ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ใช้โซเชียลฯ เลี้ยงลูก จิตแพทย์เตือนเสี่ยงเหมือนเปิดประตูบ้านทิ้งไว้

สังคม
9 ม.ค. 68
18:03
365
Logo Thai PBS
ใช้โซเชียลฯ เลี้ยงลูก จิตแพทย์เตือนเสี่ยงเหมือนเปิดประตูบ้านทิ้งไว้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลายบ้านกังวลลูกติดโซเชียลฯ ติดเกมและใช้เวลาหน้าจอมากเกินพอดี จิตแพทย์เตือนหากปล่อยให้เด็กใช้งานลำพังมีความเสี่ยงเหมือนเปิดประตูบ้านทิ้งไว้ เพราะมีโอกาสเจอคนไม่หวังดี

"อย่าเล่นโทรศัพท์ตอนกินข้าวครับ" เสียงบ่นของยายกับหลานชายวัย 12 ปี ที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หลังเริ่มพบว่าเด็กชายคนนี้ติดโทรศัพท์มือถือแทบจะตลอดเวลา เพราะตั้งแต่ตื่นนอน เข้าห้องน้ำ อาบน้ำ กินข้าว หรือวันหยุด เขาจะใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งเล่นเกม ดูคลิป ดูยูทูบ

แม้จุดเริ่มต้นจะมาจากความรักของคนในครอบครัวที่อยากเอาใจลูกหลาน ด้วยการยื่นมือถือให้ดูการ์ตูนหรือดูคลิป เพื่อผ่อนคลาย รวมถึงการให้โทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่เป็นของขวัญ

ทุกวันนี้เด็กชายยังไม่ถึงขั้นติดเกมจนมีนิสัยก้าวร้าว แต่การไม่จำกัดเวลาและปล่อยให้เด็กติดจอเกินพอดี กำลังเป็นสิ่งที่น่ากังวลสำหรับยาย

ทางแก้ยังมองไม่ออก ได้แต่ภาวนาว่าสักวันแม่ของน้องจะจริงจังกับการจำกัดชั่วโมงการเล่น เพื่อไม่ให้กระทบกับการเรียนและเกิดปัญหาเหมือนที่เคยเกิดกับเด็กคนอื่น ๆ

ขณะที่แม่คนหนึ่งสะท้อนพฤติกรรมของลูกสาววัย 8 ขวบ ที่ชอบเล่นเกมออนไลน์กับเพื่อน ๆ ในช่วงค่ำของทุกวัน ซึ่งเป็นเกมยอดฮิตของเด็กปฐมวัย ความสนุกของเกมทำให้หลายครั้งลูกงอแงเพราะไม่อยากหยุดเล่น เมื่อถึงเวลาที่แม่กำหนดไว้ และในที่สุดต้องจบเรื่องด้วยการทะเลาะกัน

เรารู้ว่าลูกสนุก เพราะมีเพื่อนเล่นหลายคนและทุกคนไปเจอกันในเกม แม้จะจำกัดเวลา แต่ลูกก็เล่นเกินเวลาไปมาก บอกให้หยุดเล่นก็จะหงุดหงิด

ลูกสาวของเธอยังชอบดูคลิปในยูทูบและนั่งดูได้ทั้งวันหากเป็นช่องที่ตัวเองชอบ ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ที่ลูกเคยทำในชีวิตประจำวันหายไป ทั้งการวาดรูป ทำงาน DIY รวมถึงเล่นเปียโน

แม่เด็กวัย 8 ขวบยังสะท้อนว่า แม้จะเข้มงวดการใช้โทรศัพท์มือถือกับลูก แต่เมื่อไหร่ที่ลูกต้องออกไปพบปะเพื่อน ก็ต้องผ่อนผันความเข้มงวด เพราะเด็ก ๆ มีโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเป็นของตัวเอง และเล่นตลอดเวลาที่อยากเล่น ทั้งช่วงนั่งรถหรือกินข้าว ลูกเราก็ต้องดูและเล่นไปพร้อมกับเพื่อนด้วย จะให้พูดหรือห้ามลูกคนอื่น ๆ ก็คงไม่ได้ ในเมื่อพ่อแม่เขาอนุญาต แม่เคยลองพูดแล้ว แต่ก็ไม่มีเด็กคนไหนหยุดเล่น

ใช้สื่อโซเชียลฯ เลี้ยงเด็ก เสี่ยงเจอคนไม่หวังดี

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กล่าวถึงกรณีพ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยมือถือหรือแท็บเล็ต ว่า การใช้สื่อต่าง ๆ เลี้ยงลูก เหมือนเป็นการฝากคนอื่นเลี้ยงแทน เพราะเราไม่ได้รู้จักทุกคนในโซเชียล และเท่ากับเป็นการเปิดประตูบ้านทิ้งไว้ หากโชคดีลูกอาจได้รู้จักกับคนดี หรือรับข้อมูลข่าวสารที่ดี แต่อีกด้านก็มีโอกาสเจอคนไม่หวังดี หรือคนที่พยายามเข้ามาหาผลประโยชน์

การปล่อยให้ลูกอยู่กับโลกโซเชียลเพียงลำพัง เป็นความเสี่ยงที่พ่อแม่ไม่อาจควบคุมได้ เพราะไม่สามารถพูดคุยกับลูกในสิ่งที่เขาเห็น รับรู้ หรือเขาพูดคุยติดต่อกับใคร มีโอกาสทำให้เกิดอันตรายหรือเรื่องไม่คาดคิดได้

นอกจากนี้ หากพ่อแม่ซื้อมือถือหรือแท็บเล็ตให้กับลูกก่อนถึงวัยที่พวกเขาควรจะได้รับ และแก้ปัญหาด้วยการจำกัดเนื้อหาและเวลาการเล่น อยากให้ตระหนักว่าเด็กทุกคนมีโอกาสติดเกม ติดมือถือ หรือติดโซเชียล

พ่อแม่ที่คิดจะซื้อเครื่องมือสื่อสารให้กับลูกต้องรู้เท่าทัน เตรียมรับมือตลอดเวลา และเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องติดตามดูว่าลูกใช้งานอย่างไร เนื้อหาและระยะเวลาใช้งาน รวมถึงมีพฤติกรรมหลังการใช้งานถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพราะการจะให้ลูกอยู่กับเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ เป็นการทำงานระยะยาวที่จะต้องทำร่วมกันทั้งครอบครัว

อ่านข่าว : เตือนภัย "เด็ก" สถิติ 1 ปี ถูกล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ 346 คดี

ส่วนครอบครัวที่พ่อแม่ต้องไปทำงานต่างจังหวัดและฝากลูกไว้ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง แล้วใช้วิธีวิดีโอคอลพูดคุยกัน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแนะนำว่า ถึงอย่างไรเด็กต้องมีคนดูแล แม้คนที่เลี้ยงจะเป็นปู่ย่าตายายหรือใครก็ตาม พ่อกับแม่ของเด็กต้องไม่ปล่อยปละละเลยพวกเขา เพราะปู่ย่าตายายอาจไม่ได้อัปเดตโลกโซเชียล ไม่เท่าทันเกม จึงเป็นหน้าที่ของพ่อกับแม่ที่จะต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับปู่ย่าตายายด้วยเช่นกัน อย่าผลักภาระให้พวกเขาเป็นคนจัดการทั้งหมด แล้วมารู้อีกทีตอนที่ลูกมีปัญหา

หากพ่อแม่วิดีโอคอลพูดคุยกับลูกได้ ก็ควรพูดคุยกับปู่ย่าตายายและปรับวิธีการเลี้ยงดูให้เข้าใจตรงกัน หลายคนอาจบ่นว่าปู่ย่าตายายไม่เข้าใจวิธีการเลี้ยงดูของตัวเอง หรือไม่ฟังว่าพ่อแม่อยากให้เลี้ยงดูแบบไหน ดังนั้นต้องนึกถึงใจเขาใจเรา พยายามปรับจูนให้ได้วิธีการที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กมากที่สุด

เด็กหมกมุ่นโซเชียล-ไม่พอใจถูกห้ามเล่น

นพ.วรตม์ กล่าวอีกว่า หากเด็กใช้เวลากับโซเชียลมากเกินไป จะทำให้สูญเสียเวลาทำอย่างอื่นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือการออกกำลังกาย และที่จะตามมาคือปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต ปัญหาสุขภาพทางกาย เนื่องจากมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ไม่ได้ขยับร่างกายไปไหน โอกาสที่จะป่วยเป็นโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในอนาคตก็จะเพิ่มมากขึ้น

สำหรับเด็กที่แสดงอาการไม่พอใจเมื่อถูกจำกัดเวลาการเล่นโซเชียล เนื่องจากเด็กมักอยากทำอะไรที่สบายที่สุด เขามีสิทธิ์แสดงความต้องการ แสดงอารมณ์และความรู้สึกว่าเขาไม่พอใจเวลาถูกห้าม

แต่สิ่งสำคัญคือ เมื่อเขาเกิดความไม่พอใจแล้ว สามารถจัดการอารมณ์ตัวเองได้หรือไม่ ทำตามกฎกติกาได้หรือไม่ หากทำได้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ถ้าทำไม่ได้ พ่อแม่ต้องตั้งกฎที่เหมาะสมในการใช้งานครั้งต่อไป หรือหากไม่สามารถทำตามกฎได้จริง ๆ มีอารมณ์รุนแรง ฉุนเฉียว ให้หยุดใช้โซเชียลสักพักและตั้งกฎกติกาขึ้นมาใหม่

อ่านข่าว

แกะกล่อง "ของขวัญ" สุดปังวันเด็กปี 2568

น่าห่วง! ปี 67 มูลนิธิกระจกเงาได้รับแจ้ง "เด็กหาย" 314 คน

รู้จักภาวะ "กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส" ในเด็ก สาเหตุ-วิธีป้องกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง