วันที่ 23 ธ.ค.2567 น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า
จะช่วยทำโรงพยาบาลช้าง
ด้วยจำนวนช้างเลี้ยงในภาคเหนือมีมาก และมีโรงพยาบาลรักษาช้างเป็นหลักอยู่แห่งเดียวคือ ศูนย์คชบาล
ดิฉันทราบว่า ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีโครงการจะทำโรงพยาบาลช้างเพื่อรักษาช้าง และเป็นที่ฝึกหัดนักศึกษาสัตวแพทย์
ด้วย มช. มีที่ดินอยู่แล้วแถวแม่แตง จำนวนประมาณ 28 ไร่ แต่ไม่มีงบประมาณในการก่อสร้าง รวมทั้งจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์
มช.ได้ทำเรื่องของบประมาณไปทางภาครัฐมาหลายปีแล้ว ก็ยังไม่ได้
การเดินทางไปเชียงใหม่ครั้งที่ผ่านมา ดิฉันจึงได้พบและพูดคุยกับท่านอธิการบดี มช. ท่านคณบดีคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ และรองคณบดี
ดิฉันถามว่า งบประมาณเบื้องต้นที่จะให้เพียงพอจัดตั้งโรงพยาบาลได้ รักษาได้จริง ฝึกนักศึกษาแพทย์ได้จริง ใช้เท่าไร คำตอบคือประมาณ 40 ล้านบาท
ดิฉันพิจารณาแล้วเพื่อประโยชน์ของช้างและนักศึกษา ดิฉันจะให้เงินเองในจำนวน 40 ล้าน โดยทาง มช. จะทำรายละเอียดมาให้ดิฉันพิจารณาก่อน
น.ส.กัญจนาโพสต์ข้อความต่อว่า ฉันเคยบอกแล้วว่า ดิฉันจะทำโรงพยาบาลช้างไว้ให้ ด้วยหวังว่า หากบุญกุศลส่งให้น้องกันยา ได้เกิดเป็นมนุษย์ที่ดีงาม น้องได้มาเข้าเรียนคณะสัตวแพทย์ที่นี่ และได้ใช้โรงพยาบาลที่ดิฉันจะทำไว้ให้นี้
ดิฉันก็คิดของดิฉันแบบนี้ เพราะรักกันยามาก กันยาจะมาใช้หรือไม่ จะเป็นจริงหรือไม่ ก็ไม่อาจทราบได้ แต่ดิฉันก็ทำด้วยจิตอันเป็นกุศล เพื่อประโยชน์ของทั้งช้างและคน
หมายเหตุ :
สำหรับช้างพังกันยา ตายด้วยโรคเฮอร์ปีส์ไวรัส ด้วยวัยเพียง 13 เดือน เมื่อกลางดึกวันที่ 5 พ.ย.2567 หลังป่วยด้วยโรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ซึ่งถือเป็นโรคไวรัสที่มีความอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต ในกลุ่มช้างอายุน้อยหรือลูกช้าง และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ก่อนสิ้นใจ
“ช้างพังกันยา” ถูกแม่ช้างป่าทิ้งไว้ที่ริมป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว บ้านเทพมีชัย ต.หนองเดิ่น อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ ชาวบ้านไปพบเมื่อเช้าวันที่ 12 ก.ย.2566 อยู่ในสภาพร่างกายอ่อนแรง
เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ช่วยกันทำคอกไว้ เพื่อรอให้แม่ช้างมารับ แต่แม่ไม่มา จึงตั้งชื่อให้ว่า “พังกันยา” ก่อนจะถูกย้ายมาอยู่ในความดูแลของโครงการร่มแดนช้าง หรือ ปางช้างภัทรฟาร์ม ใน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2566
โดยการประสานของ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา เพื่อให้น้องกันยาได้กินนมแม่ช้าง และได้กินมูลแม่ช้างตามธรรมชาติ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และมีแม่รับคอยสอนการใช้ชีวิต อีกทั้งยังจะมีลูกช้างชื่อ “ธาริน” เป็นเพื่อน ก่อนจะล้มป่วย และตายในที่สุด
อ่านข่าว : เฮอร์ปีส์ไวรัสพรากลูกช้างป่า "กันยา" กลับดาวช้าง
"กัญจนา" ควัก 1 ล้านตั้งกองทุนกันยาวิจัย "เฮอร์ปีส์ไวรัสช้าง"
อาการวิกฤต "ลูกช้างกันยา" ป่วย EEHV ให้เลือดดูแลใกล้ชิด
เฮอร์ปีส์ไวรัส ภัยร้ายที่คนเลี้ยงช้างต้องเฝ้าระวัง