วันนี้ ( 2 เม.ย.2568) นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะเป็นประธาน กกร.กล่าว ว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มองว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญหลายปัจจัยที่อาจทำให้ GDP ปี 2568 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 2.4-2.9% ซึ่งแม้ จะรวมผลกระทบบางส่วนจากมาตรการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ไว้แล้ว แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนถึงขนาด และขอบเขตของมาตรการภาษีที่จะประกาศในคืนนี้ (ตามเวลาสหรัฐ) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อ GDP มากขึ้นอีก 0.2-0.6%

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะเป็นประธาน กกร.
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะเป็นประธาน กกร.
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังอาจถูกกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวช้า และเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุดในกรุงเทพฯ รวมทั้งบางจังหวัดในภาคเหนือของไทย ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งจากภายใน
โดยดำเนินการผ่าน นโยบายระยะสั้น มุ่งลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนภายนอก ปรับกรอบนโยบายมหภาคให้เอื้อต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและนโยบายระยะยาว มุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านต่าง ๆ และยกระดับขีดความสามารถภาครัฐ
ทั้งนี้ กกร. ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ ไว้ในระดับเดียวกับที่เคยประเมินเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา โดยคาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จะโตได้ 2.4-2.9% การส่งออก ขยายตัว 1.5-2.5% และเงินเฟ้อ 0.8-1.2%
จับตามาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กระทบส่งออกไทย ไทยถือเป็นประเทศเป้าหมายหนึ่ง เนื่องจากมีส่วนต่างอัตราภาษีศุลกากรและการเกินดุลกับสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูง ธุรกิจอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมี ของไทย อาจเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากนโยบาย Reciprocal Tariffs ของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ยังต้องจับตาผลกระทบทางอ้อมผ่านคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน ในอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ในสัดส่วนสูง นอกจากนี้ ปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้ามาไทยอาจรุนแรงขึ้น รวมถึงสินค้าจากสหรัฐฯ ที่ไทยอาจต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นหลังการเจรจาการค้า
นอกจากนี้ กกร.ขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้
ขณะนี้เป็น Moment of opportunity ในการสร้างความเชื่อมั่นท่ามกลางความไม่แน่นอนรอบด้าน จากทั้งเรื่องของสงความการค้า และเหตุแผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้น โดยร่วมกันบูรณาการความร่วมมือ ทั้งในส่วนกระบวนงานของส่วนราชการและองค์กรภาคเอกชนที่ควรมีการปฏิรูป โดยให้ความสำคัญกับการมีข้อมูลที่ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน ประกอบการพิจารณาแผนการรับมือและการจัดการกับปัญหา
ทั้งนี้ เห็นว่า ควรใช้โอกาสที่มีการสำรวจความปลอดภัยของอาคารและสิ่งปลูกสร้างจากเหตุแผ่นดินไหว เปิดเผยข้อมูลการสำรวจอย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน รวมถึงนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากต่างประเทศ
อ่านข่าว:
หอการค้าไทยจี้รบ.ตั้งทีมพิเศษ รับมือทรัมป์2.0 หวั่นกระทบ ศก.ไทยทรุดรุนแรง
ทรัมป์ ขึ้นภาษี ไทยสูญ 8 พันล้าน เอกชนจี้ "เพิ่มนำเข้า-เจรจา FTA"
"ทรัมป์" ป่วนโลกขึ้นภาษีสินค้า "จีน-ไทย" การ์ดสูง รับมือรอบด้าน