ความก้าวหน้าทางการแพทย์ และความรู้เกี่ยวกับ "HIV" ที่มากขึ้น แต่การติดเชื้อยังคงเกิดขึ้น แล้วทำไมถึงเป็นแบบนั้น มีการพยากรณ์เกี่ยวกับ "HIV" ในปี 2568 ที่คาดว่ายังมีผู้ติดเชื้อ HIV ที่ยังไม่ทราบสถานะการติดเชื้อของตนเอง และยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษา ทำให้คนเหล่านี้ถ่ายทอดเชื้อไปยังคู่นอน
กรมควบคุมโรค คาดว่า ในปี 2568 จะมีผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่ 8,862 คน ส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายมากกว่า ร้อยละ 60
ย้อนไปปี 2566 สถานการณ์เอชไอวีในไทย ที่คาดว่ามีผู้ติดเชื้อ HIV 576,397 คน (ข้อมูล Thailand Spectrum-AEM, 12 มี.ค.2567) และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่รู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง 522,581 คน คิดเป็น ร้อยละ 90 (ข้อมูลจากระบบสารสนเทศการให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์แห่งชาติ)
เห็นได้ว่า ยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ไม่รู้สถานะของตนเอง อาจเพราะคิดว่าตัวเองไม่เสี่ยง กลัวการตรวจ กังวลค่าใช้จ่าย หรือไม่รู้ว่าปัจจุบันสามารถตรวจ HIV ได้ง่ายและสะดวกด้วยตนเองแล้ว
รู้และเข้าใจ "เอชไอวี" คืออะไร
เอชไอวี หรือ HIV หรือ Human Immunodeficiency Virus เป็น "เชื้อไวรัส" ที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของคน คือ "เซลล์เม็ดเลือดขาวซีดีโฟร์" (CD4 cells) หรือ ทีเซลล์ (T cells) ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อ เมื่อเชื้อไวรัส HIV ทำลายเม็ดเลือดขาว CD4 จนมีปริมาณไม่เพียงพอ จึงเป็นสาเหตุให้เกิด "อาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง"
เอชไอวี คือ เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิด โรคเอดส์ หรือ AIDS ย่อมากจาก Acquired Immunodeficiency Syndrome
ฉะนั้น "เอชไอวี" และ "โรคเอดส์" ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
ผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นโรคเอดส์เสมอไป หากมีการติดเชื้อเอชไอวี เชื้อจะอยู่ในร่างกายตลอดไป ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาการติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาด แต่ในปัจจุบันจะมียาต้านไวรัส ผู้ติดเชื้อกินยาเร็ว กินยาต่อเนื่อง สม่ำเสมอ สามารถทำให้ผู้ติดเชื้อมีสุขภาพที่แข็งแรงเป็นระยะเวลายาวนาน และช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไวรัสนี้ไปยังผู้อื่น
เชื้อ HIV อยู่ที่ไหนได้บ้าง
เชื้อ "เอชไอวี" จะมีอยู่ใน น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่นช่องคลอด เลือด และน้ำนม โดยเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล หรือผ่านเนื้อเยื่ออ่อน เช่น ภายในช่องคลอด ทวารหนัก และรูเปิดของอวัยวะเพศชาย แล้วเราจะติดเชื้อเอชไอวี ได้จาก
- เพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด หรือ ทวารหนัก โดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
- ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ใช้เข็มสัก เข็มเจาะร่างกายร่วมกัน
- โดนเข็มตำ โดยเข็มนั้นมีเลือดที่ติดเชื้อเอชไอวี ปนเปื้อนอยู่
- เลือด น้ำอสุจิ หรือน้ำหล่อลื่นช่องคลอดที่มีเชื้อเอชไอวี ปนอยู่ สัมผัสกับแผลเปิดบนร่างกาย
เชื้อเอชไอวี ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันมากที่สุด การใช้ถุงยางอนามัย หรือ แผ่นยางอนามัยทุกครั้งช่วยลดความเสี่ยง รวมถึงไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ป้องกันการแพร่เชื้อ
เชื้อเอชไอวี สามารถติดต่อผ่านแม่สู่ลูกในระหว่างตั้งครรภ์ คลอด หรือให้นมบุตรได้ หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี จะต้องรับประทานยาเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไปยังลูก
เชื้อเอชไอวี ไม่ติดต่อผ่านน้ำลาย การจูบ การกินอาหารหรือดื่มน้ำร่วมกัน ใช้ช้อนส้อมร่วมกัน รวมไปถึงการกอด การจับมือ ไอ จาม ใช้ห้องน้ำร่วมกัน ก็ไม่ใช่ช่องทางติดต่อของเชื้อเอชไอวี
ติดเชื้อ HIV ปฏิบัติตัว อย่างไร
- รีบเข้าสู่ระบบบริการรักษาโดยเร็ว
- กินยาต่อเนื่อง ตรงเวลา สม่ำเสมอ
- พบแพทย์ตามนัดพาคู่ไปตรวจ
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
เชื้อเอชไอวีอยู่ได้เฉพาะในร่างกายมนุษย์เท่านั้นและต้องอยู่กับของเหลวหรือสารคัดหลั่งของมนุษย์ ที่พบมากที่สุด คือ เลือดและน้ำเหลือง รองลงมาได้แก่ น้ำอสุจิและน้ำในช่องคลอด ส่วนน้ำอื่นๆ เช่น น้ำตา เหงื่อ ปัสสาวะ น้ำลาย อาจจะมีเชื้อเอชไอวีปะปนได้แต่มีปริมาณไม่มากพอที่จะทำให้ติดเชื้อเอชไอวีได้
เชื้อเอชไอวีที่สามารถติดต่อกันได้ คือ เชื้อที่อยู่ในร่างกายของมนุษย์เท่านั้น เชื้อที่อยู่นอกร่างกาย บนพื้น หรืออยู่ในสัตว์อื่น ไม่สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้ ดังนั้น การจะติดเชื้อเอชไอวีได้ จะต้องเกิดจากการได้รับหรือสัมผัสของเหลวที่มีเชื้อเอชไอวี เช่น เลือด น้ำเหลือง น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด และต้องมีองค์ประกอบทั้ง 4 ปัจจัย
ตรวจเชื้อ HIV ฟรีปีละ 2 ครั้ง
- ตรวจฟรีปีละ 2 ครั้ง
- คนไทยใช้ได้ทุกสิทธิการรักษา เพียงใช้บัตรประชาชน ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง
- มีทั้งการตรวจแบบนิรนาม (ไม่ต้องแจ้งชื่อ-ที่อยู่) และการตรวจแบบรู้ผลวันเดียว
- ยิ่งตรวจเร็วยิ่งดีเพื่อรู้ว่าตนเองติดเชื้อหรือไม่ หากติดเชื้อ จะได้รับการรักษาได้ทันทีทุกระดับ CD4 หากไม่ติดเชื้อ จะได้รับการปรึกษา เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อตลอดไป
การเริ่มรักษาเร็วมีผลดี เชื้อเอชไอวีจะลดลงอย่างมาก ภูมิคุ้มกันจะสูงขึ้น ลดการเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ลดการถ่ายทอดเชื้อไปยังคู่ได้
ชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อ HIV
- ชุดตรวจที่ตรวจจากเลือดเจาะปลายนิ้ว รู้ผลภายใน 1-15 นาที
- ชุดตรวจที่ตรวจจากน้ำในช่องปาก รู้ผลภายใน 20 นาที โดยสามารถตรวจหลังมีความเสี่ยงมาประมาณ 21-90 วัน
โดยศึกษาได้ในเอกสารกำกับที่อยู่ภายในชุดตรวจ ซึ่งประชาชนทุกสิทธิการรักษา สามารถขอรับชุดตรวจคัดกรอง HIV ด้วยตนเองได้ฟรีผ่านเมนู "กระเป๋าสุขภาพ" ในแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" หรือซื้อได้ที่ร้านขายยาทั่วไป และหากผลการตรวจด้วยตนเองเป็นบวก ต้องไปตรวจยืนยันและเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็วที่โรงพยาบาลต่อไป
ยาต้านไวรัส HIV มีอะไรบ้าง
- PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) – ยาป้องกันก่อนสัมผัสเชื้อ สำหรับผู้มีความเสี่ยงสูงต่อการรับเชื้อ เช่น คู่นอนของผู้มีเชื้อเอชไอวี ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ผู้ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา
PrEP กินเพื่อป้องกันก่อนการติดเชื้อ ต้องกินเป็นประจำทุกวันหลักการคล้ายการกินยาคุมเพื่อป้องกันไม่ให้ท้อง ต้องกินก่อนมีพฤติกรรมเสี่ยง 1 สัปดาห์ จึงจะมีประสิทธิผลสูงสุด และกินทุกวันในช่วงมีพฤติกรรมเสี่ยง และต้องใช้ PrEP ร่วมกับถุงยางอนามัย
- PEP (Post-Exposure Prophylaxis) ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันหลังการสัมผัสเชื้อเอชไอวี ใช้ป้องกันสำหรับกรณีบุคลากรทางการแพทย์ถูกเข็มที่สงสัยมีเชื้อเอชไอวีตำ หรือผู้ที่สัมผัสเชื้อจากอุบัติเหตุ ถุงยางแตก ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ สามารถปรึกษาแพทย์และรับยาโดยเร็วภายใน 72 ชั่วโมงภายหลังการสัมผัสเชื้อ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ARV (Antiretroviral Drug) การกินยาต้านไวรัสเพื่อการรักษา หลังจากติดเชื้อเอชไอวีแล้ว เพื่อควบคุมปริมาณเชื้อเอชไอวี และลดการถ่ายทอดเชื้อไปยังผู้อื่น ใช้รักษาหลังจากรู้ผลการตรวจว่าติดเชื้อเอชไอวีกินได้ทันทีเมื่อมีความพร้อม และกินอย่างตรงเวลา สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง
ผู้ติดเชื้อ HIV หากได้รับยาต้าน HIV โดยเร็วและกินยาสม่ำเสมอจะไม่ป่วยเป็นโรคเอดส์
แม้ว่าจะยังมีคนติดเชื้อ HIV อยู่ แต่ถ้าได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม คนที่ติดเชื้อสามารถมีชีวิตยืนยาวและใช้ชีวิตได้ปกติ อีกทั้งสามารถลดโอกาสในการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้มากขึ้นผ่านการใช้ยา
อ้างอิงข้อมูล : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, ชุดความรู้สำหรับให้บริการตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง
อ่านข่าว : จริงใจ-ตรงประเด็น จุดแข็ง "ทวิดา" สื่อสารในสถานการณ์วิกฤต
ดรามา! สตง.สูดลมหายใจก้าวข้ามตึกถล่มลืม 70 ชีวิตใต้ซาก
เคสแรกในไทยใช้ “สเต็มเซลล์” รักษา “ลูกช้างวาสนา” ป่วยเฮอร์ปีส์ไวรัส