อาวุธสังหารไฮเทคในโลกสมัยใหม่ ปัจจุบันไม่ได้มีแค่เครื่องยิงขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิคที่ใช้ยิงระยะไกล หรือระยะไกล้อีกต่อไปแล้ว ก่อนจะล้ำยุคก้าวเข้าสู่สงครามอวกาศ และความมั่นคงทางอวกาศ ยังมีการใช้ โดรน (DRONE) หรืออากาศยานไร้คนขับ รูปร่างคล้ายกับเครื่องบินขนาดเล็ก สามารถขึ้น-ลงในแนวตั้งได้ จากเดิมใช้งานทางด้านการทหาร ต่อมาได้กพัฒนามาใช้ในหลายรูปแบบ เช่น การนำโดรนมาติดกล้องเพื่อถ่ายภาพมุมสูง ตรวจสภาพจราจร เก็บข้อมูลภูมิศาสตร์ และอื่น ๆ
"โดรน" หรือ Unmanned Aerial Vehicle: UAV กลายเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ปฏิวัติวงการอากาศยาน มีการคาดการณ์ว่า โดรนอาจจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรบพุ่งทางอากาศ เนื่องจากสามารถลดความสูญเสียของกำลังพล ควบคุมระยะไกล และตั้งค่าระบบให้ขับเคลื่อนอัตโนมัติได้ (Auto Pilot)
The Wall Street Journal สื่อชื่อดังของสหรัฐอเมริกา เคยชี้ว่า การมาถึงของโดรน จะทำให้สนามสัประยุทธ์และภูมิรัฐศาสตร์ของโลกเปลี่ยนไปตลอดกาล
ขณะที่ ฟรานซิส ฟูกูยามา (Francis Fukuyama) นักรัฐศาสตร์อเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น ระบุว่า "การใช้โดรนกำลังปรับแปรธรรมชาติของอำนาจภาคพื้นดิน ดังนั้น จึงเป็นการบ่อนเซาะพลังอำนาจเชิงโครงสร้างไปในตัว"
แม้การใช้โดรนจะมีข้อได้เปรียบ แต่ข้อเท็จจริง ทุกครั้งที่เกิดภาวะสงครามกลับถูกใช้งานน้อยมาก หากเปรียบกับการใช้ยุทธวิธีทางการรบด้วยการส่งทหารราบหรือพลเดินเท้าเข้าประจำการในพื้นที่พร้อมฐานที่ตั้งอาวุธสงครามนานาชนิด
"บอลลูนทิ้งระเบิด" สู่ "อากาศยานไร้คนขับ"
หากย้อนรอยการสงครามตั้งแต่ปี 1849 พบว่า เมื่อครั้งจักรวรรดิออสเตรีย ทำสงครามกับสาธารณรัฐเวนิส ในขณะนั้นไม่สามารถตีฝ่าวงล้อมไปได้ กองทัพเรือจึงได้ส่งบอลลูนผูกติดไว้กับระเบิด ปล่อยออกมาจากเรือบรรทุกเครื่องบิน เพื่อโจมตีทางอากาศ
เนื่องจากบอลลูนทิ้งระเบิดมีอัตราแม่นยำและความสำเร็จต่ำ ดังนั้นได้เริ่มนำ "คลื่นวิทยุ" เข้ามาสั่งการการเคลื่อนไหวเพื่อกำหนดยุทธวิธีให้เป็นเนื้อเดียวกัน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ เมื่อปี 1917ของสหราชอาณาจักร
ต่อมา สหรัฐอเมริกาได้นำมาพัฒนาต่อในชื่อ Kettering Bug โดยการเพิ่ม ตอร์ปิโด ซึ่งเป็นอาวุธหนักในตอนนั้นเข้าสู่ตัวเครื่อง ให้อากาศยานไร้คนขับนี้เป็นดั่ง "มรณสักขี" พลีชีพตนเองเพื่อการโจมตีโดยที่ไม่ต้องมีผู้ขับให้เสียเลือดเสียเนื้อ
ในปี 1936-1937 ราชนาวีสหรัฐฯ ได้พัฒนา "DH.82B Queen Bee" อากาศยานไร้คนขับที่สามารถคุมต้นทุนให้ราคาถูก และใช้งานเพื่อการต่อต้านอากาศยานเป็นครั้งแรก ด้วยชื่อเรียกที่ยาวเกินไป ทหารเรือจึงตั้งชื่อเล่นให้ว่า "โดรน" ซึ่งหมายถึง "ผึ้งตัวผู้" และใช้มาจนถึงปัจจุบัน
การพัฒนาโดรนเพื่อนำมาใช้งานด้านต่าง ๆ จะต้องใช้งบประมาณมหาศาล ทำให้มีการจำกัดวงแคบ คือ ใช้เพื่อการฝึกทหารเท่านั้น โดยโดรนจะผลิตออกมาในรูปแบบเครื่องบินจำลอง ย่อขนาดลงมา แต่เครื่องยนต์ อากาศพลศาสตร์ หรือยุทธวิธี ยังคงเดิม เพื่อให้กำลังพลสามารถรับมือกับเหตุการณ์จริงได้
สงครามระหว่างสหรัฐอเมริกาและตะวันออกกลาง คือ จุดเริ่มต้นสำคัญ ทำให้มีการใช้โดรนทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม เนื่องจากภูมิรัฐศาสตร์ไม่เอื้อต่อการส่งทหารจำนวนมากเข้าบดขยี้
ช่วงสงครามยมกิปูร์ ที่อียิปต์และอิสราเอลรบกัน ในปี 1973 สหรัฐฯ ใช้งาน Ryan Firebee เพื่อรบกวนขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานของอียิปต์และซีเรีย กว่าจะใช้งานเป็นยุทธภัณฑ์อย่างจริงจัง ก็ล่วงมาถึงสงครามอ่าวเปอร์เซีย ในช่วงปี 1990 ที่รัฐอิสลาม เห็นประโยชน์ฝในการใช้โดรนโจมตีมากกว่าการทำ "ญิฮาด" ผูกระเบิดแสวงเครื่องติดตัวและพาศัตรูตายไปพร้อมกัน จึงทำให้สหรัฐฯ ต้องใช้ยุทธวิธีเดียวกันเพื่อตอบโต้
"โดรน" เครื่องมือกลยุทธ์ มากกว่า ยุทธภัณฑ์
แม้โดรนจะมีข้อได้เปรียบ ในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของกำลังพลให้ไม่ต้องไปเสี่ยงอันตรายหรือตายฟรี รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทุ่นแรงการโจมตีทางอากาศ แต่การใช้งานโดรนก็ยังจำเป็นต้องประสานงานร่วมกับ "อัตรากำลัง" ทางทหารอยู่เสมอ
งานวิจัย Why Drones Have Not Revolutionized War: The Enduring Hider-Finder Competition in Air Warfare ชี้ว่า ในสงคราม สิ่งสำคัญที่สุด คือ ยุทธวิธี "Hider-Finder" หรือกลยุทธ์สงครามต้องมีทั้ง "บู๊" และ "บุ๋น" การบู๊ คือ ตรวจจับได้ว่า เป้าหมายหรือศัตรูจะตั้งรับหรือรุกคืบฝ่ายเรา จะใช้สรรพาวุธแบบใด หรือจะใช้กลศึกแบบใด
ส่วนการบุ๋น คือ หากต่อกรไม่ได้ต้องหลบหลีกแบบใด หรือหากเทียบสมรรถภาพแล้วเป็นรอง จะหลบหลีกหรือสร้างความได้เปรียบทางยุทธวิธีแบบใด ตรงนี้ ปล่อยให้ระบบของโดรนทำงานโดยปราศจากผู้ควบคุมไม่ได้
ด้วยว่า เทคโนโลยีของโดรนในตอนนี้ ยังไม่สามารถที่จะตรวจจับและหลบหนีกได้ด้วยตนเอง ผลกระทบที่ตามมา คือ การระบุหรือประเมินกำลังศัตรูอย่างผิดพลาด ส่งผลให้โดรนตกเป็นเป้าหมายเสียเอง หรือไม่ก็ดำเนินการแบบ "โจ่งครึ่ม" ถูกสอยร่วงได้โดยง่าย และในทางกลับกัน ศัตรูจะสามารถแกะรอย ตามสืบ หรือดูดเทคโนโลยีจากการสอยโดรนของเราร่วงได้โดยง่าย เป็นการ "ยื่นดาบให้ศัตรู" อีกทอดหนึ่ง
โดยงานวิจัยนี้ ยกตัวอย่าง 3 สงครามที่มีการนำโดรนมาใช้ในการรบพุ่ง คือ สงครามกลางเมืองลิเบีย, สงครามกลางเมืองซีเรียม, และสงครามนากอร์โน-การาบัค หรือสงครามอาร์เมเนีย-อาเซอร์ไบจาน
ในสงครามกลางเมืองลิเบียและซีเรีย โดรนสามารถทำงานได้อย่างทรงประสิทธิภาพ เพราะใช้งานโดย "ฝ่ายรัฐบาล" ซึ่งมีสรรพกำลัง องค์ความรู้ หรือการวิจัยและพัฒนาโดรนที่มากกว่าฝ่ายต่อต้านอยู่เป็นทุนเดิม ในฐานะยุทธภัณฑ์สงครามแล้ว ถือว่าสอบตกอย่างมาก เพราะพันธกิจของการเป็นอาวุธ คือ การ "ทำให้เท่ากัน (Balancing)" ของทั้งสองฝ่าย เช่น การครอบครองหัวรบนิวเคลียร์ ทำให้ต่างฝ่ายต่างยำเกรงกันและกัน แม้อีกฝ่ายจะมีกำลังเหนือกว่ามาก
ส่วนสงครามนากอร์โน-การาบัคนั้น ฝ่ายอาเซอร์ไบจานไม่ได้มุ่งเน้นการป้องกันการโจมตีทางอากาศยาน แต่มีการใช้โดรนเพื่อต้องการสืบข่าวหรือล้วงความลับจากฝ่ายอาร์เมเนียเท่านั้น หรือก็คือ อาเซอร์ไบจานใช้โดรนเป็น "นกต่อ" เพื่อยั่วยุอาร์เมเนียให้งัดยุทโธปกรณ์ตอบโต้ระดับสูงมาใช้งาน ซึ่งวิธีการนี้เป็นเพียงการใช้โดรนในฐานะ "เครื่องมือเชิงกลยุทธ์" มากกว่าเป็นยุทธภัณฑ์
จากทั้งหมดทำให้เห็นได้ว่า ไม่มีสงครามใดเลยที่จะอาจหาญให้โดรนเป็นยุทธภัณฑ์ "หน้าด่าน" ในการรบพุ่งเพื่อเอาชนะ กลับกัน วิธีการทำสงครามแบบดั้งเดิม กลับเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น เพราะการเกณฑ์ทหารนั้น "ราคาถูก" กว่าการวิจัยและพัฒนาโดรนเป็นอย่างมาก เห็นได้จากอาเซอร์ไบจาน ที่ทุ่มงบประมาณด้านยุทธภัณฑ์ไปถึงหลัก 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่กลับขอรับความช่วยเหลือด้านโดรนมาจากตุรกี ไม่มีการลงทุนเองแต่อย่างใดในการใช้ทำสงครามกับอาร์เมเนีย
สงคราม "พันธมิตรร้อยคน" ดีกว่าอาวุธอันตรายชิ้นเดียว
แม้ว่าคุณภาพของผู้ใช้ยุทโธปกรณ์จะเป็นตัวแปรสำคัญในการทำสงคราม แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงไม่แพ้กัน คือ "การสร้างพันธมิตร" เพื่อเข้ามาช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ในสนามสัประยุทธ์
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แม้ประเทศใดประเทศหนึ่งจะมีพละกำลังหรือศักยภาพในการเอาชนะน้อยกว่าอีกประเทศหนึ่ง แต่หากประเทศเหล่านี้รวมตัวกันมาก ๆ อาจเป็นที่ยำเกรงของฝ่ายที่เหนือกว่าได้ เช่น การรวมกลุ่ม NATO ที่ทำให้มหาอำนาจรัสเซียนั้นถึงกับไม่มั่นคงทางทหาร และต้องเตรียมงบประมาณ เพื่อการป้องกันประเทศในระดับสูงแทนที่จะนำไปพัฒนาด้านอื่น ๆ ที่ได้เปรียบกว่า เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีหรือเซมิคอนดักเตอร์
ในเรื่องสงครามการค้าก็เป็นตรรกะเดียวกัน เพราะการมีพรรคพวกเยอะ หมายถึง การมีตลาดที่ใหญ่ขึ้น ส่งออกได้มากขึ้น ขายของได้ง่ายขึ้น ไม่มีกำแพงภาษี และจะเป็นการเตะตัดขา ลดตลาดของศัตรูลง ดังกลุ่ม BRICS ที่มีเป้าหมายในการขึ้นมาทาบรัศมีและลดทอนอำนาจทางการค้าของสหรัฐฯ
ประเด็นการใช้โดรนก็ไม่แตกต่างกัน ดังที่กล่าวถึงการรับความช่วยเหลือด้านอากาศยานไร้คนขับเพื่อการสงครามของอาเซอร์ไบจานมาจากตุรกี โดยที่ไม่ควักกระเป๋าวิจัยและพัฒนาด้วยตนเอง หรือกระทั่งสงครามกลางเมืองในตะวันออกกลางที่มีการใช้โดรน ส่วนมากแล้ว ก็เป็นสหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือทั้งสิ้น
จากสถิติของ Vision of Humanity ระบุว่า โดรนสำหรับการโจมตีทางอากาศมีการกระจายสู่กลุ่มต้อต้าน โดยเพิ่มขึ้นในอัตรามากกว่า 2 เท่าในปี 2023 จากแต่เดิมที่อยู่ในมือรัฐ ซึ่งสหรัฐฯ ครอบครองมากที่สุดด้วยอัตราการจัดซื้อจำนวน 1,000 ในแต่ละปี (คาดการณ์จนถึงปี 2028) เหนือกว่า รัสเซีย หรือจีน ที่เป็นมหาอำนาจกว่า 15-20 เท่า
หมายความว่า ประเทศที่ครอบครองโดรนจำนวนมาก ยังมีการผ่องถ่ายโดรนในฐานะ "ความช่วยเหลือทางทหาร" สร้างพันธมิตรและแนวร่วมในการสงคราม ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ถือเป็น "ของรางวัล" มากกว่าที่จะเป็นอาวุธเสียอีก ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ขนาดผู้ถือครองยังไม่ใช้ นำไปให้ประเทศอื่น ๆ ใช้ ต้องมีลับลมคมในอะไรบางอย่างไม่มากก็น้อย
ข้อมูลจาก MarketsAndMarkets พบว่า ปี 2024 มีอัตราการจัดซื้อโดรนทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 จากปี 2023 สอดคล้องกับ Statista ที่เสนอว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถือว่ามากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ ในอัตราร้อยละ 13.5 ด้วยจำนวนเม็ดเงินสะพัดกว่า 540 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สงครามร่มเกล้า -สมุดปกขาวกองทัพอากาศไทย
สำหรับประเทศไทย มีการนำโดรนมาใช้ในการทหารครั้งแรกในปี 1988 โดยนำเข้า R4D SkyEye จำนวน 7 ลำที่กองบิน 4 ตาคลี เพื่อใช้ในสงครามร่มเกล้า แต่โดรนรุ่นนี้ประสิทธิภาพต่ำ ไม่เหมาะกับการสงคราม กองทัพไทยจึงไม่ได้ให้ความสำคัญอีกเลย นานกว่า 20 ปี
ต่อมาในปี 2004 ที่กองทัพไทยเล็งเห็นความสำคัญของโดรน จากสงครามการสู้รบในต่างประเทศ จึงทำให้เกิดโครงการ วิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้นักบิน (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) ของกองทัพบก ตั้งแต่ ปี 2005 -2007 โดยสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม (สวพ.กห.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นผู้สนับสนุนโครงการด้วยงบประมาณกว่า 90 ล้านบาท
ที่มา: Royal Thai Air Force
ส่วนกองทัพเรือ มีโครงการวิจัยอากาศยานไร้นักบิน ขึ้นลงทางดิ่ง ซึ่งเป็นโครงการวิจัยร่วม 4 ฝ่าย ระหว่าง กองทัพเรือ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) บริษัทเสรีสรรพกิจ จำกัด และ บริษัทกษมาเฮลิคอปเตอร์ จำกัด เพื่อนำไปใช้กับเรือรบ เพิ่มขีดความสามารถในการตรวจการณ์ทางทะเล
สำหรับไทย แม้จะมีการจัดซื้อโดรนจำนวนเพียง 407 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลำดับที่ 20 ของเอเชีย เทียบไม่ได้กับ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือแม้แต่อินโดนีเซียที่จัดซื้อหลัก 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลจากสมุดปกขาวของกองทัพไทย ปี 2567 เปิดเผยยุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินงาน โดยให้ความสำคัญกับเรื่องโดรนเป็นลำดับต้น ๆ โดยมีทั้งหมด 9 โครงการสำคัญ ๆ เช่น
- โครงการวิจัยและพัฒนา M Solar-x สำหรับภารกิจป้องกันฐานบิน
- โครงการวิจัยและพัฒนาระบบอากาศยานไร้คนขับเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ
- โครงการจัดหาระบบอากาศยานไร้คนขับติดอาวุธขนาดกลาง
- โครงการปรับปรุงขีดความสามารถระบบอากาศยานไร้คนขับ (SATCOM)
- โครงการวิจัยและพัฒนาระบบอากาศยานไร้คนขับเพดานบินสูงเสมือนดาวเทียม
- โครงการวิจัยและพัฒนา Swarm UAV : Common Micro/Nano UAS
- โครงการวิจัยและพัฒนาระบบอากาศยานไร้คนขับระดับยุทธวิธี
- โครงการวิจัยและพัฒนาระบบอากาศยานไร้คนขับแบบ MUM-T
- โครงการจัดหาระบบอากาศยานไร้คนขับติดอาวุธระดับยุทธวิธี
ที่มา: Royal Thai Air Force
โดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566-2568 และปี 2568-2571 และบางโครงการ เช่น การขีดความสามารถอากาศยานไร้คนขับพลีชีพ (Kamikaze Drone) มีการศึกษาวิจัย 2570-2575
สำหรับกองทัพอากาศไทย ที่เตรียมปรับเปลี่ยนชื่อเป็นกองทัพอากาศและอวกาศ รวมทั้งมีการเตรียมยกร่างแผนพ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางอากาศและอวกาศ...ก่อนหน้านี้ เคยมีการปล่อยดาวเทียมนภา 1 และนภา 2 พร้อมทั้งเตรียมปล่อย นภา 3 และ 4 ภายในปี 2568 นี้
ขณะที่ข้อมูลสมุดปกขาวกองทัพบก ปี 2567 ให้ความสำคัญในลักษณะ "เชิงรับ" โดยระบุไว้ในแนวทางเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพบก ข้อย่อย 4.2 ว่า "การเสริมสร้างขีดความสามารถในระบบการป้องกันภัยทางอากาศ : ระบบป้องกันภัยทางอากาศ (อาวุธนำวิถี) ระบบป้องกันและต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (Anti - Drone) ระบบควบคุมสั่งการอาวุธป้องกันภัยทางอากาศ ระบบเรดาร์แจ้งเตือน และอื่น ๆ
ที่มา: Royal Thai Air Force
นอกจากนี้ยังระบุในปี 2568-2580 กองทัพบกจะเน้นใช้ AI ในการสร้างขีดความสามารถด้านยุทธโธปกรณ์และการต่อต้านข่าวกรองอีกด้วย
หากมองด้านภารกิจและความมั่นคงของแต่ละกองทัพ แม้ใช้ปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก เนื้อหาจากสมุดปกขาวกองทัพอากาศระบุชัดเพื่อให้มีความได้เปรียบในเชิงยุทธภัณฑ์ ขณะกองทัพบกเน้นใช้ในเชิงกลยุทธ์เพื่อการตั้งรับ จึงต้องจับตาว่า ท่ามกลางวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ ไทยในฐานะประเทศเล็ก ๆ จะตั้งรับอย่างไร
แหล่งอ้างอิง
Why Drones Have Not Revolutionized War: The Enduring Hider-Finder Competition in Air Warfare, สมุดปกขาวกองทัพบก พ.ศ. ๒๕๖๗, สมุดปกขาว กองทัพอากาศ พ.ศ. ๒๕๖๗, ส.ท.ป., Vision of Humanity, MarketsAndMarkets, Statista
อ่านข่าว
กองทัพ ความมั่นคงอวกาศ-เศรษฐกิจอวกาศ ไทยไม่ตกเทรนด์โลก
"จิตวิทยา AI" อัจฉริยะเทคโนโลยี จำลองตัวเอง "ที่ปรึกษา" วัยชรา
“นิวเคลียร์” ขับเคลื่อน AI พัฒนาเทคโนโลยียั่งยืน "บนทางคู่ขนาน"