ความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ช่วยเหลือเสือโคร่งได้รับบาดเจ็บจากบ่วงดักสัตว์ หลังพบนอนอยู่ในร่องห้วยที่มีหญ้ารกทึบ นอกเขตอุทยานแห่งชาติพุเตย เมื่อคืนวันที่ 8 ม.ค.2568 ก่อนเคลื่อนย้ายมารักษาที่ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก โดยพบว่า อาการบวมบริเวณแผลลดลง ลงน้ำหนักได้ทั้ง 4 ขา โดยเฉพาะขาหน้าข้างขวาที่ได้รับบาดเจ็บมีพัฒนาการที่ดีขึ้น
เสือโคร่งตัวดังกล่าว กินอาหารได้ตามปกติ โดยกินเนื้อหมูวันละ 3 กิโลกรัม อกไก่ 1 กิโลกรัม และโครงไก่ 2 โครง ส่วนการถ่ายทั้งอุจจาระและปัสสาวะเป็นปกติ ซึ่งทีมสัตวแพทย์ยังคงดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งกั้นสแลนรอบกรง เพื่อรักษาความสงบและป้องกันเสือเครียดระหว่างการรักษา ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก Thailand Tiger Project DNP โพสต์ข้อความไขข้อสงสัย "เสือ แร้วพุเตย" มาจากป่าห้วยขาแข้งจริงหรือไม่
เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ช่วยเสือโคร่งติดบ่วงรอดตายสำเร็จ หลังค้นหานาน 3 วัน จากการตรวจสอบพบว่า เป็นเสือโคร่งเพศเมียจากผืนป่าห้วยขาแข้ง อายุไม่เกิน 7 ปี ได้รับบาดเจ็บที่ข้อเท้าหน้าขวา และเคลื่อนย้ายไปรักษาต่อที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าบึงฉวาก
แต่ว่าการรับรู้ข่าวสารของเจ้าหน้าที่วิจัยที่เกี่ยวข้องกับเสือโคร่งห้วยขาแข้งนั้น เกิดขึ้นในช่วงก่อนเที่ยงวันที่ 9 ม.ค.2568 พร้อมกับคำถามที่เกิดขึ้นในใจว่า “รู้อย่างไรว่าเป็นเสือจากห้วยขาแข้ง?” ความสงสัยนำไปสู่การค้นหาข้อมูลที่เป็นจริงจากคลังฐานข้อมูลประชากรเสือโคร่งที่ได้มีการรวบรวมไว้โดยสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ซึ่งผู้ช่วยนักวิจัยสายหวาน (ชอบของหวาน หน้าหวาน เสียงหวาน) เป็นผู้สืบค้นข้อมูล ด้วยการเปรียบเทียบลวดลายข้างลำตัวของเสือแร้วพุเตยกับเสือตัวอื่น ๆ ในคลังฐานข้อมูล
นอกจากเพื่อให้รู้แน่ว่าเป็นเสือตัวใดแล้ว ยังมีประเด็นคำถามว่า “แม่ของมันคือใคร” พ่วงท้ายไปให้หาคำตอบอีกด้วย
ปรากฏว่าเสือโคร่งในข่าวนั้น มีลวดลายตรงกับเสือโคร่งหนึ่งในสอง (UID6, UID7) ที่เคยถูกถ่ายภาพคู่ไว้เมื่อต้นปี 2567 ในจุดหนึ่งของพื้นที่ห้วยขาแข้ง สิ่งที่น่าสนใจคือการถูกบันทึกภาพได้ครั้งนั้น ไม่มีแม่ร่วมเดินหรือมีเสือเพศเมียโตเต็มวัยที่ถูกบันทึกภาพได้ในจุดเดียวกัน จึงทำให้ไม่สามารถระบุตัวแม่ด้วยฐานข้อมูลปี 2567 รู้แต่เพียงว่ามีเสือโคร่งเพศเมียยึดครองอาศัยอยู่ 3 ตัวในพื้นที่ข้างเคียงจุดที่ถ่ายเสือคู่ได้ โดยมีหนึ่งตัวเป็นเสือแม่ลูกอ่อน
จากการสืบค้นข้อมูลย้อนหลังเพื่อระบุหาตัวแม่ของเสือ UID6, UID7 ทำให้เห็นเสือโคร่ง HKT314 ที่ถ่ายได้ในช่วงเดือน ม.ค.2566 นั้น มีราวนมที่ระบุได้ว่ามีลูกน้อย จึงทำให้กลายเป็น “เสือตัวแม่ต้องสงสัย” เมื่อพิจารณาร่วมกับจุดที่ถ่ายภาพได้ จึงมีโอกาสเป็นไปได้ว่าแม่ของเสือน้อยทั้งคู่นั้น คือ HKT314
หากใช้สมมุติฐานว่า HKT314 คือแม่ของ UID6 (เสือแร้วพุเตย) แล้วประเมินช่วงเวลาของการเกิดจนนำไปสู่การประเมินอายุปัจจุบัน สามารถประมาณได้ว่าเสือแร้วพุเตย มีอายุราว 26 เดือน ซึ่งเป็นช่วงวัยรุ่นที่ต้องมีพฤติกรรมการเดินแสวงหาพื้นที่เพื่อครอบครองเป็นของตัวเอง
ในการเดินทางเพื่อแสวงหาพื้นที่ครอบครองของเสือโคร่งวัยรุ่นนั้น เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของวัยรุ่นทั้งเพศเมียและเพศผู้ โดยเพศผู้นั้นมีโอกาสพบเจอเหตุวิกฤตในชีวิตสูงกว่าเพศเมีย เนื่องจากต้องเร่ร่อนเดินทางให้ออกห่างจากพื้นที่เดิมของพ่อ ซึ่งข้อมูลที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าเสือโคร่งวัยรุ่นเพศผู้ประสบความสำเร็จในการตั้งถิ่นฐานน้อยกว่าเพศเมีย
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเสือแร้วพุเตยครั้งนี้นั้น ทำให้นักวิจัยได้รู้ว่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติพุเตย ก็เป็นหนึ่งในเส้นทางที่เสือโคร่งวัยรุ่นจากห้วยขาแข้งตอนใต้เดินเลือกรอนแรมลัดเลาะเพื่อแสวงหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการตั้งถิ่นฐาน
แต่ในความวิกฤตครั้งนี้ ก็ยังมีโอกาสที่ดีรออยู่ หากว่าเสือตัวนี้จะได้ออกเดินทางครั้งใหม่ในป่ากว้าง ซึ่งเชื่อได้ว่า บทเรียนที่ได้รับครั้งนี้ จะทำให้ใช้ชีวิตต่อจากนี้ด้วยความระมัดระวังและระแวงระวัง จึงทำให้โอกาสในการประสบความสำเร็จในการตั้งถิ่นฐานหากินของมันเพิ่มมากขึ้น
สำหรับ UID7 ซึ่งเป็นพี่น้องนั้นคงต้องรอข้อมูลจากการเก็บกล้องปีนี้ คงจะพอบอกได้ว่ามันมีชีวิตเป็นอย่างไร เพราะ "การคุกคามจากมนุษย์" จัดเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการตั้งถิ่นฐานของเสือโคร่งวัยรุ่น
อ่านข่าว : สัตวแพทย์-จนท.ช่วย "เสือโคร่ง" ขาบาดเจ็บติดบ่วงดักสัตว์
สำเร็จ ช่วยชีวิต "กระทิงตาบอด" จากทับลานสู่ผากระดาษ
ของขวัญปีใหม่! "พญาแร้งมิ่ง" ออกไข่ใบที่ 2 กลางป่าห้วยขาแข้ง