การค้าชายแดนที่ด่านแม่สอด ฝั่งตรงข้าม อ.เมียวดี เมียนมา ถือเป็นหัวใจสำคัญของไทย หากการค้าด่านแม่สอดชะงัก ก็ส่งผลกระทบหนัก ในแต่ละปี ไทยมีการค้ากับเมียนมาเกือบหมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันการค้าซบเซาลง หากทำให้ทุกกลุ่มได้ประโยชน์ และเมียนมามีสันติภาพ ก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้
เมื่อวันที่16 ธ.ค.2567 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดเวทีเสวนา เรื่อง "Myanmar and Thailand Relations at The Crossroads: A Strategic Policy Recommendation นำเสนอโดย นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี กรรมการศูนย์นโยบายยุทธศาสตร์ (Center For Strategic Policy) เสนอแนะต่อที่ประชุมนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะวิกฤตการณ์ในเมียนมา หลังมีเสียงมีเรียกร้องให้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดเมียนมา ลงจากตำแหน่ง และหาคนอื่นมาแทน
นายสุภลักษณ์ กล่าวว่า สงครามกลางเมืองที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจในเมียนมาติดลบ 18-19 เปอร์เซ็นต์ โดยที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้ และหากประเมินสถานการณ์จะเห็น ว่า มีการเผชิญหน้าระหว่างกองทัพและฝ่ายต่อต้าน โดยเฉพาะกลุ่มกองทัพมียนมาหรือ “ตัดมาดอว์” (Tatmadaw) กำลังประสบปัญหา อัตรากำลังถดถอยจากกองกำลังติดอาวุธที่มีจำนวน 150,000 นาย เหลือเพียง 75,000 นาย
“การเข้าควบคุมพื้นที่ของกองทัพเมียนมาเหลือร้อยละ 20-60 ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ขณะที่ฝ่ายต่อต้านมี 2 กลุ่มใหญ่ แต่ก็ขาดความเป็นเอกภาพทางชาติพันธุ์ โดยเป้าหมายในการต่อสู้กับเมียนมา มีหลายกลุ่ม ทั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชน ( PDF ) และกองกำลังติดอาวุธของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งจะมีอีก 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ PDF , NUG ใน PDF, KNU และ PDF แบบกลุ่มอิสระ
นายสุภลักษณ์ กล่าวว่า กองกำลังแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์จะมีเป้าหมายแตกต่างกันบางกลุ่มเข้าร่วมกับกองกำลังติดอาวุธของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ( NUG )หรือรัฐบาลเงาของอดีตสมาชิกพรรค NLD ซึ่งเคลื่อนไหวและมีฐานที่มั่นอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง ฝั่งตรงข้ามชายแดนด้านตะวันตกของประเทศไทย และสนับสนุน Federal ส่วนใหญ่เป็นชาวคริสเตียน อยากมีอำนาจอธิปไตยของตนเอง
กลุ่มว้าแดง ซึ่งอยู่ทางรัฐฉาน และขยายพื้นที่ลงมาติดชายแดนไทย ต้องการแยกเป็นรัฐอิสระ ต้องการอยากมีชื่อปรากฏในรัฐธรรมนูญของเมียนมา
ส่วนกลุ่มต่อต้านอื่น ๆ ก็ขาดความเป็นเอกภาพ อย่างไรก็ตาม หากนำตัว เลขมาวัดถือว่าสูสี ในทางคณิตศาสตร์สามารถสู้กันได้ แต่ถ้ากลุ่มต่อต้านแยกจากกันมาและหันมาต่อกรกับกองทัพเมียนมา ก็ยังทำไม่ได้ จึงให้กองทัพยังครองอำนาจอยู่ต่อไป และกลายเป็นที่มาของความยืดเยื้อ
อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับมาพิจารณาด้านภูมิรัฐศาสตร์ พบ ประเทศเมียนมา แม้จะโดดเดี่ยวตนเอง แต่กลับได้รับความสนใจมากที่สุด จากประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะมหาอำนาจ อย่าง จีน เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์มากแทบทุกมิติ
ในด้านเศรษฐกิจ จีนใช้เมียนมาเป็นเส้นทางเชื่อมเศรษฐกิจ จากมณฑลยูนนาน มีการวางท่อแก๊ส ระบบขนส่ง เชื่อมกับเมียนมา ดังนั้นจีนจึงจำเป็นต้องรักษาเส้นทางนี้มากที่สุด แม้จะมีกลุ่มต่อต้านรัฐบาลจีน และรับเงินจากกลุ่มจีนเทาเข้ามาเคลื่อนไหว
“เมียนมามีกลุ่มแร่หายากที่เรียกว่า rare earth เป็นสินแร่หายาก ทรัพยากรสำคัญของโลก ใช้ในผลิตโทรศัพท์ จรวด ทำให้จีนไม่อาจทิ้งเมียนมาได้ และมหาอำนาจรู้ว่า อะไรสำคัญในเมียนมา”
จะเห็นได้ว่า จีน มีความสนิทแนบแน่นกับเมียนมา โดยมอบเรือดำน้ำให้ ในเวลาเดียวกัน เมียนมาก็รับเรือดำน้ำจากอินเดียอีกด้วย ทำให้เมียนมาไม่ต้องเสียเงินซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ
ดังนั้นอาจทำให้สหรัฐ กลับมาให้ความสนใจ rare earth ในเมียนมาอีกครั้ง เพราะต้องการคานอิทธิพลกับจีน แม้จะมีปัญหาสิทธิมนุษยชนจนทำให้ต้องถอนการลงทุนออกไปจากเมียนมา
นายสุภลักษณ์ ระบุว่า ที่ผ่านมาทางจีนสนับสนุนเงินให้กลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อส่งผ่านนโยบาย โดยมีพิมพ์เขียว และต้องการชี้นำเมียนมา เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง โดยมีกองทัพเมียนมาและกองทัพชาติพันธุ์( SAC ) เป็นแกนนำ แม้บางพื้นที่ทำไม่ได้ แต่หากควบคุมได้เพียงร้อยละ 80 ของดินแดน ในปี 2568 ก็สามารถการจัดเลือกตั้งได้
ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับไทย ในกรณีที่เกิดการสู้รบในเมียนมา คือ ปัญหาอาชญากรรมข้ามพรมแดน (cross border crime ) และปัญหาผู้ลี้ภัย ที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น รวมทั้งปัญหากระสุนข้ามแดน การบินรุกล้ำน่านฟ้า ธุรกิจสีเทา การค้ามนุษย์ ตลาดยาเสพติด ซึ่งจะเข้ามาพร้อม ๆ กับผู้อพยพจำนวนมากที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น
แม้ในฝั่งเมียนมาจะมีการดักเก็บ"ก็อก" หรือค่าผ่านทางของกลุ่มชาติพันธุ์ด่านละ 1,000 บาท มากถึง 20-30 ด่าน หรือเหมาจ่ายด่านละ 1,000 บาท จะทำให้ต้นทุนการประกอบการสูงขึ้น แต่การค้าในอดีตก็ไม่เคยชะงัก ต่างจากปัจจุบันที่การค้าตกต่ำลงมาก
ดังจะเห็นได้ว่า ทั้งไทยและเมียนมา มีการทำการค้าตามแนวชายแดน ด้าน อ. แม่สอด-ไปย่างกุ้ง ขณะที่ไทยก็เข้าไปลงทุนในเมียนมาไม่น้อย และหลังจากเมียนมามีการบังคับให้เกณฑ์ทหารจะเห็นได้ว่า มีชาวเมียนมา อพยพเข้ามาอยูู่ในประเทศไทยจำนวนมาก มีตัวเลขระบุว่า ปัจจุบันมีชาวเมียนมาอาศัยในไทยกว่า 4 ล้านคน
“ผู้ที่ครอบครองคอนโดมีเนียม พบว่า ชาวเมียนมา เป็นอันดับ 2 รองจากชาวจีน ส่วนผู้ลี้ภัยการสู้รบบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาที่เข้ามาอยู่ในศูนย์ผู้ลี้ภัย 9 แห่ง ใน 4 จังหวัดของไทย คือ จ.ตาก , แม่ฮ่องสอน, กาญจนบุรี และราชบุรี ดังนั้นไทยต้องคิดว่า ในระยะยาวจะทำอย่างไร เพราะไม่รู้ว่า สงครามจะจบเมื่อไร และอาจต้องสร้างที่อยู่ถาวร ไม่ควรให้อยู่เพิงพัก มีงานให้ทำ หรือให้ออกไปทำงานข้างนอกเพื่อให้เขามีรายได้ รวมทั้ง จัดการดูแลเรื่องสุขภาพและการศึกษา”
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นหลาย ๆ อย่าง คือ ภาระรัฐบาลไทย ดังนั้นจะทำอย่างไร ต้องคิดเป็นระบบ และต้องผสานความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ในชาย แดน
จะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ไทยเป็นประเทศผู้สงเคราะห์ และมีบทบาทในการจัดการให้ความช่วยเหลือนานาชาติ โดยให้ประชาชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมบริการจัดการ ในฐานะเจ้าของพื้นที่
สำหรับข้อเสนอเพื่อพิจารณาในภูมิรัฐศาสตร์ นายสุภลักษณ์ เสนอ 3 แนวทาง คือ ทำอย่างไรกับจีนที่มีอิทธิพลมาก และจะดีลกับสหรัฐฯ อย่างไร และใช้ ASEAN แก้ไขปัญหาอย่างไรในการสร้างดุลยภาพ และไทยจะมีบทบาทนำอย่างไร การประชุมระหว่างไทยและประเทศอื่น ๆ ที่ติดกับเมียนมา หาทางออกอย่างไร เรามีปัญหาเดียวกับจีนในการรับผู้อพยพ และต้องทราบว่า ควรร่วมมือกับใครในทวิภาคี
โดยโอกาสทางยุทธศาสตร์ มี 2 ประเด็น ไทยจะวางตำแหน่งอย่างไร เป็นตัวกลางหรือไม่ในการสร้างสันติภาพ และจะสร้างเครือข่ายความมั่นคง ทางทหาร เศรษฐกิจ หรืออื่น ๆ อย่างไร
ส่วนข้อเสนอทางนโยบาย เนื่องจาก ไทยต้องข้องเกี่ยวกับทุกฝ่าย หากใกล้ SAC มากเกินไป อาจถูกมองว่าไม่ค่อยเป็นกลาง จึงต้องวางเป็นกลาง และต้องจัดวางความสัมพันธ์ในแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มว้าแดง จะข้องเกี่ยวอย่างไร หรือการพูดคุยกับ NUG เป้าหมายต้องชัด ปัญหาในเมียน มา มีความซับซ้อนต้องมีกระบวนการคัดเลือก คณะทำงานในการแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้ การจัดการชายแดน อยากเสนอให้มีการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพ ระบบโดรนและ AI ซึ่งกองทัพบกกำลังดำเนินการ เช่น ใช้โดรนลาดตระเวน รวมทั้งการมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม เช่น กองกำลังชายแดน เช่น ว้าแดง หรือการพูดคุยเรื่องการตรวจร่วมกันระหว่าง KNU , BGF โดยต้องสานสัมพันธ์และมีดีลกันให้ได้ เพื่อจัดการปัญหาอาชญากรรมข้ามพรมแดน
อ่านข่าว
"เมียนมา" ทางสองแพร่ง บทบาทไทยสร้าง "สันติภาพถาวร"
"โดรน" ยุทธภัณฑ์สงคราม เทคโนโลยีความมั่นคง "กองทัพไทย"
“ปานปรีย์” ชี้ ไทย-เมียนมา การทูต -ความมั่นคง แก้ปัญหา “ว้าแดง”
"โดรน" ยุทธภัณฑ์สงคราม เทคโนโลยีความมั่นคง "กองทัพไทย" |