้สนับสนุนการใช้วัคซีนคุมกำเนิดช้างป่าอย่างเต็มตัว แต่ต้องการให้ภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบการดูแลความปลอดภัยจากช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยตรง ใช้วิธีการใดก็ได้เพื่อให้ลดความขัดแย้งลง โดยเฉพาะการแบ่งโซนอยู่อาศัยระหว่างคนกับสัตว์ป่าขนาดใหญ่ประเภทนี้

อ่านข่าว สู้เพื่อช้าง! บุก ทส.ค้านวัคซีนคุมกำเนิดช้างป่า 

สรุปว่าให้ทำแผนและขั้นตอนการทดสอบ แล้วนำเข้าคณะกรรมการช้าง จึงจะเริ่มทดลอง 18 โดส โดยต้องประเมินหลังการทดสอบ และนำเข้าคณะกรรมการอีกรอบ หากเห็นชอบถึงจะใหจัดซื้อเพิ่มมา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง