กรณีสมาร์ตโฟน 2 ยี่ห้อติดตั้งแอปพลิเคชันกู้เงิน “สินเชื่อความสุข” และ “Fineasy” มากับโทรศัพท์มือถือ และไม่สามารถถอนการติดตั้งได้

ผู้เสียหายรายหนึ่ง ที่เคยกู้เงินจากแอปฯ "สินเชื่อความสุข" เปิดเผยกับไทยพีบีเอสว่า ซื้อโทรศัพท์ Realme รุ่น 1 มาในราคาเกือบ 6,000 บ. มีแอปพลิเคชัน Fineasy ติดตั้งมากับเครื่อง
- ร้องเรียนสมาร์ตโฟนพ่วงแอปพลิเคชันกู้เงิน
- "OPPO - RealMe" ยอมรับติดตั้งแอปฯ เงินกู้จากโรงงาน-ไม่ได้ขอ ธปท.
มีการแจ้งเตือนบริการสินเชื่อ โดยผู้เสียหายคิดว่าเป็นแอปฯ ถูกกฎหมาย ดังนั้นจึงลองขอกู้เงินจากแอปฯดังกล่าว เมื่อครบ 7 วันจึงถูกทวงถามหนี้พร้อมดอกเบี้ย โดยแอปฯ ได้เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ และโทรศัพท์ไปทวงเงินจากรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์ ซึ่งเชื่อว่าเข้าข่ายการประจาน

ผู้เสียหายรายนี้ กล่าวว่า เธอขอกู้เงินจากแอปฯ “สินเชื่อความสุข” ซึ่งให้บริการอยู่ภายในแอปฯ “Fineasy” อีกที เพราะเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ ในแอปฯ จะแสดงวงเงินกู้ 1,000 - 5,000 บ.

หลังเธอกรอกข้อมูลส่วนตัว และต้องคลิกซื้อ "เพชร" ระหว่างที่ทำรายการ มิฉะนั้นจะไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เมื่อใส่เลขบัญชี ยังไม่ทันได้ยืนยันวงเงินที่ต้องการ เงินก็เข้าบัญชีทันที 3,550.58 บ.โดยที่ไม่รู้ว่ายอดเต็ม คือ จำนวนเท่าไหร่ แต่เมื่อครบกำหนด 7 วัน แอปฯ เรียกเก็บเงิน 4,615.86 บ. เพิ่มขึ้นทันที 1,065.28 บ.หรือประมาณ ร้อยละ 30

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ม.ค.มีข่าวเกี่ยวกับแอปฯ “สินเชื่อความสุข” เข้าข่ายผิดกฎหมาย เธอจึงลบแอปฯ ทิ้ง แต่จากนั้นพยายามดาวน์โหลดใหม่เพื่อจ่ายเงินทั้งหมด แต่ก็หาแอปฯ ดังกล่าวไม่เจอแล้ว แต่ยังมีข้อความทวงหนี้ ให้แบ่งจ่ายเป็น 2 งวด โดยมีคิวอาร์โค้ดให้สแกนจ่าย แต่เธอไม่ได้จ่าย

วันถัดมาก็มีสายโทรศัพท์ โทรศัพท์มาทวงหนี้ เมื่อสอบถามถึงยอดชำระที่สูงกว่าปกติ ทางปลายสายอ้างว่า เป็นค่าดอกเบี้ย และค่าดำเนินการ แต่เธอแจ้งว่า ต้องการจ่ายผ่านแอปฯ เท่านั้น ซึ่งเมื่อคนทวงหนี้ของแอปฯ ติดต่อเธอไม่ได้ ก็โทรไปทวงหนี้กับบุคคลที่ 3 ซึ่งไม่ใช่ผู้ที่แจ้งไว้ในรายชื่อผู้ติดต่อขณะลงทะเบียนขอกู้

ผู้เสียหายยังให้ข้อมูลด้วยว่า หมายเลขโทรศัพท์ ที่โทรมาติดตามทวงถาม จากการติดตั้งแอปพลิเคชัน Whoscall ที่ใช้ตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์แปลกปลอมในเครื่อง ได้ระบุว่า เบอร์นี้ เป็นเบอร์ของมิจฉาชีพ

ส่วนข้อความทวงถามหนี้ จะระบุคิวอาร์โค้ดให้สแกนจ่าย เมื่อลองสแกนดู พบว่า แหล่งรับเงินเป็นแอปฯ K Shop สำหรับบริการร้านค้าของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง แต่หมายเลขลงทะเบียนรับเงิน ไม่เคยซ้ำกันแม้แต่ครั้งเดียว ยิ่งทำให้ผู้เสียหายรู้สึกผิดปกติ และจนถึงเมื่อวานนี้ (13 ม.ค.68) ก็ยังโทรมาทวงหนี้อย่างต่อเนื่อง

อ่านข่าว : ผู้เชี่ยวชาญแนะ "สคบ.-กสทช." ตรวจเข้มงวดมือถือ ช่วยคุ้มครองผู้ใช้
เปิดแนวทางเอาผิด OPPO-Realme ติดตั้งแอปฯ กู้เงิน
กสทช.ขีดเส้น OPPO-Realme ลบแอปฯ กู้เงิน 16 ม.ค.นี้